‘พระพุทธนวราชบพิตร’ สำนึกแห่งความสามัคคี จากพระหัตถ์ในหลวง ส่งมอบสู่คนไทยทั้งประเทศ

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธรูปพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธนวราชบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงตรวจพระพุทธลักษณะด้วยพระองค์เองจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าให้เททองหล่อพระพุทธรูป

โดยพระราชทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุพระพิมพ์ (พระสมเด็จจิตรลดา) และฐานของพระพุทธนวราชบพิตรมีข้อความจารึกเป็นภาษาบาลีว่า “ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ” แปลว่า “คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี”

สำหรับจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ก็คือจังหวัดหนองคาย ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2510 โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชดำรัสมีใจความตอนหนึ่งว่า …

“… ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบไว้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่ฐานบัวหงายข้าพเจ้าได้บรรจุพระพิมพ์องค์หนึ่ง ซึ่งทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ อันได้มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร …

… พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง …

… ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่จังหวัดต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ถึง 20 จังหวัด ระหว่างปี พ.ศ. 2509 – 2525 โดยลำดับจังหวัดดังนี้ หนองคาย อุดรธานี แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ ยะลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี สระบุรี น่าน อุทัยธานี เลย สุรินทร์ พัทลุง บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร

และตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร โดย 4 จังหวัดล่าสุด ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2555 คือ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู สระแก้ว และจังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ได้รับพระราชทานจังหวัดที่ 77

สำหรับ “พระสมเด็จจิตรลดา” เป็นพระพิมพ์ที่ฐานพระพุทธนวราชบพิตร หรือในอีกชื่อหนึ่ง ก็คือ “พระกำลังแผ่นดิน” เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี 2 ขนาดพิมพ์ คือ

  • พิมพ์ใหญ่ กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร
  • พิมพ์เล็ก กว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร

พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง 9 กลีบ และเกสรดอกบัว 9 จุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร แต่ต่างกันที่ พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2508 – 2513 โดยได้พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง และมีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยพระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์ใหญ่ มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์ ส่วนพระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็ก มีจำนวน 40 องค์ โดยสี่องค์แรก พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสี่พระองค์

และทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า “ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมา แล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ”

และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “พระพลังแผ่นดิน” ซึ่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ที่ปรึกษา และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ได้เข้ารับพระราชทานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และพระฉายาลักษณ์

พระพลังแผ่นดิน เป็นพระพิมพ์ผงในลักษณะเดียวกับพระสมเด็จจิตรลดา (หรือพระกำลังแผ่นดิน) แต่จัดสร้างโดยชมรมรวมพลังแผ่นดิน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชบริพารในพระองค์ และพสกนิกร ตามพระราชอัธยาศัย

โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัยพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ณ มณฑลพิธี พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีจำนวนจัดสร้าง 1 ล้านองค์

พระพลังแผ่นดิน เป็นพระพิมพ์ผงซึ่งมีพุทธลักษณะที่ใกล้เคียงกับพระกำลังแผ่นดิน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป คือ ด้านหน้า เป็นพระศรีศากยสิงห์ หรือพระศรีอริยเมตไตรยเข้าสู่ยุคกึ่งพุทธกาล และมีนาคพันหน้าอก หมายถึง ทรงโปรดทั้งสามภพ ส่วนด้านหลัง เลข 9 หมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เลข 10 หมายถึง พระทศพลญาณ รูปจักร หมายถึง สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์จักรี และรูปพญาครุฑ หมายถึง ครุฑ ที่ดูแล ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น เป็นสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน

ทั้งหมดนี้คือประวัติความเป็นมาของ พระพุทธนวราชบพิตร พระสมเด็จจิตรลดา และพระพลังแผ่นดิน อันเป็นเสมือนตัวแทนของความสมานสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบร่มเย็น ทั้งยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรม และความมุ่งมั่นในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 มาจวบจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] (2515). พระพุทธนวราชบพิตร และ, พระราชดำรัสในพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดต่าง ๆ ปี 2510-2514. บางแคโฟโต้การพิมพ์.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า