เมื่อรายาแห่งปัตตานีอยากเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ประวัติศาสตร์ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนแสร้งมองไม่เห็น

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ปัจจุบันเกิดกระแสโจมตีที่ว่า การปฏิรูประบบราชการของสยามสมัยรัชกาลที่ 5 สู่รัฐรวมศูนย์ราชการ (Centralisation) คือสิ่งเดียวกับ “ระบอบอาณานิคม” (Colonisation) ซึ่งคนที่ทึกทักเอาง่าย ๆ เช่นนี้ นอกจากไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างแนวคิด “รัฐรวมศูนย์อำนาจ” ซึ่งเป็นปกติของรูปแบบรัฐสมัยใหม่ตาม ‘ทฤษฎีการเกิดรัฐ’ (State Formation) ของ ชาร์ลส์ ทิลลี (Charles Tilly) นักวิชาการชาวอเมริกันแล้ว ยังแยกแยะไม่ออกด้วยว่า รูปแบบการทำงาน (function) ภายใต้ “ระบอบอาณานิคม” เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการปกครองในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาลของสยามเวลานั้น ความแตกต่างขั้นมูลฐานในแนวคิดการปกครอง ไม่สอดคล้องกันเลย (ผู้อ่านสามารถติดตามแนวคิดการปกครองแบบเทศาภิบาลของสยาม อย่างละเอียด ได้จากวิทยานิพนธ์ระดับสากลของ เตช บุนนาค The provincial administration of Siam, 1992-1915 : The ministry of the interior under Prince Damrong Rajanubhab ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ)

ข้อสรุปทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยืนยันทั้งจากไทย (สยาม) และอังกฤษ ต่างยอมรับกันว่า ปัตตานีเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสยามในฐานะพื้นที่/จังหวัด ที่สยามสามารถปกครองได้โดยใช้สิทธิ์เด็ดขาดมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยศัพท์ในภาษาไทยสมัยนั้นเรียกว่า ‘ประเทศราช’ (Tributary State) แต่ก็เป็นประเทศราชที่มีรูปแบบการปกครองแบบเด็ดขาด (absolute) ในฐานะของ ‘อะเนด’ หรือ ‘ดินแดนที่ถูกผนวก’ (annexation) โดยลดฐานของเจ้าปกครองเดิมจนไม่มีสุลต่านที่มีพระยศเทียบพระมหากษัตริย์ปกครองปัตตานีอีกต่อไป มีแต่ผู้ปกครองในตำแหน่งรายา (Rajah) ที่แต่งตั้งโดยตรงจากสยาม อาทิ เต็งกูลามิดเด็น และ ดาโต๊ะปะกาหลั่น (ระตูท่าหน้า เจ้าเมืองยะหริ่ง) มาปกครองภายใต้การกำกับดูแลจากสยาม

แนวนโยบายที่สยามกระทำต่อปัตตานี แตกต่างจากที่กระทำต่อไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู อย่างชัดเจน ซึ่งเมืองประเทศราชฝ่ายแขกชั้นหลังนี้ สยามไม่ได้เข้าไปจัดการปกครองโดยตรง เมืองเหล่านี้จึงยังปรากฏระบอบสุลต่าน เว้นเสียแต่เกิดเหตุจำเป็นจริง ๆ อาทิ ศึกการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างราชวงศ์สุลต่านกลันตันในสมัยรัชกาลที่ 3

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ‘ความเข้าใจ’ ของสยามต่อปัตตานี (แม้กระทั่งช่วงแบ่งออกเป็น 7 หัวเมืองไปแล้ว) ดินแดนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘เมืองประเทศราช’ ภายใต้แนวคิดทางการเมืองแบบตะวันออกมาโดยตลอด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “ดินแดนอาณานิคม” (Colony) ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์การปกครองแบบตะวันตก โดยชาวสยามเรียกรูปแบบเหล่านี้ว่า ‘เมืองขึ้น’ ดังนั้น ‘เมืองประเทศราช’ กับ ‘เมืองขึ้น’ จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกันอย่างไม่มีปัญหา ใครจะเอามาทึกทักหรือมั่วในหลักการทางรัฐศาสตร์มิได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ การกล่าวว่า ‘สยามล่าอาณานิคมปัตตานี’ หรือ ‘ปัตตานีเป็นอาณานิคมของสยาม’ จึงเป็นเรื่องเหลวไหลและไม่มีหลักฐานหรือแนวคิดใด ๆ รองรับเลย นอกจากนี้ ยังน่าแปลกใจด้วยว่า การเรียกว่า เจ้าอาณานิคมสยาม’ (Penjajah Siam) คำนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรก ๆ โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม BRN โดยไม่เคยปรากฏในเอกสารชั้นต้นในสมัยก่อนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่า ครั้งหนึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษในแผนกกิจการอาณานิคม (Colonial Office Record) พบว่า รายาของปัตตานีองค์สุดท้าย คือ เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน เคยพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามาแทรกแซงและปกครองปัตตานีในฐานะเมืองขึ้นด้วย โดยการส่งจดหมายไปเชื้อเชิญอังกฤษให้เข้ามาทำการแทรกแซง (intervention) รัฐบาลสยาม และยังขู่ด้วยว่าหากอังกฤษไม่สนใจ จะวิ่งเต้นไปหามหาอำนาจอื่นให้ช่วยปลดปล่อยปัตตานีจากสยามแทน (น่าจะเป็นออตโตมานและเยอรมัน – ศัตรูของอังกฤษ) แต่น่าแปลกใจว่าเรื่องนี้แทบไม่มีใครเคยเขียนถึงเลย (หรือเป็นเพราะอับอายไม่กล้าเล่าก็เป็นที่น่าคิด)

จดหมายฉบับดังกล่าวลงวันที่ 13 สิงหาคม 1901 (พ.ศ.2444) มีไปถึง เซอร์ แฟรงค์ สแวตแตนนัม (Sir Frank Swettenham) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์ ซึ่งปรากฏเนื้อหาเล่าว่า รัฐบาลสยามปกครองอย่างไม่เป็นธรรมบ้าง แต่เนื้อหาหลัก ๆ คือการฟ้องอังกฤษว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมิยอมแต่งตั้งให้อับดุลการ์เดร์เป็นรายาปัตตานีเสียที หลังจากที่ ‘รายาสุไลมาน’ พ่อของเขาเสียชีวิตลง และสยามเพิ่งจะตั้งเขาเป็นรายาอย่างเป็นทางการไม่นานมานี้ (นัยว่าสยามกลั่นแกล้งถ่วง ไม่ยอมตั้งเป็นรายาโดยชอบธรรม)

เนื้อหาอีกส่วนเป็นการฟ้องเรื่องเงินภาษีว่า สยามจัดเก็บไปบำรุงส่วนกลาง ทำให้รายได้ของรายาปัตตานีน้อยลง รวมถึงประณามข้าราชการชั้นสูงของสยามที่เข้ามาควบคุมดูแลการคลังของปัตตานี เช่น พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ลงท้าย เพื่อเป็นการหลุดพ้นจากอำนาจของสยาม อับดุลกาเดร์ ได้เขียนข้อความสำคัญไว้ว่า ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษดำเนินการแทรกแซงการปกครองของสยามเสีย มิเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะหันไปพึ่งพามหาอำนาจ (Great Power) อื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจยุโรปหรืออื่น ๆ

การกล่าวเช่นนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์เดือดร้อนใจมาก และต่อมาได้ส่งสัญญาณบางประการให้สยามรู้ถึงความเป็นไปได้ที่รายาปัตตานีจะเป็นกบฏ เพราะอังกฤษไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยทราบแก่ใจว่าสยามมีอำนาจเด็ดขาดเหนือพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งพวกเขาก็ไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความวุ่นวายในพื้นที่คาบสมุทรตอนเหนือ เนื่องจากจดหมายฉบับนี้ยังขู่ด้วยว่าหากอังกฤษเพิกเฉย อาจเกิดความจลาจลวุ่นวายในพื้นที่คาบสมุทรก็เป็นได้ (อังกฤษมีผลประโยชน์อย่างมหาศาลในเหมืองแร่แถบเปรัคและกลันตัน)

ความพยายามอันแสนทะเยอทะยานที่จะคิดคบกับต่างชาติให้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของสยามของรายาปัตตานีจึงเป็นอันฝันสลาย เพราะอังกฤษไม่เล่นด้วย ซ้ำยังรายงานข่าวให้สยามทราบจนปราบปรามจับกุมรายาปัตตานีได้ทันในปีถัดมา (พ.ศ.2445) ก่อนที่สยามจะตัดสินใจเด็ดขาดถอดอับดุลกาเดร์ออกจากตำแหน่งรายาและส่งตัวไปขังที่พิษณุโลก

นับเป็นการโชคดีที่เราเกือบจะเสียดินแดนบริเวณทางใต้ไปแล้ว หากด้วยความร่วมมือกับอังกฤษ ความสามารถของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้น ทำให้สยามไม่ต้องเสียดินแดนบริเวณ 7 หัวเมืองเพิ่มเติมให้แก่อังกฤษ ซึ่งมีที่มาจากจดหมาย ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ ของรายาปัตตานีฉบับดังกล่าว

ถ้าจะกล่าวให้ชัด ๆ รายาปัตตานีองค์นี้ (อับดุลกาเดร์) ไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะยกเมืองปัตตานีให้แก่อังกฤษหรือเรียกร้องการแทรกแซงจากต่างชาติ เพราะเมื่อสืบสาแหรกโคตรเหง้าแล้ว ก็พบว่า แท้ที่จริง บรรพบุรุษของเขาก็ไม่ใช่เจ้าเมืองปัตตานีมาแต่เดิม หากเป็นเชื้อสายเจ้าจากกลันตัน (ตนกูบือซา/ ตนกูปะสา) ที่ในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงให้ย้ายมาปกครองปัตตานีที่จะบังติกอ

อีกทั้งรายาสุไลมาน (อดีตรายาปัตตานีผู้เป็นพ่อของอับดุลกาเดร์) ก็หาใช่ทายาทตามลำดับสายตรงของตนกูบือซาอีก เพราะความปรากฏว่า เมื่อรายาปัตตานี (ตนกูติมุง) ซึ่งเป็นทายาทสายตรงเสียชีวิตลง สยามก็ตัดสินใจฉีกลำดับประเพณี โดยตั้งให้ตนกูบูสูผู้เป็นอาของตนกูติมุง (ต่อมาคือรายาสุไลมาน พ่อของอับดุลกาเดร์) เป็นรายาปัตตานีแทน จึงกล่าวได้ว่านอกจากสายราชวงศ์กลันตันของตนกูบือซาจะไม่ใช่เจ้าปัตตานีสายตรงแล้ว อับดุลกาเดร์และพ่อของเขาก็ไม่ใช่ทายาทสายตรงของราชวงศ์กลันตันนี้ด้วย แท้จริงแล้ว อับดุลกาเดร์ควรสำเหนียกเสียด้วยว่า ที่ตระกูลเขาได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ก็เพราะอำนาจรัฐที่สยามตั้งให้เป็นอับดุลกาเดร์ หาใช่เพราะเป็นทายาทผู้ชอบธรรมมาแต่เดิม การที่รัชกาลที่ 5 จะทรงตั้งให้เขาเป็นรายาตอนไหน ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาควรจะเรียกร้อง (เพราะไม่มีทางแต่เดิม) ซ้ำยังเอาเรื่องไปฟ้องอังกฤษและเสนอให้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน การที่สยามตัดสินใจลงโทษแค่จับถอดยศและนำไปขังที่พิษณุโลกไม่กี่ปี ผู้เขียนมองว่ายังแรงน้อยไปกว่าความผิดที่อับดุลกาเดร์พยายามก่อด้วยซ้ำ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อสงสัยว่า ทำไมประวัติศาสตร์ที่มีข้อเท็จจริงโจ่งแจ้งเช่นนี้ พวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนและนักชาตินิยมนายูจึงปกปิดไม่ให้ประชาชนปัตตานีได้รับรู้ ? เรื่องใหญ่และหวือหวาขนาดนี้ แปลกใจว่าเหตุใดจึงไม่บรรจุลงในบอร์ดเกม Patani Colonial Territory บ้าง หรือจงใจเลือกเรื่องราวมาโดยอคติ เพื่อให้พวกตัวเองดูดีฝ่ายเดียวกันหนอ ?

อ้างอิง :

[1] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. การปกครองหัวเมืองภาคใต้ทั้ง 7 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์แผนกอักษรศาสตร์มหาบันทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2519.
[2] ประวัติเมืองปัตตานี ฉบับรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2471 (เอกสารอัดโรเนียวของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2515).
[3] Letter from Tengku Abdul Kadir Kamaridin, Rajah of Patani To Sir Frank Swettenham 13 August 1901. (Colonial Office Record 2473/274)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า