‘ปัตตานี’ ไม่ใช่ ‘ลังกาสุกะ’ คำยืนยันจากหลักฐานเก่าแก่แห่งพื้นถิ่น ลบล้างความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อกันมา

บทความโดย โดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ที่ผ่านมามีงานวิชาการส่วนมากทั้งภาษาไทยและมลายู (เฉพาะมลายู 3 จังหวัด) มักอ้างว่าอาณาจักรลังกาสุกะ  (Langkasuka) ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่โบราณในตำนานตั้งอยู่ใน“ปัตตานี” โดยการอ้างไปถึงความเกี่ยวข้องกับ “อาณาจักรหลั่งยะสิ่ว” ที่ปรากฏในเอกสารของจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-8 ว่าคือเมืองเดียวกับลังกาสุกะ

ส่งผลให้หนังสือหลายเล่มถึงกับยืนยันเป็นหนักแน่นและผลิตซ้ำความคิดว่า “เมืองลังกาสุกะได้พัฒนาต่อมาจนเป็นเมืองปัตตานี” ซึ่งหมายความว่า “ปัตตานี” (ปตานี) เป็นรัฐสืบทอดมาจาก “ลังกาสุกะ”

ผู้เขียนเองเคยเชื่อในความคิดเช่นนี้มาก่อน แต่เมื่อได้อ่านเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์มากขึ้น คำถามก็เกิดขึ้นในหัวว่า ที่เราเชื่อกันมาเช่นนี้มันจริงหรือไม่ ?

และเมื่อกลับไปค้นถึงเอกสารชั้นต้นหรือหลักฐานใดๆ ที่จะพอนำมาสนับสนุนแนวคิดว่า “ปัตตานี  (ปตานี) คือ ลังกาสุกะ” นั้น ผู้เขียนกลับพบแต่ความว่างเปล่า เนื่องจากจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการพบเอกสารโบราณหรือพงศาวดารใดๆ ที่จะใช้เป็นหลักฐานว่า ปัตตานีเป็นเมืองที่สืบทอดมาจากลังกาสุกะในสมัยโบราณอย่างที่เชื่อๆ กัน

เว้นเสียแต่ “ความเห็นส่วนบุคคล” ของนักวิชาการทั้งไทย มลายู และฝรั่งบางท่านที่ “เชื่อ” ในทฤษฎีนี้ผ่านการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางภูมิศาสตร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การสำรวจลักษณะชายฝั่งทะเลระหว่างรัฐเคดาห์และปัตตานีเพื่อสันนิษฐานความน่าจะเป็นของที่ตั้งเมืองในช่วงต้นๆ พ.ศ. 2500 นี่เอง

อย่างไรก็ดี นักวิชาการเหล่านี้กลับโยนทิ้งหลักฐานร่วมสมัยอันเป็นปากคำหรือเอกสารชั้นต้นของ “ที่ตั้งอันแท้จริง” ของ “ลังกาสุกะ” ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่าหลายร้อยปีเหล่านั้น กลับชี้ไปยัง “เคดาห์” หรือ รัฐไทรบุรีในปัจจุบัน ว่าเป็นที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะ

ในการนี้ ผู้เขียนจึงขอยกเอกสาร “ชั้นต้น” ได้แก่ “ฮิกายัตปัตตานี – Hikayat Patani” (พงศาวดารฉบับราชสำนักปัตตานี) “ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ – Hikayat Merong Mahawangsa” (พงศาวดารเมืองไทรบุรี-เคดาห์) และ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต มา “ตีแผ่” ให้เห็นว่า เอกสารชั้นต้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ที่ตั้ง” ของลังกาสุกะไว้ว่าอยู่ที่ใดกันแน่

เริ่มต้นที่ “ฮิกายัตปัตตานี” อันเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ปัตตานี (ปตานี) ผู้เขียนพบว่าตลอดทุกหน้าของเอกสารไม่มีการพูดถึง “ลังกาสุกะ” เลยสักประโยค อีกทั้ง“ฮิกายัตปัตตานี” ได้ยืนยันว่า “ปัตตานี” (ปตานี) เป็นรัฐสืบทอดมาจาก “เมืองโกตามหลิฆัย” ดังนั้น ในจิตสำนึกของราชสำนักปัตตานีโบราณจึงไม่มี “ลังกาสุกะ” อยู่เลย

กลับกัน เมื่อผู้เขียนได้อ่าน ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ ของราชสำนักเคดาห์ (ไทรบุรี) แม้จะเขียนขึ้นหลังฮิกายัตปัตตานี แต่ราชสำนักเคดาห์กลับระบุถึงการที่เมืองเคดาห์ของพวกเขาได้รับการสืบทอดมาจาก “ลังกาสุกะ” (พงศาวดารไทรบุรี ฉบับแปลไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เรียก ลังกาซูก) และเมือง “ลังกาสุกะ” นี้ เอกสารชิ้นนี้ได้ระบุว่ามีที่ตั้งอยู่ ณ กัวลามูดา (เขตแม่น้ำปตานี – Sugai Petani ในรัฐเคดาห์ปัจจุบัน)

มาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ขณะที่ปัตตานีไม่ได้อ้างถึง “ลังกาสุกะ” แต่เคดาห์กลับอ้างถึง อีกทั้งยังได้ระบุถึงจุดตั้งเมืองด้วยว่าอยู่ในเขตกัวลามูดา

และเอกสารชิ้นสุดท้ายที่จะคลี่คลายปมทุกอย่าง เป็นเอกสารที่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสยาม/ไทย ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยชาวฮอลันดา นามว่า “วัน วลิต” หรือ “เยเรเมียส ฟาน ฟลีต” (Jeremais van Vliet) เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า …

… ขบวนเรือของเจ้าอู่มาถึงปัตตานีโดยบังเอิญ พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารก็ขึ้นบกที่นั่น แต่เมื่อพระองค์ทรงพบว่าปัตตานีเป็นเมืองที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นแล้ว พระองค์จึงไม่ต้องการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปัตตานีอีก เสด็จลงเรือเดินทางเลียบชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดิน จนถึง Oulou Van Ptanij พระองค์ได้สร้างเมือง Langh Saca ขึ้นที่นั่น …

ข้อความดังกล่าวแม้จะดูเกินจริงไปมากเรื่องที่พระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้างเมือง Langh Saca  หรือ ลังกาสุกะ อีกทั้งการระบุว่ามีเมืองปัตตานี (ปตานี) มาก่อนแล้วก่อนที่จะมีลังกาสุกะ(อันนี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง) แต่ในสำนึกหรือความรู้ที่ วัน วลิต มีอยู่นั้น เขาเข้าใจว่า “ลังกาสุกะ” กับ “ปัตตานี” เป็นคนละเมืองกัน (เพราะถูกสร้างไม่พร้อมกัน) อีกทั้งข้อความที่ระบุว่า“พระเจ้าอู่เสด็จลงเรือเดินทางเลียบชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดิน จนถึง Oulou Van Ptanij” น่าสนใจว่า Oulou Van Ptanij ก็คือ Hulu Ptani ซึ่ง hulu แปลว่า ต้นน้ำ (upstream) อันไปพ้องต้องกับข้อมูลที่ปรากฏในฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ ของราชสำนักเคดาห์ ว่า ลังกาสุกะตั้งอยู่ ณ กัวลามูดา ซึ่งก็คือ เขตแม่น้ำปตานี – Sugai Petani ในรัฐเคดาห์ปัจจุบัน (sugai มีความหมายว่า แม่น้ำ ในลักษณะเดียวกับ hulu)

ดังนั้น เมื่อเอกสารปัตตานี “ไม่กล่าวถึง” แต่กลับเป็นทางเคดาห์เองและ วัน วลิต ที่กล่าวถึงว่า ลังกาสุกะตั้งอยู่ในเขตเคดาห์ การนี้คงจะเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า “ลังกาสุกะ” ตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ หากเราเคร่งครัดตามกระบวนการด้านประวัติศาสตร์

อย่างไรเสีย แม้จะมีผู้เห็นแย้งว่า ลังกาสุกะ กับ เคดาห์ น่าจะเป็นคนละเมืองกัน เพราะมีการพบบันทึกนครกฤตาคม (Nagarakertagama) ซึ่งแสดงหลักฐานว่า ในสมัยมัชปาหิตหรือชวาโบราณมีการกล่าวถึงชื่อเมืองลังกาสุกะและเคดาห์ในบันทึกเอกสารเดียวกัน ดังนั้น ทั้ง 2 แห่งน่าจะเป็นคนละเมืองกันอย่างไม่มีปัญหา

แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอเห็นแย้งวิธีวิทยาในการใช้เอกสารที่มีการบันทึกชื่อเมืองทั้ง 2 แห่งนี้ มายืนยันทฤษฎีที่ว่า “ลังกาสุกะกับเคดาห์เป็นคนละเมืองกัน” เพราะดูเหมือนเป็นการด่วนสรุปเกินไป อีกทั้งยังเป็นการละเลย “ปากคำ” ที่เก่าแก่ที่สุดว่า “ลังกาสุกะตั้งอยู่ในเคดาห์” ซึ่งปรากฏอยู่ในทั้ง ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ (ต้นรัตนโกสินทร์) และ งานเขียนของ วัน วลิต (อยุธยา) ทั้งยังถูกเขียนขึ้นในช่วงหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ด้วย (งานเขียนในยุคจารีตทั้ง 2 ชิ้น ปราศจากอคติในแนวคิดชาตินิยมใดๆ เพราะยังเป็นการจดบันทึกในยุคโบราณ)

และในความเป็นจริงแล้ว เอกสารประเภทพงศาวดารหรือบันทึกหลายชิ้นก็มีการกล่าวถึงชื่อ “เมืองเก่า A” และ “เมือง B” พร้อมๆ กันในเอกสารชุดเดียวกัน ซึ่งเมือง A แท้จริงก็คือ เมือง B แต่หากเปลี่ยนชื่อหรือย้ายทำเลใหม่ ทำให้ปรากฏเป็นอีกชื่อหนึ่งแทน กรณีนี้ทำให้นักเดินทางหรือนักการทูตในสมัยโบราณไม่เข้าใจ จึงคิดเอาว่าเป็นคนละเมืองกันก็ได้

อีกทั้งสถานะการดำรงอยู่ร่วมกัน (co-exist) ของเมืองทั้ง 2 ในห้วงเวลานั้นๆ ก็ไม่สามารถตัดสินได้จากบันทึกโบราณ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว การบันทึกในยุคโบราณก่อนยุคล่าอาณานิคม มักเป็นการจดบันทึกจากการได้ยินได้ฟังมาจากบุคคลอื่นๆ อีกที บางครั้งเมืองๆ หนึ่งอาจดับสูญ หรือล่มสลายไปแล้วก็ได้ แต่กลับยังคงปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบเมืองเช่นเดิมก็มี

ดังนั้น การโต้แย้งว่า ลังกาสุกะ กับ เคดาห์ น่าจะเป็นคนละเมืองกัน เพราะบันทึกนครกฤตาคม กล่าวถึงว่าเป็นคนละเมืองกัน จึงเป็นข้อโต้แย้งที่ยังฟังไม่ขึ้น และถึงแม้เราจะตั้งสมมติฐานเล่นๆ ว่า ลังกาสุกะ กับ เคดาห์ จะเป็นคนละเมืองกันจริง แต่ก็ไม่มีตรรกะ (logic) หรือเหตุผลใดที่ทำให้เชื่อได้ว่า ลังกาสุกะ คือ ปัตตานี ได้เลย เพราะข้อความทำนองนี้ก็ไม่ปรากฏในเอกสารโบราณใดๆ ด้วยเช่นกัน (กล่าวในทำนอง หาก A ไม่ใช่ B แต่ A ก็ย่อมไม่สามารถเป็น C และ D ได้ด้วย)

และสำหรับผู้ที่แย้งเรื่อง “เมืองโบราณยะรัง” ว่าคือ “ลังกาสุกะ” จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า“ปัตตานีคือลังกาสุกะ” นั้น ข้อสรุปนี้ยังเป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไป เพราะเมื่อพิจารณาตามหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบที่เมืองเก่ายะรัง อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ไทยคนสำคัญผู้หนึ่ง ได้ให้ความเห็นไว้ในปี พ.ศ. 2527 ว่า …

… นักปราชญ์ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่เชื่อว่าเมืองนี้คือเมืองหลั่งยะสิ่วหรือลังกาสุกะ แต่เมื่อพิจารณาจากโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบแล้ว เมืองนี้มีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา ฉะนั้นเมืองนี้อาจจะเป็นลังกาสุกะได้ แต่คงไม่ใช่หลั่งยะสิ่ว ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 …

ดังนั้น ในความเห็นของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในฐานะนักวิชาการภาคสนาม จึงกล่าวได้ว่า “ลังกาสุกะไม่ใช่หลั่งยะสิ่ว” และสุดท้าย ท่านก็สรุปไว้อย่างชัดเจนว่าเมืองโบราณยะรังมีอายุรุ่นหลังมาก และเกือบไม่มีความเป็นไปได้เลยว่าคือเมืองลังกาสุกะ (หลั่งยะสิ่ว) ที่นักวิชาการฝรั่งชอบอ้างเอกสารจีนกัน

หมายเหตุ : กรณี ตารีค ปตานี” (Tarikh Patani) อันเป็นเอกสารประเภทตำนานมลายู ที่ต้องสงสัยว่าจะถูก ประพันธ์ขึ้นมาใหม่นั้น อายุไม่น่าจะเกิน 60 ปี เพราะสำนวนตลอดถึงความถูกต้องทางประวัติศาสตร์นั้นดูจะ แปร่งๆและเป็นสมัยใหม่มาก ดังนั้น ข้อมูลลังกาสุกะที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จะไม่ถูกนำมากล่าวถึง

อ้างอิง :

[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). รัฐปัตตานีในศรีวิชัย เก่ากว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์.(กรุงเทพ ซ 2547) สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.
[2] “ราชอาณาจักรลังกาสุกะ” โดย เสนีย์ มาดากะกุล ใน วิกฤตการณ์ปัตตานี : หนังสือรายงาน 10 ปีสมาคมยุวชนมุสลิมแห่งประเทศไทย. (2519)
[3] A. Teeuw and D.K. Wyaat. Hikayau Patani :The story of Patani. (1970)
[4] วัน วลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ วัน วลิต พ.ศ.2182. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2523)
[5] Hiyakat Merong Mahawangsa.
[6] พงศาวดารเมืองไทรบุรี ฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน.
[7] Ketab Negarakertagama.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า