บันทึกลับ เจ้าพระยามหิธร หักล้างคำกล่าวหารัชกาลที่ 7 ในประกาศบิดเบือนของคณะราษฎร

เอกสารชิ้นสำคัญที่มักจะถูกพูดถึงเกี่ยวกับการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 คือ ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่เขียนขึ้นโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งเนื้อหาในประกาศฉบับนั้น เต็มไปด้วยถ้อยคำกล่าวหาใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 7 อย่างเสียๆ หายๆ มากมาย

และที่ผ่านมา มีคนบางกลุ่มพยายามใช้ประกาศฉบับนี้ บิดเบือน สร้างความเท็จล้างสมองคนรุ่นใหม่ ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ว่าพระองค์ทรงหวงอำนาจและบริหารประเทศผิดพลาด รวมทั้งไม่สนใจความต้องการของประชาชน จนคณะราษฎรจำเป็นต้องก่อการปฏิวัติ

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ในเวลาต่อมา ถ้อยคำโจมตีในประกาศคณะราษฎร ก็ได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็น “ความเท็จ” ทั้งสิ้น แถมยังเป็นรอยด่างพร้อยทางประวัติศาสตร์การเมือง ที่แม้แต่ตัวนายปรีดีฯ เอง ก็ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในคำโกหกที่เขียนขึ้นในประกาศฉบับนั้นเลย

ข้อพิสูจน์ดังกล่าว คือการที่คณะผู้ก่อการซึ่งรวมไปถึงตัวของนายปรีดีฯ ได้พากันเข้าเฝ้าฯ และขอขมาต่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพื่อกราบขอพระราชทานอภัยโทษ และขอขมาที่ได้ล่วงเกินด้วยการสบประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อพระองค์และพระราชวงศ์จักรี

เหตุการณ์ในวันนั้น ได้ถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดโดย เจ้าพระยามหิธร อดีตองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งบันทึกฉบับนั้น เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่นอกจากจะฉายภาพให้เห็นถึงการประนีประนอมที่เกิดขึ้น ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 7 และรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไปได้ด้วยความสงบ หลักฐานชิ้นนี้ยังเป็นสิ่งยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ประกาศของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่กล่าวหาโจมตีในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้น “ไม่เป็นความจริง”

สำหรับบันทึกทั้งหมดของเจ้าพระยามหิธร ในวันที่คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอขมาในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้น สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่ครับ “บันทึกลับ 30 มิถุนายน 2475 เจ้าพระยามหิธร

ส่วนในบทความนี้ ฤๅ จะขอนำเสนอประเด็นสำคัญจากบันทึกของเจ้าพระยามหิธร ที่หากอ่านและวิเคราะห์ดูแล้ว จะเห็นถึงข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นทั้งข้อมูลหักล้างคำกล่าวหาของคณะราษฎร และแสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัยที่แท้จริงของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อบ้านเมืองและประชาชน

ในบันทึกส่วนต้นของเจ้าพระยามหิธร ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงอธิบายถึงข้อจำกัดทางการเมืองที่พระองค์ต้องประสบ ในขณะที่ทรงครองราชย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยที่ก่อนหน้านั้น พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยและได้ทรงตระเตรียมการไว้แล้วว่าจะมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน โดยบันทึกส่วนนี้มีใจความว่า …

          “… ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้ Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว และเมื่อทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระยากัลยา (F.B. Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้น ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี

ในส่วนพระราชดําริ ในขั้นต้นอยากจะทําเป็น 2 ทาง ทั้งล่างทั้งบน ข้างล่างให้มีเทศบาลเพื่อสอนราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึงโปรดให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ดังที่หลวงประดิษฐอยู่ทราบอยู่แล้ว แต่การณ์ก็ช้าไป ในส่วนข้างบนได้ทรง ตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้นเพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึงตั้งที่ประชุมขึ้น หวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา

ครั้นเสด็จไปอเมริกาก็ได้ให้ interview ว่าจะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่า จะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ ๆ กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอีกผู้หนึ่ง ก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารและนายสตีเวนส์ ขัดข้องเสียดังนี้ การก็เลยเหลวอีก

ต่อมาได้เตรียมว่า จะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร 150 ปี แล้ว เพราะจะเป็นขี้ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่ากําลังเป็นเวลาโภคกิจตกต่ํา ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหิน ก็ได้ทรงพระราชดําริอีกที่จะให้มี Prime Minister ให้มีสภา interpellate เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าคละอย่าง ๆ จะเป็นได้ก็ลําบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นด้วยว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ ที่ได้ทําการมานานตั้ง 20 ปีก่อนพระองค์ …

… ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ก็ปรากฏว่าช้าไปอีก ที่คณะราษฎรทําไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่องก็คาดแล้วว่า คงจะเป็นเรื่องการปกครอง เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทําความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก ในวันนั้นได้ทรงฟังประกาศ ของคณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย …”

บันทึกส่วนต่อมา เป็นประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีทางเลือกหลายทาง หากแต่พระองค์ทรงเลือกหนทาง “ประนีประนอม” กับคณะผู้ก่อการ เพราะทรงไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นอีกด้วยว่า พระองค์มิเคยต้องการอำนาจใดๆ และทรงมีพระประสงค์ที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก …

“… เมื่อได้ทรงฟังประกาศดังนี้รู้สึกว่า เห็นจะเป็นขบถกระมัง จึงปรึกษา มีทาง 3 ทาง ถ้าจะหนีก็มีเวลาทั้ง 24 ชั่วโมง พอหนีได้ จะสู้ ก็ยังมีกําลังทหารทางหัวเมือง แต่ทรงพระราชดําริว่า ถ้าหนีจะร้ายใหญ่ อาจฆ่ากันตาย และร้ายแก่พระราชวงศ์ การจะต่อสู้ก็ไม่อยากจะทํา จึงได้ทรงรับโดยไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ …

… ในประกาศของคณะราษฎรที่กล่าวหาว่าพระองค์ตั้งแต่คนสอพลอนั้น ไม่จริง ได้ทรงปลดคนที่โกงออกก็มาก แต่ลําพังพระองค์ ๆ เดียวจะเที่ยวจับคนที่โกงให้หมดเมืองอย่างไรได้ แม้คณะนี้ก็คอยดูไป คงจะได้พบคนโกงเหมือนกัน ทรงเชื่อว่าพระราชวงศ์ทุกพระองค์ได้ตั้งพระทัยช่วยราชการโดยจริง ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาสหรือว่าหลอกลวงก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นได้ว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นํา และผู้นํานั้นสําคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสีย ไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก …

… ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้เขียนประกาศนั้น แต่ทรงคิดว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้เขียน จึงทรงต่อว่าการเขียนประกาศกับการกระทําของคณะราษฎร เปรียบเหมือนเอาผ้ามาจะทำธง แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอามากชักขึ้นเป็นธงจะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ จึงทรงรู้สึกว่าจะรับเป็นกษัตริย์ต่อไปไม่ควร

อีกประการ 1 ประกาศนี้คงตกอยู่ในมือราษฎรเป็นอันมาก ทําให้ขาดเสียความนิยม เมื่อไม่นับถือกันแล้วจะให้เป็นกษัตริย์ทําไม เท่ากับจับลิงที่ดุมาใส่กรงไว้ จึงมีพระราชประสงค์จะออกเสีย เพราะรู้สึกว่าเสีย credit ทุกชั้น ทําให้คนเกลียดหมด แต่จะทรงยอมอยู่ไปจนเหตุการณ์สงบ เวลานี้จะดูหน้าใครไม่ได้ จะรับแขกไม่ได้ จะอยู่โดยเงียบ ๆ แต่จะเชิญเสด็จให้ไปที่สภา ก็จะเสด็จ เพื่อช่วยความมั่นคง เมื่อการงานของประเทศเรียบร้อยแล้ว ขออนุญาตไปพักผ่อนเงียบ ๆ ไม่ได้ต้องการเงินทอง ขอแต่ให้ได้ใช้สอย ทรัพย์สมบัติเดิมที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพอกินไป …”

บันทึกในส่วนต่อมา เป็นการตอบรับจากฝ่ายคณะราษฎร รวมถึงการกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ความว่า …

“… หลวงประดิษฐมนูธรรม กราบบังคมทูลว่า พวกคณะราษฎรไม่ทราบเกล้า ว่าจะพระราชทาน Constitution คิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เสด็จกลับ อาจไม่พระราชทานตามที่ขอร้อง เป็นด้วยไม่รู้เท่าถึงการถึงพระบรมราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นการมุ่งร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทราบเกล้าฯ ดังนี้ ก็จะไม่มีความเข้าใจผิดอีกต่อไป และคงมีความเคารพนับถือในพระบารมีอยู่ตามเดิม …”

และในตอนท้ายของบันทึก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กราบบังคมทูลถึงเหตุผลในการควบคุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ไว้ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีรับสั่งต่อพระยาพหลฯ ว่าจะทรงดำเนินการเจรจาให้ ด้วยทรงเกรงว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์ความขัดแย้งต้องยืดเยื้อ จะยิ่งเกิดผลเสียหายต่อบ้านเมือง โดยในบันทึกมีใจความว่า …

“… พระยาพหล กราบบังคมทูลว่า ได้ปล่อยสมเด็จ 2 องค์ พระองค์เจ้าภาณุ กับหม่อมเจ้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

มีพระราชดํารัสว่า การเกาะกุมจะเป็นไปนานเท่าไร ถ้าเลิกเสียได้ยิ่งดี

พระยาพหล กราบบังคมทูลว่า คณะราษฎรอยากจะทําเช่นนั้นเหมือนกัน แต่มีบางคนไม่ยอมทําสัตย์ปฏิญาณ เช่น พระยาสีหราชเดโช ถึงจะเอาชีวิต

มีพระราชดํารัสว่า มีใครบ้างที่ไม่ยอมให้สัตย์ ขอให้ๆ ชื่อ จะได้ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาไปแนะนำ เพราะว่า ถ้ามัวแต่คิดไม่หยุด เมืองไทยก็จะกลายเป็นเม็กซิโก ยิ่งกักไว้นาน ทําให้รู้ว่าการภายในไม่ปกติ จะร้าย ที่สําคัญที่สุดนั้นคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ …”

จากประเด็นสำคัญในบันทึกของเจ้าพระยามหิธร ถือเป็นหลักฐานอันสำคัญที่ยืนยันได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะมอบประชาธิปไตยให้กับคนไทยมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยมิเคยเห็นแก่อำนาจตามคำกล่าวหาของคณะราษฎร อีกทั้งยังฉายภาพให้เห็นถึงการเลือกประนีประนอมของพระองค์ มากกว่าที่จะแตกหักกับคณะผู้ก่อการปฏิวัติ ก็เพื่อให้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไปได้ด้วยความสงบ โดยไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อบ้านเมืองและพสกนิกรของพระองค์นั่นเอง

อ้างอิง :

[1] บันทึกลับ 30 มิถุนายน 2475 เจ้าพระยามหิธร
[2] เรื่องของเจ้าพระยามหิธร (พระนคร: โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2499. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเทพศิรินทร วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด
    <