ฉันหวังว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอ ที่จะได้เห็นประเทศสยามได้เข้าร่วมในหมู่ชาติต่างๆ โดยได้รับเกียรติ และความเสมอภาคอย่างจริงๆ ตามความหมายของคำนั้นทุกประการ

ฉันหวังว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอ ที่จะได้เห็นประเทศสยามได้เข้าร่วมในหมู่ชาติต่างๆ โดยได้รับเกียรติ และความเสมอภาคอย่างจริงๆ ตามความหมายของคำนั้นทุกประการ

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานตอบลายพระหัตถ์สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ในช่วงที่ในหลวง ร.6 ขึ้นครองราชย์ เป็นช่วงที่อิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มบรรเทาเบาบางลง ขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศสยามมากขึ้น และจากการที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาและเคยประทับอยู่ในอังกฤษมาเป็นเวลานาน ได้ทอดพระเนตรการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั้งยังทรงสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับราชวงศ์และบุคคลสำคัญทางการเมืองของโลกในขณะนั้น สิ่งเหล่านี้นำมาสู่พระราชปณิธานของพระองค์ที่จะพัฒนาบ้านเมืองเพื่อให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ

ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นช่วงที่สยามเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดในหลายด้าน ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศและความมั่นคง รวมไปถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งการละคร และงานวรรณกรรม เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนถึง 1,236 เรื่อง ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง สารคดี บันเทิงคดี บทละคร บทโขน นิทาน และอื่นๆ อีกมากมาย

และที่สำคัญ ยุคนั้นเป็นช่วงที่แนวความคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ปรากฏเด่นชัดขึ้นในสังคมไทย จากการสนับสนุนของในหลวง ร.6 ด้วยเสรีภาพที่เปิดกว้าง รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่บูรพกษัตริย์ไทยทรงวางรากฐานไว้

พระเกียรติคุณของในหลวง ร.6 เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล จนองค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม ทรงพระราชอัจฉริยภาพทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏเป็นหลักฐานผ่านพระราชนิพนธ์จำนวนมากที่ตกทอดเป็นมรดกของชาติ เหล่าพสกนิกรจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์