ตีแผ่หนังสือ The King Never Smiles ข้อมูลบิดเบือนที่ถูกนำมาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ : ตอนที่ 3

บทความวิเคราะห์หนังสือ The King Never Smiles โดย ทุ่นดำ-ทุ่นแดง
ที่มา : ทุ่นดำ-ทุ่นแดง หักล้างทฤษฎีในหนังสือ The King Never Smiles ของ Paul Handley และงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง ด้วยเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยของ CIA!

ในตอนนี้ พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง จะชวนมาขบคิดวิเคราะห์ว่าหนังสือ The King Never Smiles กับงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง มีความคล้ายคลึงกันในจุดใดอีก รวมไปถึงจะขอตีโต้ข้อเสนอหลักบางส่วนของ The King Never Smiles ให้ตกไป เพื่อทำให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีปัญหาในข้อเสนอและการใช้หลักฐานอย่างไร รวมไปถึงข้อสรุปของพวกเราเองที่ว่า The King Never Smiles เป็นหนังสือที่มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการน้อยแต่เพียงไรด้วย

ส่วนที่ 1 ข้อเสนอทางวิชาการอันบิดเบี้ยวของ The King Never Smiles ในประเด็นที่ว่า “ในหลวงร่วมมือกับพวกทหาร ล้มล้างประชาธิปไตยไทยมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา”

เราขอเริ่มต้นจากการที่ว่า The King Never Smiles เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เสนอทฤษฎีที่ว่า “การรัฐประหารที่ผ่านมานั้น รัชกาลที่ 9 คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด” หรือ ถ้าจะกล่าวให้ชัด Paul Handley กำลังชี้ให้เห็นว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นจุดศูนย์กลางของความพินาศทั้งปวงของการเมืองไทย” (ผ่านการสนับสนุนการรัฐประหาร)

โดยเราสามารถสังเกตได้จากที่ Paul Handley ผู้แต่ง The King Never Smiles ได้เขียนไว้โดยใช้ถ้อยทำที่กระแหนะกระแหนรัชกาลที่ 9 ในหน้าที่ 10 ว่า …

“เรื่องราวของประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มักเป็นเรื่องที่ว่ารัชกาลที่ 9 และบรรดาพวกเจ้าที่แวดล้อมพระองค์ได้ประสพกับความสำเร็จ … ทุกเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 1932 (ปฏิวัติ พ.ศ.2475 – ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) เป็นต้นมา มักมองข้ามบทบาทสำคัญของฝ่ายวังในฐานะเป็นตัวแสดงอันสำคัญทางการเมือง บางคนถูกทำให้มืดบอดด้วยเรื่องราวที่ซาบซึ้งน่าประทับใจของระบอบกษัตริย์ และหลายคนก็ถูกเล่นงานด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรื่องราวเลยถูกทำให้เป็นประหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์นั้นช่างเห็นแก่ส่วนรวม ทรงผดุงความยุติธรรม และไม่ยุ่งการเมืองเอาเสียเลย”

ข้อความต้นฉบับ คือ “Much of Thailand’s course following World War II revolves around how Bhumibol and the princes surrounding him achieved such a feat … Virtually every history of Thailand from 1932 onward omits the palace as a political actor. Some are blinded by the romance of monarchism, and others are cowed by the archaic lèse-majesté statute. The result is an unchallenged mythology of a selfless, just, and apolitical king.”

จากข้อความข้างต้นในหน้า 10 ดังกล่าว ต่อมาเขาได้สรุป (อย่างทึกทักไปเอง) เอาไว้ว่า …

“ท่ามกลางบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัชกาลที่ 9 คือพระมหากษัตริย์ที่แข็งขันทางการเมืองมากที่สุด และแทรกแซงงานของรัฐบาลอยู่ตลอด”

ข้อความต้นฉบับ คือ “Among the world’s constitutional monarchs he was perhaps the most politically active, regularly intervening in the affairs of government.”

นอกจากนี้ Handley ยังอ้างด้วยว่า รัชกาลที่ 9 มองว่าระบบรัฐสภานั้นไม่ได้ผลและไม่เหมาะกับเมืองไทย แต่ต้องใช้ธรรมราชาเท่านั้น ทำให้ Handley สรุปว่า “รัชกาลที่ 9 ร่วมมือกับฝ่ายวังและเหล่านายพลในการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า”

ข้อความต้นฉบับ คือ “To this end, Bhumibol partnered the palace with a series of army generals who pockmarked the Ninth Reign with military coups d’état and the serial abrogation of one constitution after another”

เมื่อ Handley ตั้งธงกับรัชกาลที่ 9 ไว้เช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่า เขาคงพยายามสรรหาหลักฐานหรือเอกสารใดๆ ที่จะมาสถาปนาให้ข้อเสนอของเขาเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เป็นไปได้ว่าอาจจะเพราะความอ่อนด้อยทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยของเขา ทำให้เมื่อหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมาแล้ว กลับพบไปด้วยข้อผิดพลาด รวมถึงข้อเสนอหลักที่บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง และไม่สอดคล้องกับหลักฐานสำคัญชิ้นอื่นๆ ที่สมควรนำมาเทียบด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) จะนำเสนอต่อไปในส่วนท้ายของบทความชิ้นนี้

โดยภาพรวมแล้ว หากเราพิจารณาข้อเสนอของทั้งงานณัฐพลฯ และ Handley จะพบว่าทั้ง 2 มีความพยายามที่คล้ายกัน คือ การขับเน้นให้ศูนย์กลางทางการเมืองอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งงานของ Handley นั้นจะเน้นบทบาทของรัชกาลที่ 9 เพียงพระองค์เดียว ส่วนของณัฐพลนั้นจะฉายให้เห็นว่ามีใครบ้างที่มาเกี่ยวข้องกับการสร้างบทบาทของพระมหากษัตริย์

ซึ่งถ้าหากเราศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้ให้ดี จะพบว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ไม่ได้อยู่ที่กลุ่มเจ้าหรือรัชกาลที่ 9 เพียงคนเดียวเลย

และถึงแม้งานทั้ง 2 จะคล้ายกัน แต่งานของณัฐพลฯ กลับมีลักษณะย้อนแย้งงานของ Handley ไปในตัวเสียด้วย !

การตั้งข้อเสนอที่ให้รัชกาลที่ 9 มีความแข็งขันและแทรกแซงทางการเมืองนั้น ทำให้นำไปสู่ข้อสรุปว่า
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา) ทั้งหมดเคลื่อนโดยมีพระองค์เป็นผู้ขับเคลื่อนเพียงคนเดียว (ประหนึ่งว่ากำลังโยนความผิดพลาดทางการเมืองทุกอย่างให้พระมหากษัตริย์)

แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว Handley จะอธิบายอย่างไรกับกรณี 14 ตุลา 2516 ที่นักศึกษาลุกฮือโดยได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามทั่วประเทศ ส่วน 6 ตุลา 2519 นักศึกษากลับถูกปราบปราม หรือเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 และรัฐสภารวมไปถึงกลุ่มทหารทั้งหมด Handley กลับจัดให้อยู่ใต้รัชกาลที่ 9 ทั้งหมด โดยไม่ได้คำนึงว่ารัชกาลที่ 9 ก็ต้องประสบปัญหาในการตัดสินพระทัยทางการเมือง (อย่างถูกบีบบังคับ) เช่นเดียวกัน

ดังปรากฏว่าพระองค์เคยให้สัมภาษณ์ถึงความหลังเมื่อสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ New Strait Times วันที่ 22 พฤษภาคม 1992 ไว้ว่า …

“เมื่อข้าพเจ้าเปิดปากและแนะนำอะไรบ้าง พวกเขาก็จะกล่าวว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ไม่ทราบอะไรเลย ข้าพเจ้าจึงต้องปิดปาก เมื่อพวกเขาไม่อยากให้ข้าพเจ้าพูด ข้าพเจ้าก็ไม่พูด”

ข้อความต้นฉบับ คือ “When I’d open my mouth and suggest something, they’d say: “ Your Majesty, you don’t know anything.” So I shut my mouth. They don’t want me to speak, so I don’t speak.”

รวมทั้งกรณีที่กลุ่มคณะราษฎรกุมอำนาจทางการเมืองไว้กับตนเอง และเครือข่ายญาติพี่น้อง และพรรคพวกกว่า 15 ปี (พ.ศ. 2475 – 2490) แต่ Handley กลับมองข้าม (omit) การเป็นศูนย์กลางของการเมืองไทยของพวกคณะราษฎรออกไปอย่างหน้าตาเฉยเสียเอง ทั้งๆ ที่พวกคณะราษฎรสำแดงออกอย่างชัดเจนถึงการเป็นกลุ่มการเมืองที่มีพลังและมีความสำคัญต่อกันและกัน อันเป็นชนวนไปสู่การปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงตั้งแต่ พ.ศ. 2476 เป็นต้นมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หรือกรณีชาวสยามเอง อเมริกันชนอย่าง Handley ก็กลับดูถูกอย่างเสียหายว่า “คนสยามไม่รู้เรื่องและไม่ตื่นตัวทางการเมือง” ไว้หลายจุดในหนังสือ แต่เขากลับลืม (หรือไม่รู้เลย) ว่าก่อนหน้าในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาโดยเฉพาะรัชกาลที่ 7 กลุ่มชาวบ้านมีความตื่นตัวต่อชีวิตความเป็นอยู่และการเมืองทั้งจากบันทึกของทูตต่างประเทศและการฎีกาโดยตรง (ประเด็นนี้หากใครสนใจ ขอให้ทุกท่านอ่านหนังสือวิชาการที่แท้จริงในประเด็นการตื่นตัวของประชาชนสามัญก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 อย่างละเอียดและเป็นวิชาการจนไม่มีใครกล้าคัดค้าน ใน หนังสือ “การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)

น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่นักวิชาการบางคน ที่ยกย่องหนังสือ The King Never Smiles อย่างออกหน้าออกตา กลับไม่มีใครออกมาโต้แย้งประเด็นที่ว่า Handley ได้ดูถูกคนไทยด้วยกันเองว่าไม่รู้เรื่องทางการเมือง แต่ปากตัวเองกลับบอกว่าอยากให้มีการเขียนประวัติศาสตร์เป็นของประชาชน ที่สามัญชนต้องเป็นประธานของประวัติศาสตร์เสียเอง นักวิชาการเหล่านี้ช่างเป็นพวกย้อนแย้งเสียจริง

ส่วนที่ 2 การเอาหลักฐานชั้นต้นมาล้มล้างข้อเสนอจากหลักฐานชั้นรองของ The King Never Smiles

Handley ได้พยายามปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า เอกสารสำคัญหลายชิ้นล้วนกล่าวไปในทำนองสอดคล้องพ้องกันว่า รัชกาลที่ 9 ได้วางพระองค์และทรงปฏิบัติบทบาทได้อย่างเหมาะสม ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังบันทึกเอกสารของหน่วยงานข่าวกรองแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CIA รหัส CIA-RDP86T00608R000600170028-9 (เป็นเอกสารระหว่าง พ.ศ. 2490-2500) ดังนี้

  1. ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขวิกฤตในอนาคต พร้อมกับการที่พระองค์ทรงละเว้นจากการเข้าไปมีส่วนทางการเมืองในยามปกติ และปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย

    “Though aloof from day to day politics, he retains the potential for effective intervention in an immediate, short-term crisis, and could again be valuable in defusing a dangerous situation”

  2. เอกสาร CIA รหัสเอกสาร CIA-RDP79T00975A000500520001-8 บันทึกว่า แม้สถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นที่เทิดทูนของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มพลังใดที่กล้าพอจะก้าวมาสนับสนุนพระองค์ในการต่อสู้กับผู้นำทหารในรัฐบาล

    “Although veneration of the monarchy is widespread in Thailand, no effectively organized force has yet come forward to support the King in his struggle with the military leaders.”

    เมื่อเอกสารร่วมสมัย (พ.ศ. 2490-2500) จากการประมวลด้วยหลักวิชาการของหน่วยงานข่าวกรองระดับโลกระบุไว้เช่นนี้ และเมื่อได้ไปเทียบกับเอกสารอันเบาบางและเลือกข้างที่ Handley นำมาใช้อ้างอิงเขียนหนังสือ รวมถึงบุคคล (คนไทย) ที่เขาได้ไปสัมภาษณ์มา ซึ่งเราก็มั่นใจว่า ไม่ใช่คนที่มีความรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 มากมายแต่อย่างใด

    ดังนั้น ข้อเสนอโดยทั่วไปอันเป็น plot เรื่องสำคัญของ Handley ในประเด็นความร่วมมือระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับรัฐบาลทหาร ในการพยายามที่จะขัดขวางประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอด จึงเป็นข้อเสนอที่ “ไม่อิงกับหลักฐานอย่างครบถ้วนและซื่อตรง” ซึ่งนอกจากจะแย้งกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยกระแสทั่วไปแล้ว ก็ยังขัดแย้งกับข้อมูลของ CIA เองด้วย

  3. นอกจากนี้ยังมีบันทึก CIA รหัสเอกสาร CIA-RDP79R00890A000900010020-5 ซึ่งเป็นรายงานสถานการณ์ทางการเมืองในหลังช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ว่า …

    “พระมหากษัตริย์และเหล่ารอยัลลิสต์ต้องระวังไม่ให้ยั่วยุต่อผู้หิวกระหายในเงินและอำนาจ เพราะพวกเขาคือผู้มีอำนาจที่แท้จริงในประเทศไทย ทั้งนี้ เหล่ารอยัลลิสต์ต้องหวังพึ่งสฤษดิ์ มากกว่าที่สฤษดิ์ต้องหวังพึ่งพวกเขา”

    “King and royalists will have to be careful, however, not to provoke the power-and-money-hungry men in whose hands rests the real power in Thailand—the royalists need Sarit much more than Sarit needs them”

  4. อีกตอนหนึ่ง เอกสาร CIA รหัส CIA-RDP85T00353R000100020006-8 ยังได้บันทึกไว้อย่างน่าตกใจ และเป็นการล้มล้างข้อเสนอของ Handley ไปเลยว่า …

    “พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 เป็นบทบาทใหม่ทั้งส่วนพระองค์และของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเวลานี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ประหนึ่งเป็นนักโทษกลายๆ ภายใต้การควบคุมของพวกทหาร นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา”

    “This is a new role for Phumiphon personally and for the monarchy, which had been the virtual prisoner of the military since the absolute monarch, King Prachathipok, was overthrown in 1932.”

  5. เหนืออื่นใด เอกสารของ CIA รหัส CIA-RDP98-00979R000400300001-4 ในหัวข้อ “Probable development in Thailand” ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ซึ่งเราถือว่าเป็นเอกสารชิ้นสำคัญ ได้สรุปสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2500 ที่ระบุข้อความอันเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับงานวิชาการทั่วไปที่บุคคลต่างๆ ที่ได้ศึกษาบทบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทำไว้

    แต่น่าแปลกใจว่าเอกสาร CIA ชิ้นนี้ กลับขัดแย้งอย่างรุนแรงกับข้อเสนอเรื่องบทความของรัชกาลที่ 9 ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของทั้ง Handley และ ณัฐพล ใจจริง ดังข้อความในรายงานว่า …

    “พระมหากษัตริย์ทรงมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ (ของประเทศ) แต่พระราชอำนาจที่แท้จริงของพระองค์กลับมีน้อยมาก ในสภาแห่งชาติกลับเต็มไปด้วยพรรคพวกของคณะรัฐประหาร 2490 และคณะรัฐมนตรีก็ประกอบไปด้วยนายทหารยศสูง ๆ เกือบทั้งสิ้น”

    “The King is important as a symbol but has little real power, the national assembly is dominated by the coup group, and the cabinet is composed almost entirely of ranking officers.”

จากเอกสารทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า มุมมองของ CIA นั้นมองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในช่วงเวลานั้น (พ.ศ.2500) ไม่ได้มีพระราชอำนาจมากมายอะไรเลย ซึ่งแย้งกับข้อเสนอของ Handley อย่างเด็ดขาด

ดังนั้น เราจึงวิงวอนให้ท่านตัดสินใจว่า นับแต่นี้ต่อไป The King Never Smiles ควรจะเป็นหนังสือที่น่าเชื่อถือได้อีกหรือไม่ ? และถ้าใครจะคัดค้านข้อเสนอของเรา ก็เท่ากับคัดค้าน CIA ด้วย ซึ่งถ้าหากถามความเห็นของเรา เรามั่นใจว่ากระบวนการวิเคราะห์ประมวลของ CIA ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรองระดับโลกย่อมมีความน่าเชื่อถือว่า Handley ซึ่งเป็นเพียงแต่นักข่าวธรรมดาอย่างแน่นอน

[ตอนที่ 1 ประเด็นการใช้หลักฐานอ้างอิงบางส่วนในหนังสือ The King Never Smiles]

[ตอนที่ 2 ความคล้ายคลึงของเนื้อหาในหนังสือของ Paul Handley กับ ผลงานของ ณัฐพล ใจจริง]

[ตอนที่ 3 ทุ่นดำ-ทุ่นแดง หักล้างทฤษฎีในหนังสือ The King Never Smiles ของ Paul Handley และงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง ด้วยเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยของ CIA!]

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r