‘พระมหาชนก’ เรียงร้อยเรื่องราวความเพียร จากพ่อของแผ่นดิน สู่คนไทยทุกคน

พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก มีโครงเรื่องมาจาก อรรถกถา มหาชนกชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เป็นเรื่องว่าด้วยประวัติพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็น พระมหาชนก เพื่อบำเพ็ญวิริยะบารมี ที่มาของพระราชนิพนธ์ เกิดจากการที่ในหลวง ร.9 ได้ทรงรับฟังพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสาโรมหาเถร) วัดราชผาติการาม เมื่อปี พ.ศ. 2520

มหาชนกชาดก เป็นพุทธประวัติที่มีเนื้อเรื่องเล่าถึงการเดินทางด้วยเรือสินค้าเดินสมุทรของ พระมหาขนก จากเมืองจัมปากะไปเมืองมิถิลา ระหว่างทางเกิดอุติเหตุทำให้เรือล่ม ผู้โดยสารในเรือต่างมีความประหม่าตกใจ เมื่อเรือจมจึงไม่มีใครรอดชีวิต ยกเว้นพระมหาชนกที่ครองสติสัมปชัญญะเอาไว้ได้ ก่อนที่เรือจะอับปางได้เสวยอาหารจนอิ่ม ทรงนำผ้าชุบน้ำมันจนชุ่ม และนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา แล้วว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรนานถึง 7 วัน 7 คืน กระทั่งได้พบกับนางมณีเมขลา ซึ่งเป็นตอนที่สะท้อนให้เห็นถึงการยึดมั่นในความเพียรของพระมหาชนก

ในคืนวันที่ 7 นางมณีเมขลาเทวดาซึ่งมีหน้าที่ดูแลมหาสมุทร เห็นพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำอยู่ จึงกล่าวขึ้นว่า “ใครหนอ พยายามว่ายน้ำในมหาสมุทรอันแลไม่เห็นฝั่งอยู่เช่นนี้ ท่านเห็นประโยชน์อะไร จึงได้พยายามว่ายอยู่อย่างนี้”

พระมหาชนกตอบว่า “ดูกรเทพธิดา เราได้พิจารณาเห็นธรรมเนียมของโลก และผลของความพยายาม จึงได้พยายามว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรอันแลไม่เห็นฝั่งนี้”

นางมณีเมขลาถามอีกว่า “ฝั่งของมหาสมุทรไม่ปรากฏแก่ท่าน ถึงท่านจะพยายามว่ายน้ำไป ก็จะต้องตายเสียก่อนที่จะถึงฝั่งแน่แท้”

พระมหาชนกตอบว่า “ดูกรเทพธิดา เมื่อบุคคลทำความเพียรอยู่ ถึงจะตายไปก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นที่ติเตียนของบิดามารดาวงศาคณาญาติตลอดถึงเทพยดาทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เมื่อบุคคลตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถแล้ว ย่อมจะไม่เสียใจภายหลัง

นางมณีเมขลากล่าวว่า “การพยายามทำงานอันใดแล้วยังไม่สำเร็จ แต่เกิดอุปสรรคถึงกับเสียชีวิตไปก่อน ก็ไม่ควรทำความพยายามนั้นเลย เพราะความพยายามที่ทำมาทั้งหมดสูญเปล่า”

พระมหาชนกตอบว่า “ผู้ใดรู้ว่าการงานที่ทำไปจะไม่สำเร็จ แล้วไม่รีบหาทางป้องกันภัยอันตราย บุคคลนั้นชื่อว่าไม่รักษาชีวิตตน ถ้าบุคคลนั้นละความเพียรเสีย ก็จะได้รับผลแห่งความเกียจคร้านของตน บางคนได้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน แล้วตั้งใจทำงาน ถึงการงานจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เห็นผลงานประจักษ์แก่ตน ท่านจงดูคนทั้งหลายที่มาในสำเภาเดียวกับเราเถิด คนพวกนั้นพากันย่อท้อต่ออันตราย ไม่พยายามว่ายน้ำจนสุดความสามารถก่อน จึงพากันจมน้ำตายในมหาสมุทรทั้งสิ้น เหลือแต่เราผู้เดียวที่สู้ทนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ถึง 7 วันเข้าแล้ว บัดนี้ เราได้เห็นผลของความเพียรนั้นแล้ว คือเราได้เห็นท่านซึ่งเป็นเทวดาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ท่านจะมาบอกว่าความพยายามของเราสูญเปล่าได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น เราจักพยายามว่ายน้ำอีกต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรให้จงได้

ในหลวง ร.9 ทรงพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนในปี พ.ศ. 2539 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี

พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ยังสะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมายาวนานกว่า 50 ปี เปรียบเทียบเหมือนพระมหาชนกที่ว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน ทั้งที่มองไม่เห็นฝั่ง ก็เหมือนกับที่ในหลวง ร.9 ทรงงานตลอดมาด้วยความตั้งใจ และไม่คำนึงถึงความยากลำบาก เพื่อให้ประชาชนมีความผาสุกอยู่ดีกินดี ทั้งที่ไม่อาจจะรู้ได้ว่าต้องทรงงานต่อไปอีกนานเท่าใด จึงจะประสบผลสำเร็จ ดังเช่นคำตอบที่พระมหาชนกกล่าวกับนางมณีเมขลาไว้ว่า “เราจักพยายามว่ายน้ำอีกต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรให้จงได้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลวง ร.9 ทรงพระประชวรด้วยอาการหลอดเลือดพระหทัยตีบ เมื่อปี พ.ศ. 2538 ทำให้ต้องทรงเข้ารับการรักษาถึง 2 ครั้ง ในปีเดียว คือในช่วงปลายเดือนมีนาคม และช่วงเดือนกันยายน สาเหตุของโรคมาจากไวรัสไมโคพลาสมา ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ทรงได้รับเชื้อมาจากระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินในท้องถิ่นทุรกันดารอย่างยาวนานกว่า 50 ปี จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อพระพลานามัย

แม้ขณะที่ทรงประชวรหนัก ในหลวง ร.9 ก็ยังคงห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่เสมอ ตอนที่ทรงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น ระหว่างที่ทรงพระดำเนินออกกำลังพระวรกาย พระองค์ได้ทอดพระเนตรการจราจรบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า แล้วได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสเรื่องโครงการบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพและปริมณฑล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะโครงการจตุรทิศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างถนนสายหลักพาดผ่านกรุงเทพมหานครทั้ง 4 ทิศ

แล้วต่อจากนั้นยังมีพระราชดำรัสถามเจ้าหน้าที่ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม ถึงสภาพน้ำโดยทั่วไปในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เพื่อประกอบการวางแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ตลอดจนแผนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานครสู่ทะเลโดยเร็ว

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา แม้ว่าพระอาการประชวร จะทำให้ในหลวง ร.9 ไม่สามารถทรงงานหนักได้อีก ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนได้เหมือนในอดีต แต่พระองค์ก็ยังทรงงานด้วยการพระราชทานพระราชดำริต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ไม่เคยหยุด เพราะทรงตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของพระราชาที่มีต่อพสกนิกร พระองค์ทรงบำเพ็ญวิริยภาพพากเพียร ดังเช่นพระมหาชนกที่พยายามว่ายน้ำต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร

พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก เป็นวรรณกรรมที่ทำยอดพิมพ์และยอดจำหน่ายถึง 600,000 เล่ม สร้างยอดขายเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ต่อมา พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ในราคาย่อมเยาและปรับเนื้อหาให้อ่านง่ายขึ้น ได้พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสเฉลิมชนมพรรษาครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ในปี พ.ศ. 2542 มียอดจำหน่าย 3,000,000 เล่ม และต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้จัดให้มีการพิมพ์ พระมหาชนก ฉบับการ์ตูนสี่สี และทำยอดขายได้ 266,000 เล่ม

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน พระราชนิพนธ์พระมหาชนก ทั้ง 3 รูปแบบ ได้มีการจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายแล้วเกือบ 4 ล้านเล่ม มูลค่านับพันล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าเลยทีเดียว

อ่านบทความ “พระมหาชนก” EP.2 : ความผาสุกของชาวไทย ปณิธานของรัชกาลที่ 10 สืบสานจาก’พระมหาชนก’

อ้างอิง :

[1] ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2560. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 16 ข หน้าที่ 642 วันที่ 6 มิถุนายน 2561
[2] ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2563. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 138 ตอนที่ 28 ข หน้าที่ 128 วันที่ 7 พฤษภาคม 2564
[3] ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2538. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 80 ง หน้าที่ 199 วันที่ 5 พฤษภาคม 2538

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า