จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง…ถ้าวันนี้เรายังใช้นโยบายคณะราษฎร? – ภาคต้น

“What if…” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้า…” เป็นคำที่ถูกนำมาวางตั้งต้นเพื่อค้นหามุมมองที่หลากหลายในเรื่องต่าง ๆ ประมาณว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเงื่อนไขที่ทำให้เกิดเรื่องนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไป คำตอบของ What if แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพราะเราใช้คุณสมบัติของเงื่อนไขใหม่มากำหนดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

วันนี้เราลองมา “What if…” กันดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น?… ถ้าบ้านเมืองกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของคณะราษฎร

จะเกิดอะไรขึ้น?…ถ้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า เราอยู่ในยุคที่รัฐบาลใช้นโยบายของคณะราษฎรในการบริหารประเทศ ในเงื่อนไขเดียวกัน ในบริบททางสังคมเหมือน ๆ กัน

มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ท่องโลกคู่ขนานไปกับ ฤๅ สำหรับตอนแรกเรามาดูกันว่า สังคมจะมีความเหลื่อมล้ำแค่ไหน สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะเป็นอย่างไร ถ้ารัฐบาลประกาศใช้นโยบายของคณะราษฎร หลายคนคงอยากรู้ งั้นเราไปดูคำตอบพร้อม ๆ กันเลย

1. จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 แทนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

จะมี ส.ส. ประเภทที่ 2 แทน ส.ว. ซึ่งเป็นการถอยหลังเข้าคลองเสียยิ่งกว่าปัจจุบัน เนื่องจาก ส.ส. ประเภทที่ 2 เป็นสมาชิกที่เลือกเข้ามาโดยรัฐบาลล้วน ๆ ไม่ได้มาจากกลุ่มผลประโยชน์หรือตัวแทนสาขาวิชาชีพเช่น ส.ว. ในปัจจุบัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ส.ส. ประเภทที่ 2 คือคนที่รัฐบาลเลือกเข้ามาเพื่อคุมสภาทั้ง 2 สภานั่นเอง

2. จะมีพรรคการเมืองแค่พรรคเดียวเท่านั้นที่ได้รับการประทับรับรองโดยรัฐบาล

จะมีพรรคการเมืองแค่พรรคเดียว คือ พรรคของรัฐบาล เพราะตั้งแต่ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2489 ประเทศไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเลย เนื่องจากรัฐบาลคณะราษฎรไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใด ๆ ขึ้น ด้วยข้ออ้างว่าจะทำให้เกิดการแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรง และประชาชนจะไม่ได้รับอนุญาตให้รวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่ว่ากรณีใด ๆ

3. สื่อจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง

สื่อจะถูกปิดกั้นและห้ามวิจารณ์รัฐบาลในทางการเมืองโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการละเมิดต่อความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตย ถ้าสื่อไหนวิจารณ์ไม่เข้าหูรัฐบาล ก็จะโดนสั่งปิดทันที ตามนโยบายของคณะราษฎร ที่มีการปราบปรามสื่อที่เห็นต่างกับพวกตนอย่างเด็ดขาด เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์, หนังสือพิมพ์ บางกอก เดลิเมล์ และหนังสือพิมพ์เสรีภาพ ถ้ารัฐบาลใช้นโยบายของคณะราษฎร เราอาจไม่มีสื่ออย่าง Voice TV, BBC Thai หรือสื่อคุณภาพอื่น ๆ เหลืออยู่เลย

4. ใครที่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองรัฐบาลก็จะได้สิทธิพิเศษ

สมาชิกพรรคการเมืองรัฐบาลจะได้สิทธิพิเศษ เช่นเดียวกับในอดีตที่หากใครสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ “สมาคมคณะราษฎร” ซึ่งเป็นเครือข่ายของคณะราษฎรในการควบคุมโครงสร้างและเกมทางการเมือง (Kanaran’s network) ก็จะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ นา ๆ เกินกว่าประชาชนทั่วไปจะได้ และข้าราชการคนไหนที่เป็นสมาชิกของสมาคมนี้ ก็อาจได้รับพิจารณาความดีความชอบเป็นพิเศษ