‘ดิ่น ท่าราบ’ผู้ปฏิเสธคณะราษฎรเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง ‘ยึดอำนาจ’พระเจ้าอยู่หัว

พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เกิดที่ตำบลท่าราบ จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2434 ถึงแม้จะมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน แต่ด้วยความเปิดกว้างทางสังคม ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานโอกาสให้คนไทยได้มีสิทธิเท่าเทียมกัน และด้วยความที่การสอบชิงทุนไปเรียนในทวีปยุโรปวัดกันที่ความสามารถ ไม่ได้วัดกันที่ชาติกำเนิด ทำให้ พระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อย ที่จบการศึกษาอันดับที่ 1 ของรุ่น ได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่จักรวรรดิเยอรมันรุ่นเดียวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาทรงสุรเดช และพระยาพหลพลพยุหเสนา จบการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยปรัสเซียในกรุงเบอร์ลิน และมีความสนิทสนมกัน จนได้รับฉายาจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ว่าเป็น “สามทหารเสือ” เช่นเดียวกับสามทหารเสือในนวนิยายของอาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา

เนื่องจากบิดาของนายประยูร ภมรมนตรี (หนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475) คือ พลโท พระพรรฤกสรศักดิ์ (แย้ม ภมรมนตรี) เคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำเบอร์ลิน และมีภรรยาเป็นชาวเยอรมันชื่อ เออร์แนลลี่ ดังนั้นนักเรียนทุนที่จะไปเรียนต่อในเยอรมันจึงต้องมาเรียนภาษากับพระพรรฤกสรศักดิ์ จึงทำให้นายประยูร ภมรมนตรี รู้จักมักคุ้นกับบรรดานักเรียนทุนแต่ละคนเป็นอย่างดี

นายประยูร ภมรมนตรี เป็นคนกลางที่คอยเชื่อมกับเหล่านักเรียนไทยในยุโรป เพื่อสร้างเครือข่ายสำหรับเตรียมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพระยาศรีสิทธิสงครามอยู่ด้วย แต่พระยาศรีสิทธิสงครามไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้กำลังยึดอำนาจ และเมื่อรู้ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนากับพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่ก็สัญญาว่าจะไม่เปิดเผยความลับ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระยาทรงสุรเดชผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎร ได้รวบอำนาจและควบคุมตำแหน่งทางทหารไว้ทั้งหมด รวมทั้งได้ชูนโยบายจัดรูปแบบกองทัพใหม่ โดยจัดกองทัพแบบสวิส ให้เป็นกองกำลังระดับกองพันเพื่อไม่ให้มีทหารยศนายพล

จากนั้นพระยาทรงสุรเดชในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกคำสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิสงครามไปกระทรวงธรรมการ นัยว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ยอมเข้าร่วมการปฏิวัติ อีกทั้งยังสั่งยุบหน่วยงาน และปลดทหารแทบทุกวัน รวมไปถึงสั่งเลิกทหารเหล่าเสนาธิการ และตั้งโรงเรียนรบขึ้นแทน ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ได้รู้เห็นด้วย จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง พระยาทรงสุรเดชได้ใช้อำนาจยกเลิกคำสั่งของพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทำให้พระยาพหลฯ โกรธจนเอามีดปังตอไล่ฟันพระยาทรงสุรเดชกลางวังปารุสก์

ความแตกแยกของทหารชั้นผู้ใหญ่ในคณะราษฎรนี้เอง ทำให้พระยาทรงสุรเดชหันไปร่วมมือกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อลดทอนอิทธิพลของพระยาพหลพลพยุหเสนา แล้วชักชวนให้พระยาฤทธิอัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธ (กลุ่มสี่ทหารเสือคณะปฏิวัติ) ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้พระยาพหลพลพยุหเสนาต้องลาออกตามไปด้วย

เมื่อความระหองระแหงทำให้กลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะราษฎรเริ่มหมดอิทธิพล หลวงพิบูลสงคราม หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ได้วางแผนขอให้นายประยูร ภมรมนตรี ติดต่อเชิญพระยาพิชัยสงครามเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก และพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นเสนาธิการทหารบก และตัวของหลวงพิบูลสงครามเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเรื่องนี้พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่คัดค้าน จึงเป็นอันตกลงกันได้ และได้เสนอชื่อทูลเกล้าฯ ให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้ง

เมื่อกลับสู่กองทัพ พระยาศรีสิทธิสงครามได้เตรียมสั่งย้ายนายทหารสายคณะราษฎรทั้งหมดออกจากตำแหน่งคุมกำลังพลทันที เมื่อหลวงพิบูลสงครามทราบเรื่องนี้ จึงนำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นับเป็นการรัฐประหารที่คณะราษฎรสายทหารแย่งอำนาจสายพลเรือนเป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นหลวงพิบูลสงครามก็ได้เชิญพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นอย่างมาก

นายประยูร ภมรมนตรี ได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า … “ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก ท่านจะต้องกำจัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด …”

ในเวลาต่อมารัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เรียกตัวนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฝรั่งเศส ให้กลับมายังสยาม โดยก่อนหน้านั้นนายปรีดีฯ ได้ลี้ภัยชั่วคราวไปยังฝรั่งเศสจากกรณีถูกต่อต้านร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่นายปรีดีฯ เสนอขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้หันไปดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ประกอบกับการที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาในขณะนั้นถือเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำลายประชาธิปไตย และเริ่มมีการเล่นพรรคเล่นพวก เหตุการณ์เหล่านี้ได้กลายเป็นชนวนเหตุให้ข้าราชการบางกลุ่มรวมตัวกันในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” โดยมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออก และจัดให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

คณะกู้บ้านกู้เมืองได้รวบรวมกำลังทหารจากหัวเมืองโดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่นครราชสีมา และเตรียมยกกำลังเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งในระยะแรกมีความเข้าใจกันว่าพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นผู้นำ แต่เมื่อคณะกู้บ้านกู้เมืองยกกองกำลังทหารจากหัวเมืองเข้ามากดดันรัฐบาล กลับปรากฎว่ามีการเสนอชื่อให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำ แทนที่จะเป็นพระยาศรีสิทธิสงคราม จึงทำให้ทหารบางส่วนลังเลที่จะเข้าร่วม เนื่องจากไม่มั่นใจว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช จะคุมอำนาจไปในทิศทางใด เพราะเป็นที่ทราบกันว่าท่านเป็นนายทหารหัวก้าวหน้าที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนที่คณะราษฎรจะลงมือเสียอีก โดยก่อนหน้าเหตุการณ์ปฏิวัติ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้เรียกพระยาพหลพลพยุหเสนาไปคุย แล้วเป็นผู้ชี้แนะให้ใช้วิธีการจับเอาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเป็นตัวประกันด้วยซ้ำ แล้วค่อยประกาศยึดอำนาจ

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 คณะกู้บ้านกู้เมืองนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ได้เคลื่อนกำลังมาประชิดกองกำลังของรัฐบาลที่ทุ่งดอนเมือง และได้เสนอข้อเรียกร้อง 6 ประการ ดังนี้

  1. ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
  2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
  3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ส่วนตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
  4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
  5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
  6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

ในฝ่ายของรัฐบาลนั้น แม้ว่ากำลังทหารฝ่ายพระยาพหลพยุหเสนาจะมีกำลังพลที่น้อยกว่า แต่เนื่องจากหลวงพิบูลสงครามได้ทราบเบาะแสมาบ้างแล้วว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนเพื่อคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน จึงมีการออกคำสั่งก่อนหน้านั้นเพื่อเรียกกระสุนระเบิดจากหน่วยงานทหารในพื้นที่ต่างๆ เข้าคลังแสง ทำให้กองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองมีแต่ระเบิดซ้อมรบ เมื่อเกิดการปะทะกันขึ้น ทหารของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองจึงไม่สามารถสู้กองกำลังของรัฐบาลได้ และต้องค่อยๆ ถอยร่นกลับไปนครราชสีมา

พระยาศรีสิทธิสงคราม ในฐานะแม่ทัพของทหารฝ่ายกู้บ้านกู้เมือง รับหน้าที่เป็นกองระวังหลังให้พระองค์เจ้าบวรเดชถอยร่นกลับไปก่อน จากนั้นจึงนำกองทหารที่เหลือถอยร่นกลับนครราชสีมาด้วยรถไฟ และคอยตรึงกำลังสกัดทหารฝ่ายรัฐบาลตามจุดต่างๆ จนกระทั่งมาถึงจังหวัดสระบุรี กองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้เพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายรัฐบาล ทำให้พระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับสถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี

ร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกส่งกลับกรุงเทพมหานคร โดยทำการฌาปนกิจอย่างเร่งด่วนที่วัดอภัยทายาราม หรือวัดมะกอก โดยที่ทางครอบครัวไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย และกว่าจะได้อัฐิกลับคืนก็เป็นเวลาล่วงไป 3-4 ปีแล้ว

อีกทั้งครอบครัวของพระยาศรีสิทธิสงครามยังถูกคุกคามต่างๆ นานา ตลอดสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเห็นได้จากบุตรสาวคนรองของพระยาศรีสิทธิสงคราม คือ แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ ซึ่งจบการศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2487 รุ่น 49 แต่ไม่สามารถเข้ารับราชการได้ ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นแพทย์ขาดแคลน ทำให้แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ ต้องเข้าทำงานเป็นพนักงานที่ร้านวิทยาศรม ถนนราชดำเนิน จนไม่มีโอกาสได้เป็นหมอ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะแม่ทัพของกองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์กบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย

อ้างอิง :

[1] หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์
[2] ย้อนราก “3 ทหารเสือ” คณะราษฎร ผลผลิตจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนี

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า