จาก ‘สมเด็จย่า’ ถึง ‘พระราชินีสุทิดา’ เส้นทางจากสามัญชน สู่ไอดอลของคนรุ่นใหม่ ผู้เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย

ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี บุคคลผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสามัญชนขึ้นเป็นพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูงบุคคลแรกคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของคนไทย

เดิมทีสมเด็จย่านั้นเกิดในตระกูลช่างทอง โดยมีพระนามเดิมว่า ‘สังวาลย์’ ก่อนที่พระชนนีจะนำพระองค์ไปถวายตัวเป็นข้าหลวง และได้ศึกษาเล่าเรียนจนได้รับพระราชทานทุนเพื่อคัดเลือกไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ในเวลาต่อมา ณ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด รัฐแมสสาชูแสตต์ สหรัฐอเมริกา

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดั่งเทพนิยาย…

ที่ฮาร์วาร์ดนี้เองที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ( พระราชบิดาของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ) ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 ได้ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้น และอภิเษกสมรสในเวลาต่อมา

กระทั่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส และทรงเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เอง จนพระราชโอรสทรงเติบใหญ่กลายเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของไทยถึง 2 พระองค์

ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จย่ายังทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกาย และทรงงานเพื่อคนไทยมาโดยตลอด แม้จะมีพระชนมายุมากแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังเสด็จไปยังท้องที่ทุรกันดารต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและพลิกฟื้นโอกาสให้คนในพื้นที่เหล่านั้นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น จนชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารต่างเรียกพระองค์ว่า “แม่ฟ้าหลวง”

ผ่านมาหลายสิบทศวรรษ ประวัติศาสตร์ดั่งเทพนิยายก็ได้เริ่มต้นบทบันทึกอีกครั้ง…

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี คือสามัญชนคนที่สองที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์จักรี

พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 มีพระนามเดิมว่า ‘สุทิดา ติดใจ’ ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2543 ก่อนที่ทรงเข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของการบินไทย

ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด (อัตรา พลตรี)

และยังทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ได้รับพระกรุณาให้เป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์ รวมถึงพระบรมศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ อีกด้วย

กระทั่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พระองค์ทรงเป็นพระราชินี ที่เป็นทหาร ทรงผ่านหลักสูตรการฝึกต่างๆ ทั้งหลักสูตร รักษาพระองค์ ยิงปืน หรือแม้แต่โดดร่มลงทะเลในเวลากลางคืน ทรงมีความแข็งแรงและแข็งแกร่ง ตั้งพระทัย จนรับคำชมเชยจากครูฝึกในทุกหลักสูตร ที่ทรงมีความมุ่งมั่นและใส่ใจในการฝึก และทรงผ่านการศึกษาวิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) รุ่น 59 อีกด้วย

ความเข้มแข็งของพระองค์ เราคนไทยต่างเคยเห็นเป็นประจักษ์มาแล้วในการแสดงทางทหารประกอบดนตรี “ราชวัลลภ เริงระบำ” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่พระองค์ทรงนำการแสดงอย่างสง่างามและเข้มแข็ง ตลอดระยะเวลายาวนาน 48 นาที

ไม่ใช่แค่มุมของความเข้มแข็งเท่านั้น แต่พระจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ยังทรงอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความสง่างดงามในทุกครั้งที่ทรงปรากฏพระองค์ตามหมายพระราชกิจต่างๆ ซึ่งทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยหลากหลายลวดลายไม่ซ้ำกัน เป็นการประยุกต์ความเป็นไทยให้เข้ากับยุคสมัย

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566

หลายคนยังคงจดจำและชื่นชมในความสง่างามของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เมื่อทรงอยู่ใน ฉลองพระองค์ผ้าขิดไหม ลายดอกไม้สุดประณีต ที่ดูทันสมัยบนความเรียบง่าย สร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นตั้งแต่แรกเสด็จถึงท่าอากาศยานลอนดอนสแตนสเต็ดเลยทีเดียว

และในวันเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ ชุดไทยบรมพิมาน พระภูษาผ้ายกลำพูนสังเวียน ทรงสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และทรงพระสังวาลนพรัตน์ ดารานพรัตน์ ทรงเข็มกลัดดวงตรามหาจักรีประดับเพชร รวมทั้งทรงสร้อยพระศอและพระกุณฑลไพลินประดับเพชร พระราชนิยมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกด้วย

ในการเสด็จร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ในครั้งนั้น คนไทยต่างชื่นชมและประจักษ์ในความสง่างามสมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เรียกได้ว่าพระองค์ทรงมีแฟนคลับชาวไทยรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียว

ไม่เพียงเฉพาะคนไทย แต่ชาวต่างชาติยังประทับใจกับฉลองพระองค์ ถึงกับมีชาวอังกฤษใช้บัญชีทวิตเตอร์โพสต์ถึง ‘กระเป๋าทรงถือ’ ว่า “That purse is fabulous. Anyone know who made it?” พร้อมติดแฮชแท็ก #coronation #queenofthailand #CoronationDay ที่มีผู้เข้าชมทวิตนี้แล้วกว่า 97,000 ครั้ง

ซึ่งนี่คือความสง่างาม ทันสมัย ของพระองค์ที่ได้รับการจับตาไปทั่วโลก สมความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะสืบสานพระราชปณิธานใน ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอจากภูมิปัญญาคนไทย และส่งเสริมผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถกรรมไทยให้ชาวโลกรู้จัก ดั่งพระราชดำรัสของพระองค์ ความว่า …

“… ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเหมือนดั่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี …

และทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่าน พระราชินีผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาว่า “Thai’s Soft Power Queen” พระราชินีผู้มาจากสามัญชน หากแต่มีทั้งความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และมีพระจริยวัตรอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสง่างดงามบนความทันสมัย กระทั่งทรงกลายเป็นไอดอลของเด็กรุ่นใหม่บางกลุ่ม และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของเยาวชนไทยยุคใหม่อีกด้วย

นี่คือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีการพัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อยุคสมัยมาตลอดเวลา นับแต่ยุคสมัยของสมเด็จย่า มาจนถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชินีผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม ทันสมัย และเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ใหม่แห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า