‘ปรีดี พนมยงค์’ กับชีวิต แนวคิด และผลงานในมุมที่คนไทยอาจไม่เคยรู้จัก : ตอนที่ 2

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้นำกำลังทหารบุกเข้าประเทศไทยในปี พ.ศ. 2483 และด้วยท่าทีที่นายปรีดีฯ แสดงออก ทำให้กองทัพญี่ปุ่นเห็นถึงความไม่น่าไว้วางใจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้แต่งตั้งให้นายปรีดีฯ เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อลดบรรยากาศตึงเครียดระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่เพิ่งลงนามในอนุสัญญาสันติภาพ

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะนำกำลังทหารเข้าประเทศไทย นายปรีดีฯ ได้พยายามจัดตั้งธนาคารกลาง ซึ่งเป็นธนาคารรัฐตามแบบโซเวียต เพื่อใช้เป็นแหล่งกู้เงินให้กับรัฐ แต่ด้วยการคัดค้านของ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทำให้แผนการของนายปรีดีฯ หยุดอยู่เพียงแค่การตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย และเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกกำลังทหารเข้ามา ทางญี่ปุ่นได้เสนอจะตั้งธนาคารกลางให้ไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงถือโอกาสให้หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ จัดตั้งธนาคารกลางเสียเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาญี่ปุ่น และเป็นธนาคารกลางที่เป็นธนาคารกลางจริงๆ ตามอุดมคติของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ไม่ใช่ธนาคารรัฐแบบโซเวียต ตามที่นายปรีดีฯ ต้องการ

ในระหว่างสงคราม ได้มีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” ถือกำเนิดขึ้นในอเมริกา นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำอเมริกา ส่วนเสรีไทยฟากฝั่งยุโรปนำโดยนักเรียนไทยในอังกฤษและกลุ่มเชื้อพระวงศ์ ขบวนการเสรีไทย ได้ดำเนินการติดต่อกับขบวนการเคลื่อนไหวในไทย ซึ่งมีพลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล อดุลเดชจรัส) เป็นผู้นำคนสำคัญ แต่เนื่องจากชาติสัมพันธมิตรต้องการให้มีพลเรือนเป็นผู้นำขบวนการต่อสู้ ปรีดี พนมยงค์ จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในที่สุด

นายปรีดีฯ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงที่ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการผลักดันให้มีการปล่อยตัวหรือนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองซึ่งเป็นปรปักษ์กับจอมพล ป. ออกมา และสนับสนุน นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด แต่เนื่องจากการที่นายปรีดีฯ พยายามเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของนายควงฯ ทำให้นายควงฯ เริ่มหันไปสร้างกลุ่มการเมืองของตัวเอง และถอยห่างจากอิทธิพลของนายปรีดีฯ ในที่สุด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ใช้อำนาจในนามพระมหากษัตริย์ ประกาศสันติภาพ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่านายปรีดีฯ ยังคงทำการแทรกแซงการทำงานของนายกรัฐมนตรีเช่นเคย รวมไปถึงการไม่ส่งมอบอาวุธที่ขบวนการเสรีไทยรับมาจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้กับกองทัพไทย และในเวลาต่อมาได้มีการยุบหน่วยทหารไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับกองทัพไทย ในขณะเดียวกันนั้นเอง ได้มีการยกย่องขบวนการเสรีไทยในฐานะกองกำลังติดอาวุธที่เข้ามามีบทบาททำให้ไทยไม่ต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 8 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 พระองค์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ทั้งนี้ก็เพื่อหวังว่าจะหยุดยั้งความทะเยอทะยานของนายปรีดีฯ ที่กำลังจะเข้ามาเล่นการเมือง จากการมุ่งหวังชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ทว่าเมื่อมีการเลือกตั้งในเดือน มกราคม พ.ศ. 2489 แม้นายควง อภัยวงศ์ จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้เพียงเดือนเดียว เพราะเสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นฝ่ายเสรีไทย นายควงฯ จึงลาออกในที่สุด เปิดช่องให้นายปรีดีฯ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยผ่านการเป็น ส.ส. ประเภทแต่งตั้ง ซึ่งมีสมาชิกสภาฯ คือ นายจำรัส สุวรรณชีพ ลาออกเพื่อเปิดช่องให้

ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นที่เศร้าสลดของคนไทย เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นายปรีดีฯ ได้ลาออกพอเป็นพิธี และรัฐสภาก็ลงมติให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในระหว่างนั้นการสืบสวนคดีลอบปลงพระชนม์ เป็นไปอย่างมีเงื่อนงำ เนื่องจากรัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงและชี้นำการสืบสวน ถึงขนาดที่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมากล่าวหาว่านายปรีดีฯ ชี้นำการตั้งคำถามในการสอบสวนของศาล รวมถึงตีแผ่พฤติการณ์อีกหลายๆ อย่างที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการช่วยเหลือจำเลย จนเป็นสาเหตุให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายปรีดีฯ อย่างรุนแรง

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดีฯ ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. โดยไม่มีประชาชนลงคะแนนให้แม้แต่คะแนนเดียว เพราะว่าเขตที่ลงแข่งขันในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่มีใครสมัครแข่งด้วย และนายปรีดีฯ ได้สนับสนุนให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายรัฐมนตรีคนต่อมา แต่แล้วในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารแห่งชาตินำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นเหตุให้นายปรีดีฯ ต้องลี้ภัยหลบหนีออกนอกประเทศ

ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ได้เกิดเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” โดยนายปรีดีฯ ได้พยายามกลับเข้ามายึดอำนาจ ผ่านเครือข่ายขบวนการเสรีไทยและกำลังจากทหารเรือบางส่วน โดยยึดเอาพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางบัญชาการ และได้ดำเนินการถึงขั้นแอบอ้างพระบรมราชโองการ โดยประกาศทางวิทยุแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ด้วยกำลังทหารของรัฐบาลที่มีความชำนาญในการต่อสู้มากกว่ากองกำลังติดอาวุธเสรีไทย ประกอบกับทหารเรือที่สนับสนุนนายปรีดีฯ ยกกำลังมาช่วยไม่ทัน ทำให้กองกำลังฝ่ายของนายปรีดีฯ พ่ายแพ้กลายเป็นกบฏ และตัวนายปรีดีฯ เองต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง

ซึ่งการลี้ภัยของนายปรีดีฯ นั้น มีคนพยายามให้ข้อมูลบิดเบือนว่า เป็นเพราะถูกผู้มีอำนาจขับไล่ออกนอกประเทศ ทั้งที่ความเป็นจริงคือ ปรีดีฯ ลี้ภัยไปเองเพราะมีโทษกบฏ

ภายหลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการกวาดล้างเครือข่ายทางการเมืองของนายปรีดีฯ อย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอบสังหารนายเตียง ศิริขันธ์ และ 4 รัฐมนตรี คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เนื่องจากคนเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ในการเสนอให้มีการนำจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าสู่กระบวนการของศาลอาชญากรสงคราม ในฐานะที่ จอมพล ป. เป็นคนนำประเทศไทยเข้าไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น โดยพวกเขาคาดหวังว่าหากจอมพล ป. ถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงคคราม ก็จะต้องได้รับโทษประหารเหมือน จอมพล ฮิเดกิ โทโจ

แต่ทว่า มรว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะใช้ พรบ.อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 มาลงโทษคนไทยด้วยกัน จึงมีท่าทีที่จะช่วยเหลือ จอมพล ป. ให้ไม่ต้องรับโทษ โดยผลการตัดสินของศาลได้วินิจฉัยว่า ด้วย พรบ.อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เป็นกฎหมายที่บังคับใช้หลังจากสงครามเกิดแล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจมีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้ ศาลจึงสั่งยกฟ้อง และด้วยมูลเหตุเหล่านี้เอง ทำให้จอมพล ป. ทำการกวาดล้างนักการเมืองฝั่งตรงข้ามที่อยู่ในเครือข่ายของนายปรีดีฯ อย่างรุนแรง

ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลผิณ ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ. 2490 เมื่อคณะผู้ก่อการยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จแล้ว พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีแท้ๆ ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติในเมืองไทย แต่สำหรับฝั่งนายปรีดีฯ นั้น เหตุการณ์ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะนายหลุย พนมยงค์ ผู้เป็นน้องชาย และนายปาล พนมยงค์ บุตรชาย ต่างถูกจับกุม และบรรดาทรัพย์สินซึ่งถือครองในนามของนายหลุย พนมยงค์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงบังคับให้ยกหุ้นในบริษัทต่างๆ ให้

ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในปี พ.ศ. 2500 โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ โดยเป็นการยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และกำจัดอิทธิพลของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลงอย่างหมดสิ้น ซึ่งภายหลังการรัฐประหาร ได้เกิดการผ่องถ่ายหุ้นกิจการธนาคารบางแห่ง จากพลตำรวจเอกเผ่าฯ มาอยู่กับจอมพลสฤษดิ์ฯ

และเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้เอง ที่สร้างความหวังให้กับนายปรีดีฯ ว่าจะได้มีโอกาสกลับประเทศ เพราะหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจแล้ว ได้มีการปล่อยตัวนายหลุย พนมยงค์ และนายปาล พนมยงค์ ทำให้นายปรีดีฯ พยายามที่จะติดต่อกับจอมพลสฤษดิ์ฯ เพื่อหวังว่าจะให้ช่วยเหลือตนได้กลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง แต่แล้วความหวังของปรีดีฯ ก็พังทลายลง เมื่ออีกฝ่ายไม่ได้แสดงการตอบรับใดๆ กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ฯ ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2506 หลังจากอยู่ในอำนาจได้เพียงไม่กี่ปี

นายปรีดีฯ ได้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 – 2513 ซึ่งในช่วงเวลานั้นนายปรีดีฯ ได้พยายามหาหนทางกลับประเทศไทยมาโดยตลอด โดยได้พยายามติดต่อสานสัมพันธ์กับทั้งทาง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ช่วงปี พ.ศ. 2500) แต่ก็ดูเหมือนไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการตอบรับแต่อย่างใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2513 นายปรีดีฯ จึงแจ้งความประสงค์แก่ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ว่าต้องการไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่กระแสปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2509

นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางมาถึงกรุงปารีส ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 และอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิต ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอ็องโตนี ชานกรุงปารีส ด้วยอาการหัวใจวาย เป็นการปิดฉากเส้นทางชีวิตและสิ้นสุดการโลดแล่นบนถนนสายการเมืองลงด้วยวัย 82 ปี

‘ปรีดี พนมยงค์’ กับชีวิต แนวคิด และผลงานในมุมที่คนไทยอาจไม่เคยรู้จัก : ตอนที่ 1

อ้างอิง :

[1] ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2535)
[2] สกุลพนมยงค์ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกที่ระลึกเนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2530)
[3] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”, 2526
[4] ปรีดี พนมยงค์ : ครบรอบชาตกาล ตำนาน “บุคคลสำคัญของโลก”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย