จดหมายเปิดผนึกถึง นักวิชาการผู้ไร้ความรับผิดชอบต่อกฎหมาย กรณีถอนประกันตัวในคดีอาญา ตะวัน-แบม

จากกรณี ตะวัน-แบม ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเอง และศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องและอนุญาตให้ถอนประกัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 โดยทั้งสองมีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ

  1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
  2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
  3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116

จากกรณีข้างต้น ได้มี “จดหมายเปิดผนึกคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอาญา และอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เรื่อง เรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง” โดยกล่าวหาการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทำนองว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายนั้น คำถามและข้อสังเกตเหล่านั้น ทีมงาน ฤา ขอตั้งเป็นประเด็นไว้ดังนี้

1. หลักการที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา จะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง (innocent until proven guilty) เป็นหลักกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังตัวบทในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในเรื่องของการปล่อยชั่วคราว ตามมาตรา 106 ถึงมาตรา 119 ทวิ ตามที่ปรากฎในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยในปัจจุบัน ผู้ต้องหาคดี 112 และคดีอาญาอื่น ก็อยู่ภายใต้หลักการที่ว่า innocent until proven guilty เช่นเดียวกัน และจำเลยในคดีมาตรา 112 จำนวนมากก็ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีด้วย

แต่การที่จำเลยได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีนั้น ไม่ได้หมายความรวมไปถึงการเปิดโอกาสให้จำเลยออกมาก่อเหตุซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก ซึ่งจำเลยคดี 112 จำนวนมากกลับใช้โอกาสที่ศาลให้ประกันตัวนี้ ออกมาก่อเหตุซ้ำซากอย่างไม่เคารพยำเกรงในกฎหมายบ้านเมือง

อำนาจตุลาการในฐานะที่เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย จำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ากฎหมายย่อมจะต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตามจากประชาชน การออกมาก่อเหตุซ้ำซากจากจำเลยที่ได้รับโอกาสในการประกันตัวนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้ การก่อเหตุซ้ำซากในเรื่องเดิม ๆ จากจำเลยคนเดิม ๆ ย่อมทำให้ศาลยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลไปด้วยนั่นเอง

2. แม้การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ปรากฎในมาตรา 108 และมาตรา 108/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม การที่ศาลได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองประกันตัวในชั้นพิจารณาโดยต่อมาจำเลยทั้งสองได้สมัครใจยื่นคำร้องขอถอนประกันตนเอง และศาลมีคำสั่งอนุญาตนั้น แม้จะมีบางความเห็นทางวิชาการว่า “การยื่นคำร้องขอถอนประกันของตัวจำเลยเองยังไม่ถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขของการประกันตัว คำสั่งศาลที่อนุญาตให้จำเลยถอนประกันตัวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

เนื่องจากระบบศาลในประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา (Adversarial system) ถูกใช้ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยการแสวงหาข้อเท็จจจริง ซึ่งได้แก่การนำพยานหลักฐาน เอกสาร หรือข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลนั้น โดยการพิจารณาในระบบกล่าวหานั้น คู่ความจะมีบทบาทในการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่บทบาทของศาล

ศาลย่อมผูกพันต่อการพิจารณาข้อเท็จจริง กล่าวคือ เมื่อมีการนำเสนอข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว ในกระบวนการยุติธรรมระบบแบบกล่าวหานั้น ศาลต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้รับจากคู่ความเท่านั้น ศาลไม่สามารถรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนไปได้

ศาลมีบทบาทจำกัดเป็นเพียงผู้ตัดสินคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสืบพยานเพิ่มเติมหรือช่วยคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสวงหาพยานหลักฐาน ในระบบกล่าวหานี้ ศาลใช้ดุลพินิจได้น้อยมาก คู่ความสองฝ่ายมีบทบาทสำคัญเป็นคู่ต่อสู้ซึ่งกันและกันอย่างเห็นได้ชัด

ในคดีอาญา ศาลจะไม่ช่วยโจทก์แสวงหาพยานหลักฐาน ดังนั้น บางกรณีศาลอาจยกฟ้องทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่าจำเลยอาจกระทำความผิดก็ได้ แต่หากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อน่าสงสัย ศาลต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย

ในกรณีของการปล่อยชั่วคราวของจำเลยในคดีอาญา (ประกันตัว) นั้น จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลยออกมาต่อสู้คดี และในทำนองเดียวกัน จำเลยย่อมมีอิสระในการยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้เช่นกัน เนื่องจากบทบาทของศาลดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ศาลทำหน้าที่เพียงกรรมการที่จะต้องปฏิบัติตามกติกา ซึ่งกติกาในที่นี้ก็คือตัวบทกฎหมายนั่นเอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติให้ศาลสามารถมีดุลยพินิจปฏิเสธคำร้องขอถอนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอถอนประกันเข้ามาในคดี จึงไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดๆ มารองรับการใช้ดุลยพินิจของศาลหากศาลจะสั่งไม่อนุญาต

3. การเรียกร้องขอให้ศาลยกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นข้อเรียกร้องที่เลื่อนลอย ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมและกฎหมาย องค์ประกอบสำคัญของนิติรัฐคือกฎหมายและความมีสภาพบังคับของกฎหมาย พลเมืองในรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเสียก่อน หากพลเมืองบางกลุ่มเห็นว่ากฎหมายฉบับใดสมควรแก้ไข ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม การแก้ไขกฎหมายย่อมทำได้โดยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ การเข้าชื่อเสนอผ่านไปยังสภาผู้แทนราษฎร หรือหน่วยงานใดๆ ที่มีอำนาจรับผิดชอบ นอกจากนั้น กฎหมายที่ยังใช้บังคับอยู่ ณ ปัจจุบัน ก็จะต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตามด้วย ซึ่งสิทธิในการประกันตัว หรือคำเรียกในทางกฎหมายคือ การขอปล่อยชั่วคราวนั้น ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 คือ “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว”

นอกจากนั้น การที่ศาลใช้ดุลยพินิจในการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลไม่อาจใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ แต่ดุลยพินิจของศาลจะถูกควบคุมโดยกฎหมายกล่าวคือ ในประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญามาตรา 108 บัญญัติว่า “ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ

(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้

ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น”

เมื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของเหล่าคณาจารย์คณะนิติศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่เลื่อนลอย ไม่มีการระบุเหตุผลหรือข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่าอำนาจตุลาการในการสั่งคำร้องขอประกันไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จากหลักกฎหมายข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่าแม้ศาลจะมีดุลยพินิจโดยอิสระในการสั่งคดีก็ตาม แต่คำว่าดุลยพินิจอย่างอิสระนั้น หมายความเพียงว่าปราศจากการถูกแทรกแซงจากอำนาจใดๆ นอกกฎหมาย นั่นหมายความว่า ดุลยพินิจของศาลยังถูกควบคุมความชอบโดยกฎหมายอยู่นั่นเอง

ที่มา :

[1] จดหมายเปิดผนึกคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอาญา และอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เรื่อง เรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง
[2] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 และมาตรา 108/1

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้