ตีแผ่คำโกหกของนักวิชาการนายู คลี่คลายปริศนาการหายตัวลึกลับของ ‘ต่วนลือเบะห์’ รายามูดาเมืองรามันห์คนสุดท้าย

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมืองรามันห์ (Reman) ในอดีตเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองมลายูภายใต้การปกครองของสยามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยแต่เดิมเคยเป็นเมืองที่ขึ้นตรงกับอาณาจักรปัตตานี (ปตานี) ก่อนที่ปัตตานีจะเสียเอกราชให้แก่สยามอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2329

ไม่มีหลักฐานปรากฏว่า เมืองรามันห์ในฐานะเมืองภายใต้สังกัดปัตตานีกำเนิดขึ้นเมื่อใด หากแต่เมื่อรามันห์ได้ตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของสยามโดยตรงผ่านเจ้าเมืองสงขลาแล้ว การแต่งตั้งรายา (เจ้าเมือง) รามันห์นั้น การตัดสินใจสุดท้ายล้วนเป็นของรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ หาใช่การปกครองตัวเองแบบอิสระแต่อย่างใด

ภายหลังจากสงครามนโปเลียนเกิดขึ้นและจบลงในยุโรป ความต้องการใช้ดีบุกในอุตสาหกรรมการสงคราม การขนส่ง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เพิ่มพูนมากขึ้นตามกระแสความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้หัวเมืองทางใต้ ทั้งภูเก็ต พังงา กระทั่งเมืองรามันห์ ที่อุดมไปด้วยแร่ดีบุกมากมาย พลอยได้รับอานิสงส์จากความต้องการดีบุกของคนทั้งโลกไปด้วย ทำให้ภายในช่วงระยะไม่นานนัก รายารามันห์ (เจ้าเมืองรามันห์) ได้กลายมาเป็นเจ้าเมืองที่มั่งคั่งเนื่องจากการค้าขายดีบุก (ผ่านสงขลาและกรุงเทพฯ) กระทั่งว่ารามันห์กลายเป็นเมืองที่มีอำนาจและความรุ่มรวยสูงกว่าเมืองมลายูอีก 6 เมืองเสียอีก (ตานี สายบุรี ยะหริ่ง ยะลา ระแงะ หนองจิก)

ด้วยความต้องการของแร่ดีบุกที่สูงมากขึ้นนี้ ทำให้เมืองรามันห์มีศัตรูคู่แค้นในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนแถบฮูลูเปรัค (ต้นน้ำเปรัค หรือบริวณอำเภอบันนังสตา ธารโต และเบตงของจังหวัดยะลาในปัจจุบัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุลต่านไทรบุรี และสุลต่านเปรัค ที่มักจะทำสงครามแย่งชิงพื้นที่เหมืองบริเวณฮูลูเปรัคบ่อยครั้ง จนเกิดเป็นสงครามระหว่างเมืองมลายูกันเอง ซึ่งมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากแม้กระทั่งชนชั้นสูงของเมืองเปรัคเอง

สงครามระหว่างเมืองมลายูได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และจบลงที่ชัยชนะของเมืองรามันห์ อย่างไรก็ดี สุลต่านเปรัคก็ยังพยายามอ้างสิทธิ์เหนือฮูลูเปรัคอยู่ดี แต่เรื่องขัดแย้งนี้ก็จบลง จากการทำสนธิสัญญารับรองระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับสยาม ในปี พ.ศ. 2442 โดยตกลงกันว่า ให้ดินแดนฮูลูเปรัคบริเวณอำเภอบันนังสตา ธารโต และเบตง กลายเป็นดินแดนของ “สยาม” ซึ่งเท่ากับว่า เมืองรามันห์ได้สิทธิ์ความชอบธรรมนี้ต่อไปในฐานะ “เจ้าท้องถิ่น” ผู้ควบคุมดูแลผลประโยชน์ ทว่าอย่างไรก็ดี ผู้ควบคุมกิจการผลประโยชน์ที่แท้จริงในส่วนนี้ คือรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ และสงขลา

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2444-2445 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครองตั้งมณฑลปัตตานี ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองระหว่าง สยาม บรรดาเจ้าเมืองมลายู 7 หัวเมือง และ อังกฤษ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สยามพยายามปฏิรูประบอบศักดินามลายู (เกอราจาอาน) ที่ล้าหลัง ให้เป็นระบอบรัฐราชการที่ทันสมัยเช่นอารยประเทศ แต่ก็เกิดกระแสการต่อต้านขึ้นกับทุกเมืองมลายู ยกเว้นเมืองหนองจิกและยะหริ่ง ซึ่งมีเจ้าเมืองที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสยาม

สำหรับเมืองรามันห์นั้น แม้ว่ารายารามันห์ นั่นก็คือ ต่วนยาฆง (Tuan Jagung) ผู้เป็นมิตรกับสยามจะยังมีชีวิตอยู่ แต่เขาก็ชราภาพมากแล้ว และได้ยกกิจการต่างๆ ให้กับบุตรชายคนโตผู้มีสิทธิอันชอบธรรม นั่นก็คือ “ต่วนลือเบะห์ หลงรายา” (Tuan Lebeh Longraja) ในฐานะรายามูดา (Raja muda) หรือผู้ช่วยเจ้าเมือง ซึ่งตำแหน่งราชการของไทยของต่วนลือเบะห์คือ “หลวงรายาภักดี”

อย่างไรก็ดี ต่วนลือเบะห์ กลับมีความแตกต่างจากพ่อ เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่ต่อต้านสยามเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นนายเจ้าท้องถิ่นที่เลวทราม มีนิสัยเป็นอันธพาล ชอบกลั่นแกล้งราษฎรให้ตกที่นั่งลำบาก ดังปรากฏในรายงานของพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ร.ศ.120 ว่า …

“… เวลาข้าวของราษฎรในนาตั้งกอหรือออกรวง ช้างของผู้ว่าและของรายาภักดี ผู้ช่วย แกล้งขี่ แกล้งปล่อยให้กินข้าวตามในนาของราษฎร จะฟ้องร้องต่อผู้ใดก็ไม่ได้ ถ้าช้างนี้มีบาดแผลหรือไม่มีบาดแผล ก็ภาโลปรับไหม ลงเอาเงิน เป็นเงินหกสิบเหรียญบ้าง แปดสิบเหรียญบ้าง ชัก (ยึดเอาไป – ผู้เขียน) โคกระบือบ้าง …”

เอกสารยังระบุต่อไปว่า ต่วนลือเบะห์ (หลวงรายาภักดี) ยังใช้อำนาจกดขี่ราษฎรทั่วทุกที่ตามแต่จะได้โอกาส บางครั้งหากเขาพอใจหญิงสาวคนใดก็จะไปฉุดคร่าเอามา ยิ่งกว่านั้น เขายังเป็น “ฆาตกร” หรือ “ผู้ร้ายฆ่าคน” ในสายตาประชาชนอีกด้วย ดังเช่นเรื่องเล่าของนายลออ บุญมี ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา กรณีต่วนลือเบะห์ได้ออกคำสั่งให้ผ่าท้องชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงท้องแก่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าหญิงคนนั้นได้กินขนุนเนื้อดีที่มีคนจะนำไปถวายตนใช่หรือไม่ หรือการสั่งฆ่าคนตามใจชอบ เช่นการสั่งยิงคนให้ตายเป็นว่าเล่นเพราะเห็นเป็นของสนุก เป็นต้น

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ค้นพบเอกสารของทางรัฐบาลสยาม ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร ที่จะมายืนยันถึงพฤติกรรมอันแสนชั่วร้ายของ ต่วนลือเบะห์ รายามูดาคนสุดท้ายของเมืองรามันห์ ซึ่งทำให้เขาต้องตกเป็นนักโทษคดีอาญาและถูกส่งตัวไปรับโทษที่สงขลา ในปี พ.ศ. 2445 (ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา) ดังที่ปรากฏในรายงาน “เรื่องหลวงรายาภักดีฆ่าอำแดงแมะเอาะเซาะตาย โดยหาว่าเป็นสื่อชักภรรยาหลวงรายาภักดีไปให้กับแขกแมะเราะกระทำชู้กัน – ร.ศ.119” โดยเนื้อหาภายในหลักฐานระบุว่า ต่วนลือเบะห์ได้บันดาลโทสะใช้ “กริช” (มีดแบบมลายูชนิดหนึ่ง) แทงเข้าไปในร่างของ “แมะเอาะเซาะ” (หญิงผู้ถูกหาว่าอยู่เบื้องหลังการคบชู้ของภรรยาต่วนลือเบะห์) จนถึงแก่ชีวิต

ในสายตาของรัฐบาลสยาม ต่วนลือเบะห์จึงถือเป็นผู้ร้ายฆ่าคนและบุคคลไม่พึงประสงค์ของรัฐบาลสยาม แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้มากนัก เนื่องจากเกรงว่าหากรัฐบาลตัดสินกระทำการอย่างรุนแรงทันที จะทำให้อังกฤษซึ่งปกครองรัฐมลายูทางใต้สยามลงไป เกิดความไม่พอใจและอาจเข้าแทรกแซงทางการเมืองบริเวณ 7 หัวเมืองภาคใต้ได้

แต่ต่อมา ในปี พ.ศ. 2445 ต่วนลือเบะห์ในฐานะผู้แทนเมืองรามันห์ ได้สมคบกับพระยาตานี (เต็งกู อับดุล กาเดร์ กามารุดดิน) พระยาสายบุรี (เต็งกู อับดุล มุตตอแลบ) และพระยาระแงะ (เต็งกูซัมซุดดิน) ก่อกบฏกับรัฐบาลสยามอย่างเปิดเผยเพื่อต่อต้านการปฏิรูปการปกครอง ทำให้รัฐบาลต้องเข้าจับกุมตัวบุคคลเหล่านั้นทั้งหมด โดยพระยาตานีได้รับโทษสถานหนักที่สุด คือถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง (ซึ่งแต่งตั้งโดยสยาม) แล้วนำตัวไปคุมขังที่จังหวัดพิษณุโลก

ส่วนกรณีของต่วนลือเบะห์นั้น หนังสือพิมพ์ The Straits Times ของสิงคโปร์ ฉบับวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2445 ได้รายงานว่า …

“… ทันทีที่ทราบว่ารัฐบาลต้องการจะจับตัวเขา (ทั้งจากข้อสมคบก่อความไม่สงบและเป็นผู้ร้ายฆ่าคน – ผู้เขียน) ต่วนลือเบะห์ได้หนีข้ามพรมแดนเปรัคภายใต้การปกครองของอังกฤษ พร้อมกับผู้ติดตามของเขาจำนวนหนึ่ง โชคไม่ดีนักต่อมาเขาได้ทราบข่าวว่าบิดาของเขา คือ รายาเมืองรามันห์ (ต่วนยาฆง) ได้ถึงแก่ความตาย ต่วนลือเบะห์ได้เดินทางกลับมายังเมืองรามันห์ และถูกจับตัวโดยพระยาหนองจิกในท้ายที่สุด … ข้าหลวงใหญ่สงขลามีบัญชาให้นำตัวต่วนลือเบะห์ไปยังสงขลา ก่อนที่เขาจะถูกนำตัวลงสู่เรือชื่อ ‘จำเริญ’ เพื่อนำตัวปรับโทษที่กรุงเทพต่อไป … แต่หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ข้าหลวงสยามได้ประกาศให้แก่ประชาชนในเมืองกลันตันทราบว่า ‘จำเริญ’ ได้อับปางลงแถวๆ เมืองนครศรีธรรมราช … ทั้งนี้ รัฐบาลสยามประกาศอย่างเป็นทางการว่า ต่วนลือเบะห์ รายามูดาเมืองรามันห์ ถูกทางสยามจับตัวได้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2445”

อย่างไรก็ดี ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ปรากฏเช่นนี้ แต่ข้อมูลจากหนังสือทางมลายูบางเล่ม อาทิ “ปาตานี : ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” กลับระบุถึงเหตุการณ์นี้โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงว่า …

“… ต่วนลือเบะห์ หลงรายา รักษาราชการเมืองรามันห์ ก็ถูกจับกุมตัวไว้ที่เมืองสงขลาด้วยข้อกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย ถูกศาลสั่งจำคุก 20 ปี หลังจากนั้นท่านก็ถูกควบคุมตัวลงเรือที่ชื่อว่าจำเริญ นำตัวท่านมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ

แต่ระหว่างเดินทางท่านก็สูญหายโดยไม่ทราบชะตากรรม บ้างก็ว่า ท่านเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วศพก็ถูกทิ้งลงทะเล

ข้อความในย่อหน้าสุดท้ายนี้ ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อรัฐบาลสยาม ที่ผู้แต่งหนังสือจะกล่าวความเท็จใดๆ ได้โดยปราศจากหลักฐานอ้างอิง เป็นความจริงที่ว่า ต่วนลือเบะห์เป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย (และไม่ได้ฆ่าแค่คนเดียว) แต่การจงใจกล่าวถึงสาเหตุการตายของเขาให้เป็นปริศนา และโทษเป็นนัยว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลสยามนั้น ดูจะไม่ใช่แนวทางการเขียนประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ

นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว บทความ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องเล่าจากดินแดนปาตานี” ที่ปรากฏในหนังสือ “รวมบทความศึกษาสถานภาพทางประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ (2559)” ซึ่งบทความดังกล่าวเขียนโดย ฮาซัน ยามาบุดี และคณะ ได้ระบุว่า ต่วนลือเบะห์โดนรัฐบาลสยาม “หลอก” และถูกทำให้หายตัวไปอย่างลึกลับ หลังถูกทางการไทยนำตัวไปยังกรุงเทพมหานคร ซ้ำร้าย บทความดังกล่าวยังระบุว่า ต่วนลือเบะห์มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับรัชกาลที่ 5 อีกทั้งรัชกาลที่ 5 กับต่วนลือเบะห์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (ต้นฉบับเขียนว่า รุ่นราวคราวเดียวกับรัชกาลที่ 8 ตรงนี้อาจจะพิมพ์ผิด เพราะแป้นพิมพ์เลข 5 กับ 8 อยู่ติดกัน – ผู้เขียน) ซึ่งข้อความในส่วนนี้ ไม่มีหลักฐานอ้างอิงแต่อย่างใด และผู้เขียนเชื่อว่า เป็นการแต่งประวัติศาสตร์ขึ้นเองโดยเจ้าของบทความนี้ด้วย

เพราะบทความดังกล่าว ขัดแย้งกับหลักฐานชั้นต้นที่ปรากฎในพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 24 มีนาคม ร.ศ.119 ต่อกรณีหลวงรายาภักดี (ต่วนลือเบะห์) ฆ่าอำแดงแมะเอาะเซาะตาย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสว่า …

“… ถ้าเห็นเป็นเวลาสมควรที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการก็ควรที่จะเอะอะตึงตัง ถ้าว่ายังไม่ต้องการ ก็ควรจะผ่อนผันให้เป็นแต่พอประมาณก่อน การในเมืองแขกต้องอาศัยอย่าให้พวกแขกเป็นการสะดุดใจได้เป็นการดี …”

จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแสดงออกในลักษณะเห็นอกเห็นใจ เข้าข้าง หรือแสดงความสนิทชิดเชื้อกับต่วนลือเบะห์ในกรณีฆ่าคนตายเลย ดังนั้น การอ้างว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 กับต่วนลือเบะห์มี “ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ขาดความน่าเชื่อถืออย่างแน่นอน

อ้างอิง :

[1] จุรีรัตน์ บัวแก้ว. วัง 7 หัวเมือง. งานวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. (2540).
[2] The Straits Times, 24 September 1902.
[3] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. การปกครองหัวเมืองภาคใต้ทั้ง 7 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์แผนกอักษรศาสตร์มหาบันทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2519.
[4] ครองชัย หัตถา. ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์) 2552.
[5] จีรวุฒิ บุญรัศมี. “ปา-ตา-นี : ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง” ใน “ฟ้าเดียวกัน” ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2563.
[6] หจช. ม.ร.5ม/50/2 เรื่องหลวงรายาภักดีฆ่าอำแดงแมะเอาะเซาะตาย โดยหาว่าเป็นสื่อชักภรรยาหลวงรายาภักดีไปให้กับแขกแมะเราะกระทำชู้กัน ร.ศ.119.
[7] สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ (บรรณาธิการ). หนังสือรวมบทความศึกษาสถานภาพทางประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. 2559.
[8] อารีฟิน บิจจิ และคณะ. ปาตานี : ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. (สงขลา : มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม ภาคใต้) 2558.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า