‘ฝนหลวง’ จากพระราชาเพื่อประชาชน

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรน้ำในการเพาะปลูกแทบทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือน้ำฝน ย้อนกลับไปกว่า 60 ปีที่แล้ว หลายพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสานประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำทั้งการอุปโภคบริโภค และการเกษตร เมื่อไหร่ที่ฝนทิ้งช่วง ถือเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของเกษตรกรทั้งหลาย เพราะนั่นหมายถึงผลผลิตที่ตกต่ำ หรืออย่างเลวร้ายคือไม่มีผลผลิตให้เลย

ในปี พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคอีสานย่านบริเวณเทือกเขาภูพาน จนได้พบกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนักและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีฝนตกน้อยหรือไม่ตกเลย เป็นความแห้งแล้งที่เกิดจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ในตอนนั้นเอง ในหลวง ร.9 ได้ทอดพระเนตรบนท้องฟ้า และทรงสังเกตว่ามีปริมาณเมฆปกคลุมเหนือพื้นที่เป็นจำนวนมากแต่ไม่สามารถรวมตัวจนเกิดเป็นฝนได้ กระทั่งมีพระราชดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “โครงการฝนหลวง” เพื่อประชาชน

หากพูดถึงต้นกำเนิด ฝนเทียมถูกคิดค้นโดยนักประดิษฐ์ชาวต่างชาติ ในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งวิธีการนั้นก็ยังไม่ได้ผลที่ดีนัก แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพและคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ของในหลวง ร.9 พระองค์ทรงลงมือและค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนประสบความสำเร็จในการทดลองสร้างฝนเทียมเป็นครั้งแรก ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาพระองค์ได้ทรงค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ท่านได้พระราชทานคำแนะนำ ปรับปรุงวิธีการหลาย ๆ อย่าง และติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน บางครั้งทรงควบคุมการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เองเลยทีเดียว

จากความพยายามและการทรงงานอย่างยาวนาน ในที่สุดโครงการฝนหลวงก็ประสบความสำเร็จตามพระราชประสงค์ พระองค์ทรงคิดค้นเทคนิคการทำฝนเทียมเป็นแบบฉบับเฉพาะของพระองค์เอง ที่เรียกว่า เทคนิคซูเปอร์แซนวิช “Super Sandwich” ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าของต่างชาติ ชนิดที่หลาย ๆ ประเทศให้การยอมรับ และยึดถือว่าการทำฝนเทียมแบบซูเปอร์แซนวิชนั้น คือการทำฝนเทียมที่ดีที่สุดในโลก

เทคนิคการทำฝนเทียมของในหลวง ร.9 ได้รับการจดสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5 ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับขององค์กรและสถาบันอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก รวมถึงได้ร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการ Brussels Eureka 2001 ด้วย และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 พระองค์ท่านได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร “ฝนหลวง” โดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) หมายเลข EP1491088 อีกทั้งสิทธิบัตรในฮ่องกงและของประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ที่ผ่านมาโครงการฝนหลวงนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับชาวบ้านเกษตรกรทั้งหลายแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในช่วงวิกฤติขาดแคลนน้ำ เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถจัดเก็บน้ำจากฝนหลวงนับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2536 ถึง 28 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติงานฝนหลวงในปีนั้นได้ถึง 4,204.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ก่อนทำฝนหลวงมีน้ำเหลือเพียง 3,497.79 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ 2536 ฝนหลวงสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ถึง 5,274.63 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่ปริมาณน้ำก่อนปฏิบัติการฝนหลวงเหลือเพียง 4,037.30 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากวันแรกที่ในหลวง ร.9 ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากของประชาชน พระองค์ทรงคิดค้นทดลอง ด้วยความอดทน มานะบากบั่น ด้วยพระวิริยะอุตสาหะจนโครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดนี้พระองค์ไม่มีความจำเป็นต้องลงมาทำด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ…แต่พระองค์ทรงทำ ทำในสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นได้ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์พ้นจากความทุกข์ยากลำบาก ดังเช่นพระราชดำรัสของพระองค์เมื่อครั้งแรกเริ่มในการทำฝนเทียมว่า…

“ทำฝนนี้ ทำสำหรับชาวบ้าน สำหรับประชาชน ไม่ใช่ทำสำหรับพระเจ้าอยู่หัว”