‘นายใน’ ภาพบิดเบือนของรัชกาลที่ 6 ผ่านทัศนคติที่บิดเบี้ยวของ ‘ชานันท์ ยอดหงษ์’

จินตนาการใหม่ของ ชานันท์ ยอดหงษ์ ผ่านหนังสือ “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา เรื่อง “นายใน”: ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศสภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พยายามวาดภาพลักษณ์ให้การที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 มีพระบุคลิกแบบสุภาพบุรุษ (Gentleman) ตามนิยามสังคมยุควิคตอเรียนแบบชาวอังกฤษ และการที่ทรงเสกสมรสช้า มาจับแพะชนแกะอธิบายเพศภาวะของพระองค์ผ่านกลุ่มข้าราชสำนักฝ่ายหน้า ด้วยการสร้างบทละครให้มหาดเล็กกลายเป็นสนมผู้ชาย หรือที่นายชานนท์ประดิษฐ์วาทกรรมว่า “นายใน”

สังคมอังกฤษยุควิคตอเรียน ช่วง ค.ศ.1837-1901 จักรวรรดิอังกฤษรุ่งเรืองถึงขีดสุด ซึ่งสะท้อนผ่านการที่ขยายอาณานิคมไปทั่วโลก แม้ความเจริญทางศิลปวิทยาการจะรุดหน้า สังคมอังกฤษกลับยิ่งเคร่งครัดในศีลธรรมและจริยธรรมภายใต้อิทธิพลศาสนาคริสต์ ได้สร้างบทบาทความเป็นชายและหญิงในลักษณะขั้วตรงข้ามแบ่งแยกกันชัดเจน และมีมุมมองทางเพศอย่างสุดโต่ง เช่น มองว่าการสมรสเป็นเรื่องของคนสองคนที่พระเจ้าจับคู่ให้ชายหญิงคู่หนึ่งได้ครองรักกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ต้องเป็นไปเพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์เท่านั้น เป็นต้น

ในสังคมไทย แม้ชาวตะวันออกจะแบ่งแยกหญิงชาย แต่ก็แบ่งแยกกันอย่างหลวม ๆ และในหลาย ๆ บริบทก็มีบทบาทเหลื่อมซ้อนกัน เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีพื้นที่ทางสังคมได้มากกว่าชาวยุโรป และผู้หญิงในเอเชียก็มีโอกาสเลือกคู่ครองเองสูงกว่าชาวยุโรป เช่น ในสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 1 กรณีอำแดงป้อมภรรยานายบุญศรี นอกใจสามีไปมีชู้กับนายราชาอรรถ แล้วอำแดงป้อมไปฟ้องหย่าและศาลพิจารณาตามตัวบทกฎหมายแล้ว ปรากฏว่าอำแดงป้อมมีสิทธิอันชอบที่จะฟ้องหย่าสามี เพื่อไปสมรสใหม่กับชายชู้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นมูลเหตุให้ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงเล็งเห็นว่ากฎหมายน่าจะมีความบกพร่อง จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายตราสามดวงใหม่

นอกจากนี้สังคมไทยยังมีมุมมองต่อประเด็นเพศภาวะที่ผ่อนคลายกว่าสังคมยุโรปอย่างมาก เห็นได้จากกรณีหม่อมไกรสรหรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นตุลาการแล้วได้รับสินบนทั้งฝั่งโจทก์ฝั่งจำเลย เมื่อคู่ความแพ้คดีจึงโกรธแค้นและขุดคุ้ยความผิดต่าง ๆ ของกรมหลวงรักษ์รณเรศ จนบานปลายกลายเป็นคดีกบฏ ที่กรมหลวงรักษ์รณเรศยังถูกกล่าวหาว่าไม่สนใจบุตรภรรยาตน ไปรักกับพวกละครผู้ชายที่ทรงเลี้ยงไว้ ในประเด็นความประพฤติทางเพศ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ชี้ให้เห็นว่าแม้สังคมยุคนั้นจะไม่ได้เปิดกว้างยอมรับ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่ก็ไม่ได้ถูกมองเป็นความผิดร้ายแรงจนต้องทำโทษ และตัวกรมหลวงรักษ์รณเรศยังแก้ตัวด้วยว่าเพศภาวะของท่าน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ในหลวงรัชกาลที่ 3 จึงทรงได้แต่ตำหนิ โดยทรงบริภาษไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ พี่ชายแท้ ๆ ของกรมหลวงรักษ์รณเรศ ที่มีความประพฤติทางเพศลักษณะนี้เหมือนกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-2 แต่ก็ไม่ได้ถูกว่ากล่าวหรือเอาโทษ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว การลงโทษประหารชีวิต จึงเป็นการรับโทษเพราะความทุจริตในหน้าที่ราชการและความผิดฐานกบฏเท่านั้น

แม้แต่มุมมองตามหลักพระพุทธศาสนา สังคมไทยไม่ได้มองว่าการที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องผิด การประพฤติผิดในกามเป็นเรื่องที่ผู้ชายไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตน หรือประพฤติทางเพศไม่เหมาะสมต่อหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตนก็เป็นความผิด แต่ถ้าจะมีภรรยาหลายคน หากเป็นภรรยาโดยชอบก็ไม่ถือว่าผิด

นายชานันท์กลับใช้มุมมองแบบสังคมยุควิคตอเรียน มาอธิบายการที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 เสกสมรสช้าหรือไม่ทรงมีนางสนมเหมือนสังคมไทยยุคเก่า โดยพยายามสร้างคำอธิบายยัดเยียดให้ราชสำนักฝ่ายหน้าสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นสนมแทนผู้หญิง และชี้ว่ามีเพศภาวะที่ขัดแย้งในตัวเอง ภายใต้สังคมชายล้วน กระทั่งมีความเห็นทำนองว่าราชสำนักฝ่ายหน้าสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่ต้องการผู้หญิง

ในความเป็นจริง สังคมไทยก่อนสมัยรัชกาลที่ 6 ราชสำนักแบ่งเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายในเด็ดขาดชัดเจนมานาน ฝ่ายหน้าเป็นข้าราชการผู้ชายที่รับใช้ในราชสำนักในฐานะมหาดเล็ก และฝ่ายในเป็นผู้หญิงล้วน มีหน้าที่รับราชการในพระราชฐานที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์ พระมเหสีและเจ้าจอมต่าง ๆ ข้าราชสำนักฝ่ายในจำเป็นต้องเป็นผู้หญิงล้วน เพื่อรักษาพระเกียรติ ไม่ให้เกิดข้อครหาให้พระมเหสีหรือเจ้าจอมเสื่อมเสีย ดังนั้นจินตนาการของนายชานันท์ที่วาดภาพลักษณ์ให้นางในหรือข้าราชการฝ่ายในต้องเป็นสาวบริสุทธิ์ และพร้อมถวายตัวเป็นพระสนมเหมือนในละครโทรทัศน์ จึงเป็นความฝันเฟื่องเพราะดูละครมากเกินไป

แม้ราชสำนักฝ่ายในจะเป็นสังคมหญิงล้วน แต่นางในไม่ใช่คนที่จะมาเป็นสนมเท่านั้น เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทรงยกให้สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ดูแลราชสำนักฝ่ายในทั้งหมด เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ยกให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดูแลราชสำนักฝ่ายในทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ฯ ทรงมีฐานะเป็นเสด็จยายในหลวงรัชกาลที่ 5 และบรรดาข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งประกอบไปด้วยท้าวนางในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่างก็เป็นพระสนมของรัชกาลที่ 4 เสียด้วยซ้ำ เช่น ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ 4), พระเจ้าน้องเธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี อธิบดีกรมโขลน ก็ไม่ได้มีฐานะเป็นพระภรรยาเจ้า

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.2453 ราชสำนักฝ่ายในยังมีนางกำนัลหรือพนักงานฝ่ายในที่เป็นผู้หญิงตามปกติ และปรากฎหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาด้วยว่า ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งข้าราชสำนักฝ่ายในเป็นระยะ ๆ เช่น วันที่ 10 พฤษภาคม ร.ศ.130 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จ่าคำดี เป็น หลวงแม่เจ้า ศักดินา 500 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2462 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เจ้าจอมปั้ม เป็น ท้าววรคณานันท์ ศักดินา 3,000

ไม่เพียงแต่นางในจะไม่ได้จำกัดแค่สาวบริสุทธิ์ ธรรมเนียมในราชสำนักยังแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายในจากเจ้าจอมในรัชกาลอื่น ๆ ด้วย เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 มีเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 เป็นท้าวนาง และยังอาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าหญิงสาวที่มีครอบครัวและมีบุตรแล้วเป็นท้าวนางด้วยก็ได้ เช่น นางแก้ว อำนาจณรงค์ราญ ภรรยาของหลวงอำนาจณรงค์ราญ (หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน) เป็นท้าวศรีสุนทรนาฎ และในปี พ.ศ.2465 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าจอมเพิ่ม รัชกาลที่ 5 เป็นท้าววนิดาพิจาริณี อธิบดีฝ่ายใน แต่งตั้งเถ้าแก่สุ่น เป็นท้าวพิทักษ์อนงคนิกร และ พ.ศ.2467 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณศรีจันทร์ บุรณศิริ เป็นท้าวนารีวรคณารักษ์

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บรรดานางในแม้ว่าจะมีหน้าที่รับใช้ในราชสำนักฝ่ายใน แต่จุดมุ่งหมายแท้จริงของการที่ฝ่ายในมีผู้หญิงล้วน ก็เพื่อธำรงพระเกียรติของพระมเหสีและเกียรติของพระสนม กระทั่งการติดต่อราชการระหว่างฝ่ายหน้าและฝ่ายใน บรรดาพระภรรยาเจ้าและพระสนมก็จะไม่ติดต่อข้าราชการฝ่ายหน้าโดยตรง หากเป็นหน้าที่ของเจ้าจอมเถ้าแก่หรือเถ้าแก่ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 การประจำเวรทหารมหาดเล็กในเวลากลางคืน จะต้องมีการตรวจสอบจำนวนรายชื่อและมีท้าวนางฝ่ายในเข้าไปตรวจสอบด้วย โดยผู้รับหน้าที่ดังกล่าวคือ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง (ทรงเป็นภรรยาของหม่อมเจ้าจักรจั่น ปาละวงศ์)

ความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่าพระราชฐานฝ่ายในไม่มีผู้ชายเลย นอกจากพระมหากษัตริย์และพระราชโอรสที่ยังไม่โสกันต์ ไม่เป็นความจริง เพราะแม้ในพระราชฐานฝ่ายในจะมีข้าราชการฝ่ายหน้าถวายการรับใช้ แต่ก็ไม่ได้เข้ามาใช้ชีวิตในเขตพระราชฐานเหมือนนางใน เพราะข้าราชการฝ่ายหน้า ได้แก่ มหาดเล็ก มีหน้าที่ประจำเวร ถวายการรับใช้พระมหากษัตริย์ 24 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 4 เวร คือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และเวรเดช

เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเสกสมรสช้า ทำให้ความจำเป็นในการมีพนักงานฝ่ายในมีน้อย เพราะยังไม่ทรงมีพระมเหสีหรือนางสนม การแต่งตั้งท้าวนางสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมักแต่งตั้งเพื่อทดแทนท้าวนางพนักงานฝ่ายในเท่าที่พอแก่ความเหมาะสมของงาน กระทั่งหลังจาก ปี พ.ศ.2463 เมื่อทรงหมั้นและสถาปนาพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี นับแต่นั้นราชสำนักฝ่ายในก็มีต้องการพนักงานเพิ่มมากขึ้น

พระราชจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งถูกถ่ายทอดให้เห็นว่าอยู่ในสังคมผู้ชายเป็นหลัก เพราะมีแต่ข้าราชการฝ่ายหน้าที่คอยถวายความรับใช้มาตั้งแต่ยังทรงดำรงพระสถานะเป็นพระรัชทายาท จนกระทั่งทรงขึ้นครองราชย์ แต่ในความเป็นจริง แม้ข้าราชการผู้ถวายความรับใช้มักเป็นผู้ชาย แต่ก็ทรงมีนางกำนัลถวายการรับใช้มาตลอด โดยเฉพาะพนักงานภูษา ทรงแต่งตั้งให้ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งเป็นพี่สาวของเจ้าพระยารามราฆพ เป็นพนักงานพระภูษาและพระสุคนธ์ มาตั้งแต่เสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ

หากเทียบราชสำนักฝ่ายหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 กับรัชกาลที่ 6 ราชสำนักฝ่ายหน้าในสมัยรัชกาลที่ 6 มีขนาดที่เล็กกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยซ้ำ เพราะสมัยรัชกาลที่ 5 กระทรวงวังมีกรมในบังคับบัญชา 24 กรม ส่วนรัชกาลที่ 6 ยุบเหลือ 17 กรม และจำนวน 17 กรมนี้มีฐานะเป็นกองงานเล็ก ๆ อีกด้วย

นิยายเรื่อง “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 ตามจินตนาการของนายชานันท์ ยอดหงษ์ ที่ผ่านการผัดหน้าทาแป้งเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา จึงเป็นการประกอบสร้างเพื่อสนองความต้องการทางเพศภาวะของตนเองเป็นหลัก เพื่อหวังจะสร้างชุมชนในจินตนาการ สร้างพื้นที่การยอมรับเพศภาวะที่นายชานันท์วาดฝัน จึงได้เลือกเหยี่อในประวัติศาสตร์ที่เป็นคนดัง ในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงมีบุคลิกภาพแบบสุภาพบุรุษ ตามนิยามของสังคมยุควิคตอเรียน และทรงดำรงพระชนม์ชีพด้วยความเป็นโสด แวดล้อมด้วยข้าราชการฝ่ายหน้ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งทรงเสกสมรสครั้งแรกเมื่อพระชนมายุเกือบ 40 พรรษา จึงตกเป็นเหยื่ออันโอชะที่นักจินตนาการจะหยิบยกขึ้นมาตีไข่ใส่สีตอบสนองความต้องการของตน

ที่มา :

[1] ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน”: ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศสภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2555
[2] ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน. 2556
[3] กำธร เลี้ยงสัจธรรม. “ฎีกาของอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ 4 กับการพลิกคดีอำแดงป้อมในรัชกาลที่ 1”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2555)
[4] “ประวัติ ท้าวอินทรสุริยา”. จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสสหรัฐมลายู พุทธศักราช 2467. เจ้าพระยายมราชพิมพ์ช่วยเป็นที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ท้าวอินทรสุริยา(เชื้อ พึ่งบุญ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช 2480. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์.2480
[5] ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ), เจ้าพระยา, 2356-2413 (2477). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. กรมศิลปากร.
[6] วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน. 2561

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพ