ชำระประวัติศาสตร์ ใครคือผู้มอบที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำเนิดมาจาก “สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ในปี พ.ศ. 2442 มีที่ตั้ง ณ ข้างประตูวิเศษไชยศรี ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก ต่อมาภายหลังวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยปฏิรูปบ้านเมือง และทรงมีพระราชดำริว่าข้าหลวงมหาดไทย เทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ควรได้รับการศึกษาด้านรัฏฐประศาสนศาสตร์อันเป็นวิชาสมัยใหม่ เพื่อให้คุ้นเคยกับการบริหาราชการแผ่นดิน ก่อนส่งออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน เป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” ในปี พ.ศ. 2445

การเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงของการปฏิรูปประเทศคือ การแยกทรัพย์สินของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยทรัพย์สินของแผ่นดินจะอยู่ภายใต้การดูแลจัดการของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หรือกระทรวงการคลังในปัจจุบัน) และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังข้างที่ (หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) สังกัดกระทรวงวัง

ซึ่งในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้น มีที่ดินแปลงสำคัญอยู่แปลงหนึ่ง คือที่ดิน “วังกลางทุ่ง” หรือ “พระตำหนักวินเซอร์” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 สร้างพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่ยังไม่ทันได้เสด็จไปประทับก็ทิวงคตเสียก่อน พระตำหนักแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณปทุมวัน ซึ่งต่อมาได้ถูกทุบทำลายเพื่อสร้างสนามศุภชลาศัยในปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อที่จะยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป โดยให้ใช้พระตำหนักวินเซอร์เป็นสถานที่เรียน

ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานเป็นพระราชมรดกในรูปแบบการจัดตั้งกองทรัพย์สินเพื่อเป็นดอกผลให้แก่พระราชโอรส หรือที่เรียกว่าเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา และไม่สามารถขายหรือโอนที่ดินผืนนี้ให้ใครได้ ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ต้องทำสัญญาเช่าที่ดินกับพระคลังข้างที่ โดยกระทำในนามพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ในฐานะที่ทรงถือครองที่ดิน

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพให้ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ โดยตำแหน่งนายกสภาจัดการนี้เทียบเท่ากับนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้ประชุมลงมติกันว่า จะหาสถานที่สร้างโรงเรียนขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นที่ฝึกสอนวิชาทุกแผนกรวมกัน ซึ่งก็คือที่ดินบริเวณปทุมวันนั่นเอง

โดยเงินที่ใช้ก่อสร้างโรงเรียนมาจากเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าจำนวน 982,672.47 บาท ซึ่งมาจากการร่วมมือร่วมใจของราษฎรถวายเงินดังกล่าวเมื่อคราวในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัติพระนครหลังจากการเสด็จประพาสทวีปยุโรป

ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จฯ มาวางศิลาพระฤกษ์ ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์หรืออาคารอักษรศาสตร์ 1 เดิม และมีประกาศพระบรมราชโองการให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่ไว้เป็นเขตโรงเรียน ทิศเหนือจดถนนสระประทุม ทิศใต้จดถนนหัวลำโพง ทิศตะวันออกจดถนนสนามม้า ทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง สิริรวมเนื้อที่ 1,309 ไร่

ในการก่อพระฤกษ์โรงเรียน ได้มีการบรรจุรายการแบบรูปโรงเรียนหลังที่ก่อสร้าง และแผนที่อาณาเขตของโรงเรียน รวมถึงแบบรูปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงเอาไว้ด้วย

การที่พระองค์ทรงให้พระคลังข้างที่กำหนดเขตโรงเรียนและบรรจุแผนที่โรงเรียนไว้ในการก่อศิลาพระฤกษ์นั้น เป็นการแสดงพระราชเจตนารมณ์ที่จะพระราชทานที่ดินนี้ ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภายภาคหน้าเอาไว้อย่างชัดเจน

ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ที่จะศึกษาวิชาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 อันเป็นวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

หลังจากสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ระยะเวลาสิ้นสุด 10 ปี) ได้จบลงในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2465 ทางจุฬาฯ ได้ทำสัญญาเช่าต่อเป็นปีๆ ตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอทำสัญญาเช่ากับพระคลังข้างที่อีกเป็นระยะเวลา 30 ปี ทางพระคลังข้างที่ก็ไม่ขัดข้องและให้แบ่งรายได้ค่าเช่าดังกล่าวให้พระคลังข้างที่โดยถวายค่าเช่าร้อยละ 20 หรือไม่น้อยกว่าค่าเช่าเดิมปีละ 14,400 บาท แล้วแต่ว่ามูลค่าใดจะมากกว่า

เมื่อเข้าสู่สมัยของรัชกาลที่ 8 ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 จอมพล ป. ได้เสนอให้ทบทวนสัญญาเช่าที่ดินระหว่างพระคลังข้างที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางจุฬาฯ จึงได้ทำหนังสือถึงประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอรับพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนดังกล่าว ทั้งขอยกเลิกสัญญาเช่า และขอไม่ชำระหนี้ค้างค่าเช่าที่มีกับพระคลังข้างที่ 7,200 บาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นที่ดินพระราชทานมาตั้งแต่ต้นแล้ว ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีมติส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาหารือข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะสามารถพระราชทานที่ดินให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้หรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้ที่ดินแปลงนี้เป็นเงินบัญชีเลี้ยงชีพของข้าบาทบริจาริกา จนกว่าจะหมดตัวผู้รับสืบทอด เป็นพระบรมราชโองการซึ่งมีฐานะเป็นกฎหมาย หากจะแก้ไขต้องมีการออกเป็นพระราชบัญญัติ

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการแปรญัตติ และพิจารณาเห็นชอบประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2482

จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ผู้ที่พระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ใช่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามที่มีผู้พยายามบิดเบือนข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว จอมพล ป. เป็นเพียงผู้ขอพระราชทานที่ดินเท่านั้น และที่ดินผืนนี้ก็ได้รับการจัดสรรเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด ดังพระราชปณิธานของในหลวงทุกพระองค์นั่นเอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า