จากเชลยมลายู สู่ชาวมุสลิมกรุงเทพฯ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง

ตามประวัติศาสตร์แห่งการสร้างบ้านแปงเมือง ทุกเมืองใหญ่บนโลกนี้มักประกอบไปด้วยชุมชนน้อยใหญ่มากมายหลากหลายเชื้อชาติและภาษา ไม่ใช่เมืองที่มีแค่เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์เพียงเชื้อชาติเดียว

เมืองขนาดใหญ่มากมาย เช่น กรุงลอนดอน ในประเทศอังกฤษ นอกจากจะมีชาวอังกฤษรวมถึงชาวยูโรเปียนหลากหลายเชื้อชาติประกอบแล้ว ยังปรากฏผู้คนเชื้อสายชาวแอฟริกันผิวดำ ซึ่งเป็นทายาทของแรงงานทาสจากหมู่เกาะแคริบเบี้ยน รวมถึงชาวอินเดียจากอดีตดินแดนบริติชราช (British Raj) ของอาณานิคมอังกฤษรวมอยู่ด้วย

รวมไปถึงลูกหลานของชาวจีนที่ปัจจุบันได้ผสมกลมกลืนกับสังคมตะวันตก ซึมซับความเป็นอังกฤษ ทั้งชื่อ วิถีชีวิต สำเนียงภาษา การแต่งกาย จนถือว่าตนกลายเป็นชาวอังกฤษไปเลยก็มี

จากกรุงลอนดอนข้ามฝั่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย หรือกระทั่งเกาะสิงคโปร์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด ประเทศเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นหม้อขนาดใหญ่ (Melting pot) ที่หลอมรวมทุกๆ เชื้อชาติเอาไว้ด้วยกัน

ในอดีตนอกจากเจ้าอาณานิคมตลอดจนเจ้าแห่งนคร (หมายรวมถึงพระมหากษัตริย์) จะเป็นผู้ก่อตั้ง รวบรวมและปกครองดินแดนแล้ว แรงงานและแรงกายของผู้คนไม่ว่าจะเป็นชนอพยพ หรือเชลยศึกสงครามในเมืองนั้นๆ ก็ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมืองในอดีต จนกลายมาเป็นสถานที่แสนรุ่งเรืองในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดคือโครงสร้างของสังคมที่เกิดจากฟันเฟืองในทุกระดับชั้น

ดังนั้น ความพยายามใดๆ ที่จะแยกเอาเจ้าผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองออกจากกัน แล้วชูว่าผู้ใต้ปกครองนั้นสำคัญกว่าเจ้าผู้ปกครอง ล้วนเป็นความคิดที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักโครงสร้างนิยม (Structuralism) อันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองและการจัดวางทางสังคมในสมัยโบราณ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 นี้เองที่เพิ่งจะถูกท้าทายด้วยแนวคิดใหม่ๆ

สำหรับกรุงเทพมหานครในอดีต มีแรงงานชาวจีนจำนวนมากที่อพยพเข้ามาในบริเวณ “บางกอก” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 -7 ซึ่งชาวจีนเหล่านี้ล้วนเป็นแรงงานอันสำคัญ ที่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสยามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นอกจากแรงงานชาวจีนแล้ว ชนกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน และในปัจจุบันทายาทของพวกเขาต่างสืบทอดตั้งรกรากอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมากมาย นั่นก็คือ “ชาวมลายู” (The Malays)

ซึ่งในอดีตมีทั้งชาวมลายูที่อพยพเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ เอง รวมถึงส่วนที่เป็นเชลยศึกที่ถูกทางการสยามกวาดต้อนเข้ามาเติมเต็มกรุงเทพฯ ที่เพิ่งตั้งใหม่ จนกระทั่งได้กลายมาเป็นพลเมืองสยามและสืบทอดทายาทมาจวบจนทุกวันนี้

สำหรับเชลยชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในกรุงเทพฯ ช่วงรัชกาลที่ 1-3 นั้น ส่วนมากเป็นชาวมลายูจากเมือง “ปัตตานี” และ “ไทรบุรี” โดยชาวปัตตานีน่าจะมีจำนวนมากที่สุด เพราะในช่วงเวลานั้น ทางกรุงเทพฯ ได้มีสงครามครั้งใหญ่กับปัตตานีจำนวนหลายครั้ง อาทิ เมื่อปี พ.ศ. 2329 (ปัตตานีเสียเอกราชแก่สยาม) พ.ศ. 2334 (กบฏเต็งกูลามิดเด็น) และ พ.ศ. 2351 (กบฏดาโต๊ะปังกาลัน)

นอกจากนั้น ยังมีสงครามย่อยๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวเมืองปัตตานีหลังจากถูกแบ่งเป็น 7 หัวเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนรู้เห็นกับการร่วมก่อกบฏกับสุลต่านเมืองไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 อีก 2 ครั้ง ทำให้เชลยศึกที่สยามกวาดต้อนมาจากเมืองปัตตานีผ่านสงครามทั้ง 5 ครั้งนี้ อยู่ในปริมาณมากพอสมควร

การกวาดต้อนเชลยสงครามจากปัตตานีมายังสยามนั้น แม้จะมีเรื่องเล่าถึงความโหดร้ายทารุณของกองทัพสยามที่กระทำต่อเชลยศึกชาวปัตตานี แต่ก็นับว่าเป็นเพียงเรื่องเล่า ที่อาจมีมูลความจริงประกอบบ้างแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด และการลงโทษของกองทัพสยามนั้น ก็น่าจะกระทำต่อเชลยศึกที่มีความสำคัญมากกว่า อาทิ พวกเจ้านายที่เป็นต้นเหตุแห่งการกบฏ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างตามธรรมเนียมการศึกสงครามในสมัยโบราณ

แต่สำหรับเชลยศึกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพวกไพร่ สามัญชน หรือ ภาษามลายูเรียกว่า “รัคยัต” (Rakyat) ต่างได้รับการดูแลพอสมควร จนกระทั่งกองทัพของสยามพามาถึงกรุงเทพฯ

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานแล้ว พระมหากษัตริย์แห่งสยามมิได้มีนโยบายโหดร้ายทารุณต่อเชลยมลายู (ทั้งปัตตานีและไทรบุรรี) เหล่านี้เลย กลับกันยังได้พระราชทานที่ดินทำกินรวมถึงตำแหน่งแห่งที่ทางราชการให้แก่เชลยเหล่านี้ตามสมควรแก่ฐานะและการดำรงตน

ดังหลักฐานพระราชดำรัชแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยของในหลวงรัชกาลที่ 3 ต่อเชลยชาวมลายูในช่วงสงครามไทรบุรี ดังความที่ได้รับสั่งถามเสนาบดีว่า …

“ครัวซึ่งเอาเข้าไปนั้นเป็นคนที่ไหน” เจ้าคุณหาบกราบทูลว่า “เป็นคนเมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้าง เมืองตานีบ้าง ว่าเป็นคนเมืองไทรบ้างก็มี”

ทรงตรัสว่า “จนป่านนี้แล้วมันจะมาเมื่อไรอีกเล่า” แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชสุภาวดีว่า “ดูรับเอาจำนวนครอบครัวที่ส่งเข้าไปมอบให้พระยาราชวังสรรค์ รับเอาไปพักไว้ที่ไหน แต่พอให้มันสบายก่อนเถิดจะเอาไปให้กับใครได้ จะมีเข้าไปมากน้อยอย่างไร ก็มอบให้เป็นบ่าวพระยาราชวังสรรค์หมดนั่นแหล่ะ”

แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า “ที่สุเหร่ามีกว้างขวางอยู่ พอจะผ่อนพักไว้ได้ก็รับเอาพักไว้พอให้มันสบายก่อนเถิด” พระยาราชวังสรรค์ กราบทูลว่า “ที่สุเหร่าคลองนางหงส์ ก็กว้างขวางอยู่พอจะพักอยู่ได้”

จากนั้นรับสั่งว่า “เออ เอาพักไว้ที่ในนี้ก่อนเถิด ที่มันเจ็บไข้อยู่ ก็ดูขอหมอไปรักษาพยาบาลมันด้วย พระยาเทพกับพระยาราชวังสรรค์อุตส่าห์เอาใจใส่ดูแลเบิกข้าวปลาอาหารให้มันกิน อย่าให้มันอดอยากซวดโซได้ ถ้าข้างหน้ามีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียวฯ”

พระราชดำรัชเหล่านี้ เป็นหลักฐานชั้นต้นที่พิสูจน์ได้ว่า สยามไม่ได้โหดร้ายทารุณต่อเชลยมลายูตามที่พงศาวดารเสียงกระซิบเล่าต่อกันมาแต่อย่างใด

เนื่องจากในอดีตนั้น กองกำลังหรือทุนมนุษย์มีความสำคัญที่สุดสำหรับรัฐในสมัยโบราณ เมืองใดที่มีกำลังพลมาก ย่อมหมายความว่ามีกำลังทหารรวมถึงกำลังผลิตเสบียงมากตามไปด้วย การทรมานและการฆ่าแกงเชลยโดยไร้หลักการจึงไม่ใช่ธรรมเนียมที่สยามยึดถือปฏิบัติ

และพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.3 ที่มีต่อเชลยชาวมลายู ก็ได้ส่งผลปรากฏดังหลักฐานต่อมาว่า บรรดาเชลยมลายูเหล่านั้น เมื่อพ้นกำหนดโทษและได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยแล้ว ต่างก็ได้รับพระราชทานที่ดินทำกินไปตามๆ กัน และส่วนมากก็เลือกที่จะไม่เดินทางกลับไปยังมาตุภูมิ โดยได้ตั้งรกรากสืบสกุลอยู่ในกรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารเมืองปัตตานี (ฉบับพระยาสุนทรานุรักษ์).
[2] จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ (ฉบับปรับปรุง) (กรุงเทพ : 2554) สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.
[3] วิลเลียม สกินเนอร์, สังคมจีนในประเทศไทย (Chinese Society in Thailand) (กรุงเทพ : 2564) สำนักพิมพ์มติชน.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า