นโยบายของรัชกาลที่ 2 ผนวกปัตตานีเข้ากับสยามจนเป็นปึกแผ่น

นโยบายการปกครองของสยามที่ถือได้ว่าเป็นการ “ผนวกดินแดน” ให้เป็นปึกแผ่นนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 และตัวอย่างการผนวกดินแดนที่ประสบความสำเร็จอย่างเด่นชัดก็คือ การแบ่งปัตตานีออกเป็น 7 เมืองย่อย แล้วให้มีเจ้าท้องถิ่นปกครองกันเองภายใต้การควบคุมของสยาม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์จักรี

เป็นการเน้นย้ำรูปแบบการ “ผนวกดินแดน” (Annexation) ของสยาม ซึ่งต่อมาบรรดาเมืองที่เคยถูกผนวกก็จะกลายสภาพเป็นเขต ๆ หนึ่ง เช่น จังหวัด หรือ แคว้นหนึ่งๆ ไปโดยปริยาย ไม่เหมือนการล่าอาณานิคมตามแนวคิดจักรวรรดินิยม และไม่ใช่การล่าอาณานิคมภายในอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

ปัจจุบันวงการวิชาการไทยได้ข้อสรุปแล้วว่า การแบ่งปัตตานีเป็น 7 เมืองดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จากหลักฐานที่พ้องต้องกันหลายชิ้น ซึ่งก่อนที่สยามจะแบ่งปัตตานีเป็น 7 เมืองย่อย ๆ นั้น เดิมทีปัตตานีคือเมืองประเทศราชของสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ได้มีการกระชับอำนาจมากนัก บรรดาราชวงศ์ของปัตตานีโดยปกติต้องแสดงความอ่อนน้อมต่อสยาม แต่ทว่าเมื่อใดที่สยามเริ่มอ่อนแอ ปัตตานีก็จะเริ่มตีตัวออกห่าง จนบางครั้งสยามเองก็ไม่สามารถอ้างได้ว่าปัตตานีเป็นเมืองประเทศราช

หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 สยามได้ฟื้นฟูอำนาจของตัวเองอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น พร้อมกับสถาปนากรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาตามลำดับ ในเวลานั้นแม้ว่าปัตตานีจะปกครองด้วยสุลต่านมูฮัมหมัด และห่างไกลจากศึกสงครามของพม่า แต่ด้วยอำนาจของสยาม ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กำลังฟื้นตัวอยู่นั้น ทำให้สุลต่านปัตตานีต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า สงครามระหว่างสยามกับปัตตานีจะต้องหวนคืนกลับมา ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ในช่วงที่สยามกำลังสู้ศึกสงคราม 9 ทัพกับพม่าอยู่นั้น กองทัพหลวงของสยามได้ยกลงมาถึงทางปักษ์ใต้ และพบกับความจริงว่า สุลต่านปัตตานีไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสยาม เป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทรงนำทัพเข้าตีปัตตานี ในปี พ.ศ. 2328 จนสามารถยึดครองเมืองนี้ได้สำเร็จเด็ดขาด ชนิดที่ว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ระหว่างสยาม – ปัตตานี และการเสียเมืองครั้งนี้เป็นเหตุให้ปัตตานีถูกผนวก (annex) เป็นเมืองหนึ่งของสยามนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นทางสยามได้แต่งตั้งให้เชื้อสายราชวงศ์ปัตตานี คือ รายาเต็งกูลามิดเด็น เป็นเจ้าครองเมือง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งบรรณาการเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง (บุหงามาส) ให้แก่สยามทุกปี ซึ่งในอดีตธรรมเนียมนี้สยามไม่ได้บังคับเข้มงวดนัก ดังนั้นเงื่อนไขในการส่งบรรณาการต่อเนื่องทุกปี ย่อมแสดงให้เห็นถึงอำนาจอันกระชับขึ้นของสยามที่มีต่อปัตตานี แต่ทั้งนี้ เต็งกูลามิดเด็น ก็ยังพอมีอิสระในการบริหารจัดการเมืองปัตตานีอยู่บ้างพอสมควร

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทางสยามจับได้ว่ารายาปัตตานี (เต็งกูลามิดเด็น) ได้ลักลอบส่งเอกสารลับให้แก่ทางเวียดนาม (ญวน) โดยวางแผนว่าจะเชิญชวนให้เวียดนามร่วมมือกับปัตตานีบุกเข้าตีกรุงเทพ ซึ่งองค์เชียงสือได้รายงานแผนการนี้ให้แก่ทางสยามเอง จนเป็นเหตุให้สยามต้องทำสงครามเพื่อสั่งสอนปัตตานีเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2332

ทัพสยามครั้งนี้นำโดยพระยากลาโหมราชเสนา พร้อมกองกำลังทัพเรือ โดยในเวลานั้นทางกองทัพปัตตานีได้เปิดฉากโจมตีเมืองย่อย ๆ ของสยามตั้งแต่จะนะ เทพา เรื่อยมาจนบรรจบกันที่สงขลาซึ่งเป็นจุดพลิกผันของสงครามครั้งนี้ กองทัพปัตตานีประสบกับความพ่ายแพ้ย่อยยับ จนถูกตีต้อนกลับเมือง จากนั้นกองทัพสยามได้เข้าตีปัตตานีจนแตกพ่าย และได้ทำการปลดเต็งกูรามิดเด็นออกจากการเป็นเจ้าเมือง และตั้งขุนนางท้องถิ่น ชื่อ ดาโต๊ะปังกาลัน (ระตูท่าหน้า) เป็นเจ้าเมืองสืบต่อแทน โดยมีข้าหลวงสยามคนหนึ่งคอยกำกับควบคุม

ต่อมาไม่นานนัก ปัตตานีกลับแข็งข้อขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2351 โดยดาโต๊ะปังกาลันได้ร่วมมือกับพรรคพวก ร่วมกันขับไล่ขุนนางสยามและกองกำลังที่ถูกส่งมาควบคุมเมืองปัตตานี จนถอยร่นไปถึงสงขลา แต่ด้วยกองทัพหลวงของพระยาพลเทพ ร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา ได้ทำการต่อต้านอย่างสุดกำลัง กระทั่งกองทัพของปัตตานีแตกพ่ายอีกครั้ง เป็นผลให้ดาโต๊ะปังกาลัน เจ้าเมืองปัตตานีถูกฆ่าตายในสนามรบ

จากเหตุการณ์ที่ปัตตานีต่อต้านสยามถึง 2 ครั้งติด ๆ กันนี้ ทำให้ทางกรุงเทพฯ ได้ดำริให้มีนโยบายการปกครองหัวเมืองมลายูปัตตานีเสียใหม่ โดยการแบ่งออกเป็นเมืองย่อย ๆ 7 เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะหริ่ง หนอกจิก ยะลา รามัน ระแงะ และสายบุรี จากนั้นได้ตั้งให้แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองปกครอง มีอำนาจการบริหารเป็นของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นตรงกับปัตตานีอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า การแบ่งปัตตานีออกเป็นเมืองย่อย แล้วให้มีเจ้าท้องถิ่นปกครองกันเองภายใต้การควบคุมของสยามนั้น  ถือเป็นนโยบายของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) อย่างแท้จริง และไม่ใช่มีเพียงแค่ปัตตานีเท่านั้น หากแต่สยามยังใช้วิธีการผนวกดินแดนแบบเดียวกันนี้กับกรณีของเมืองลาว ล้านนา และกัมพูชาด้วยเช่นกัน

นโยบายนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะในช่วงเวลานับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเกือบ ๆ 100 ปี เมืองปัตตานีได้บังเกิดความสงบสุข และไม่ได้ก่อสงครามกับสยามอีกเลย จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปัตตานีจึงค่อย ๆ ผนวกรวมเป็นจังหวัดหรือแคว้นหนึ่งของสยามมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

พรรณงาม เง่าธรรมสาร, ความสัมพันธ์สยาม – ปัตตานี จากธนบุรีสู่รัตนโกสินทร์. ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 67 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2552)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า