คู่วิวาห์อนาถา ที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก! เรื่องใส่สีตีไข่ ที่ถูกโยงเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์

จากกรณีที่มีนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งได้เผยแพร่บทความบนโลกออนไลน์ ในช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จไปเป็นแขกในงานวิวาห์ของราษฎรคู่หนึ่ง ในช่วงที่พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองตะวันออก

โดยผู้เขียนบทความได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงต้นปี พ.ศ. 2448 ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังบางปะอิน หลังจากทรงหายจากอาการประชวรตามคำแนะนำของแพทย์หลวง และถือโอกาสนี้เสด็จทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร โดยทรงประพาสด้วยการ “ปลอมพระองค์” จนกระทั่งได้พบกับงานวิวาห์ของราษฎรที่มีฐานะยากจนคู่หนึ่ง ซึ่งเจ้าบ่าวเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนเจ้าสาวเป็นคนมอญ โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จขึ้นไปบนลานขบวนแห่และทรงเป็นแขกในงานวิวาห์ โดยที่แขกเหรื่อและคู่บ่าวสาวต่างคิดว่าพระองค์เป็นชาวบ้านที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ

ผู้เขียนได้บรรยายบรรยากาศงานวิวาห์ที่เป็นไปอย่างแร้นแค้นของคู่บ่าวสาว โดยใช้คำว่า “คู่วิวาห์อนาถา” ไม่มีแม้กระทั่งขันหมากเงินทอง มีแต่เพียงของแห่ที่เป็นถาดผลไม้ ส่วนแขกเหรื่อก็แต่งตัวกันด้วยเสื้อผ้าปอนๆ อย่างคนยากจน

กระทั่งสุดท้ายมีแขกในงานรู้ความจริงว่าพระองค์คือพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต่างตกอกตกใจก้มลงกราบด้วยความซาบซึ้ง พระองค์จึงพระราชทานโอวาทให้แก่คู่บ่าวสาว รวมทั้งพระราชทานเงินให้เป็นจำนวน 160 บาท ซึ่งทำให้คู่บ่าวสาวได้หลุดพ้นจากความยากจนตั้งแต่นั้นมา

บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่กระจายออกไปบนโลกออนไลน์ ทำให้หลายๆ คนที่ได้อ่านเรื่องราวต่างพากันซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวงที่มีต่อราษฎรของพระองค์

แต่ทว่า … ต่อมาความจริงก็ถูกเปิดเผยว่า เรื่องราวในบทความนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโกหก

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดยการใส่สีตีไข่ เพิ่มเติมเรื่องราวดราม่าลงไป ทั้งการสร้างเรื่องในลักษณะดูถูกดูหมิ่นคู่บ่าวสาว และโยงเข้าสู่การโหนเจ้า เพื่อให้เกิดเป็นความรู้สึกร่วมแก่ผู้ที่ได้อ่านบทความ

โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นทายาทสืบสายเลือดของคู่บ่าวสาวดังกล่าว ออกมาให้ข้อเท็จจริงด้วยการยืนยันหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 และจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ในจดหมายเหตุได้บันทึกไว้ว่า การเสด็จประพาสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ครั้งนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2430 (ไม่ใช่ พ.ศ. 2448) และไม่ได้เสด็จประพาสในลักษณะปลอมพระองค์ ประชาชนรวมทั้งคู่บ่าวสาวในงานวิวาห์ต่างรับรู้ว่าพระองค์คือพระเจ้าแผ่นดิน และเมื่อรู้ว่าในหลวงเสด็จฯ คู่บ่าวสาวยังได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาทูลเกล้าฯ ถวายนับแต่แรกเสด็จฯ ขึ้นเรือนอีกด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจฯ เช่นกัน

สำหรับเจ้าสาวนั้นเป็นคนไทยแท้ๆ ไม่ใช่คนมอญตามที่ผู้เขียนบทความบิดเบือน อีกทั้งครอบครัวของคู่บ่าวสาวก็มิได้ยากจนแร้นแค้น ดังที่ผู้เขียนบทความใช้คำว่า “กระจอกงอกง่อย” แต่อย่างใด ซึ่งรายการของในขบวนขันหมากนั้น ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 และจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ต่างก็บันทึกไว้อย่างละเอียดตรงกัน

สรุปได้ว่า บทความของนักหนังสือพิมพ์ท่านนั้น นอกจากเป็นเรื่องโกหกและบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นการนำเสนอข้อมูลในเชิงดูถูกด้อยค่าผู้อื่น รวมทั้งใส่สีตีไข่เพื่อให้เกิดดราม่าโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงใดๆ เลย และเมื่อมีผู้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ต่อมาบทความดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนชื่อผู้เขียนเป็น โรม บุนนาค และหลังจากนั้นไม่นานบทความก็ได้ถูกลบออกจากระบบ

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ที่แชร์และคัดลอกบทความดังกล่าวเผยแพร่กระจายไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนที่บทความต้นฉบับจะถูกลบทิ้ง จนกลายเป็นข้อมูลบิดเบือนทางประวัติศาสตร์บนโลกออนไลน์ไปเสียแล้ว โดยยังมีผู้ที่เข้าใจผิดคิดว่าข้อมูลทั้งหมดในบทความนั้นคือเรื่องจริง

สำหรับเนื้อหาบทความที่มีการบิดเบือนข้อมูลนั้น ล่าสุดได้ถูกแชร์บนเฟซบุ๊กในหัวข้อ คู่วิวาห์อนาถาที่สุด แต่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก! เจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นคนหาเช้ากินค่ำ แต่แขกคือพระพุทธเจ้าหลวง!!

ส่วนการเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยทายาทคู่บ่าวสาวที่ถูกอ้างถึงในบทความนั้น สามารถอ่านได้จากที่นี่ ประกาศประณามนักหนังสือพิมพ์ ผู้ใส่สีตีไข่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เป็นการแต่งเติมเรื่องราวเอาเอง โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน และเหตุผลในการนำเสนอนั้น ไม่ว่าจะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ หรือเป็นไปด้วยจุดประสงค์ที่ดีก็ตาม แต่การพูดถึงหรือกล่าวอ้างในลักษณะเกินจริงเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นการส่งผลเสีย ทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน และอาจกลายเป็นการสร้างภาพลบให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ถูกกล่าวถึงในท้ายที่สุด