คุณอาจไม่เคยรู้! ‘สงครามเก้าทัพ’ จากมุมมองพงศาวดารพม่า

สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างอาณาจักรพม่ากับอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และสมัยพระเจ้าปดุงของทางฝั่งพม่า โดยในขณะนั้นเป็นช่วงที่ราชธานีแห่งใหม่ของไทยก่อกำเนิดขึ้นมาได้เพียงสามปี

ในบทความนี้ ฤๅ จะนำเสนอเรื่องราวของสงครามเก้าทัพ โดยอ้างอิงจาก “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” หนังสือที่แปลมาจากบางตอนของพงศาวดารพม่า คือ “มานนาน มหายาสะวินดอจี” (Hmannan Mahayazawindawgyi) หรือที่นักวิชาการทั่วไปรู้จักกันในนาม “พงศาวดารฉบับหอแก้ว” (The Glass Palace Chronicles) ซึ่งชําระขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2372 ในสมัยของพระเจ้าพยีดอ (King Bagyidaw)

โดยเอกสารจากทางฝั่งพม่านั้น อาจมีการบันทึกไม่ตรงกับของไทยเสียทีเดียว แต่ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้รับรู้มุมมองทางประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์และเข้าใจเรื่องราวในอดีตได้รอบด้านขึ้น

สงครามเก้าทัพ ถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์และกรุงอังวะ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2328 โดยทางพม่าได้ยกทัพใหญ่มาทั้งหมด 9 ทัพ แยกเป็น 5 เส้นทาง พร้อมกำลังไพร่พลมหาศาล ซึ่งตัวเลขของกำลังพลพม่านั้น เอกสารฝั่งไทยระบุไว้ว่ามีจำนวนถึงหลักแสน แต่ทางฝั่งพม่าระบุไว้ที่หลักหมื่น แต่ก็ยังถือเป็นการจัดทัพใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าจุดประสงค์ของพระเจ้าปดุงคือ ต้องการบดขยี้บีฑากรุงรัตนโกสินทร์ให้ย่อยยับเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา

ก่อนที่จะทำการยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าปดุงมีรับสั่งให้ เมงจีเมงกองจอ นายทหารคนสำคัญ ยกทัพส่วนหนึ่งไปยังเมืองเมาะตะมะ เพื่อจัดการเตรียมเสบียงอาหารไว้ให้พร้อมสำหรับทัพหลวงและกองกำลังทหารที่จะยกพลตามมา จากนั้นจึงค่อยนำทัพต่อไปยังเมืองมะริด

ซึ่งการเตรียมเสบียงอาหารในครั้งนั้น ถือเป็นคีย์สำคัญที่ตัดสินชี้ชะตาทัพพม่าในสงครามเก้าทัพก็ว่าได้

จากนั้นพระเจ้าปดุงได้จัดทัพแรกออกจากกรุงอังวะ มีไพร่พลรวมทั้งสิ้น 10,000 และม้ารวมทั้งสิ้น 1,000 และจัดทัพที่ 2 ให้ยกไปทางเมืองทวายอีก 1 ทัพ มีไพร่พล 10,000 และม้า 1,000 เช่นเดียวกัน รวมถึงทัพที่ 3 ที่ยกไปทางเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทัพที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ด้วยกำลังพล 30,000 และม้า 3,000 อีกทั้งยังรับสั่งให้จัดทัพยกไปทางเมาะตะมะเพิ่มอีก 3 ทัพ โดยมีไพร่พลรวมกันแล้วประมาณ 34,000 และม้ารวมกันประมาณ 3,400

จากนั้นพระเจ้าปดุงจึงยกทัพหลวงซึ่งเป็นทัพใหญ่ที่สุด ตามลงไปยังเมาะตะมะ ด้วยกำลังพลถึง 50,000 ช้าง 500 และม้า 5,000 โดยทรงมอบหมายให้มหาอุปราชอยู่รักษากรุงอังวะ

และเมื่อทัพหลวงพม่ายกพลมาถึงเมืองเมาะตะมะ เค้าลางแห่งหายนะก็เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อพระเจ้าปดุงทรงถามถึงความคืบหน้าในการเตรียมเสบียงอาหารที่ได้ให้ เมงจีเมงกองจอ มาเตรียมการล่วงหน้าถึง 8 เดือน และได้รับคำตอบจากทหารที่ยกกำลังมายังเมาะตะมะก่อนหน้านั้นว่า ไม่สามารถเตรียมเสบียงให้เพียงพอได้ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าขณะนั้นเป็นช่วงภัยแล้ง ไร่นาต่างๆ จึงไม่สามารถให้ผลผลิตได้ตามต้องการ และตัว เมงจีเมงกองจอ นั้นก็ได้เดินทางไปยังเมืองมะริดเรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้สร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่พระเจ้าปดุงอย่างมาก และรับสั่งให้เรียกตัว เมงจีเมงกองจอ กลับมารับโทษที่เมืองเมาะตะมะทันที โดยทรงกำชับว่าให้ทำการจองจำมาแบบเต็มพิกัด ซึ่งต่อมา เมงจีเมงกองจอ ได้ถูกลงโทษประหารชีวิตทันทีที่กลับมาถึงทัพหลวง

แม้จะเริ่มมองเห็นปัญหาเรื่องเสบียงอาหาร แต่พระเจ้าปดุงก็ยังทรงตัดสินพระทัยเดินหน้าต่อไป โดยทรงจัดทัพออกจากเมืองเมาะตะมะ เพื่อไปตีเมืองระแหง (เมืองตากโบราณ) เพิ่มอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งจัดแบ่งไพร่พลแยกออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์อีกทางหนึ่ง และเร่งให้กำลังพลที่เหลือทั้งหมดเดินทางออกจากเมืองเมาะตะมะภายในหนึ่งวัน

เมื่อทัพหลวงของพม่ายกกำลังมาถึง ต. จูนบี่น พระเจ้าปดุงได้รับสั่งถามนายทหารม้า 2 นายว่า เสบียงอาหารตอนนี้พอจะแจกจ่ายให้กำลังพลได้อีกนานแค่ไหน ? ปรากฏว่าทหาร 2 นายนั้น อาจจะด้วยเกรงกลัวความผิด จึงได้กราบทูล “โกหก” ต่อพระเจ้าปดุงว่า เสบียงอาหารยังเพียงพอต่อไปได้อีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งทำให้พระเจ้าปดุงไม่ทรงทราบถึงสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริง และยาตราทัพเข้าประชิดกรุงรัตนโกสินทร์ต่อไป

ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อได้สืบทราบว่ากองทัพของพระเจ้าปดุงกำลังเจอปัญหาเรื่องเสบียงอาหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ( วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ) จึงทรงจัดกำลังพลแยกไปตามเส้นทางต่างๆ เพื่อรับมือกับทหารพม่าทุกกองทัพนอกเขตพระนคร และวางแผนในการเข้าโจมตีเสบียงของทัพข้าศึกโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของกองทัพพม่าในขณะนั้น

และเมื่อ รัชกาลที่ 1 ทรงได้รับรายงานว่า พระเจ้าปดุงเสด็จยกทัพใหญ่มา พร้อมกับทัพอื่นๆ ที่แยกมาตามเส้นทางต่างๆ จำนวนถึง 9 ทัพ ใน 5 เส้นทาง พระองค์จึงรับสั่งให้ทำการปล่อยตัว “งะกัน” มหาดเล็กของกรุงอังวะ ที่โดนจับตั้งแต่ครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ และให้ งะกัน ถือจดหมายไปฉบับหนึ่งเพื่อแจ้งให้พระเจ้าปดุงทรงทราบ โดยเนื้อความในจดหมาย มีใจความว่า …

“… อังวะกับรัตนโกสินทร์ก็เหมือนทองแผ่นเดียวกัน ไม่ควรยกทัพมาทำศึกให้เดือดร้อนสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ขอให้งดการศึกไว้ ราษฎร์จะได้อยู่เย็นเป็นสุขเถิด …”

และ งะกัน ยังได้กราบทูลรายงานการจัดทัพเพื่อรับมือพม่าของทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ทางกรุงเทพฯ ได้เตรียมกำลังสำหรับการศึกไว้หมดแล้ว ทั้งทางบกทางน้ำ เตรียมเกณฑ์กำลังคนมาจากทั้ง 4 ทิศ พร้อมจัดค่ายและประตูหอรบที่เมืองบางกอกไว้ด้วย รวมทั้งยกกำลังทหารไปเตรียมรับมือที่กาญจนบุรีเรียบร้อยแล้ว

เมื่อพระเจ้าปดุงทรงทราบดังนั้น ก็รับสั่งให้เสริมกำลังขึ้นไปช่วยทัพหน้าเพิ่มขึ้นอีก ในจุดนี้อาจเป็นไปได้ว่า การที่รัชกาลที่ 1 ทรงปล่อยตัว งะกัน กลับไปแบบนั้น ก็เพื่อต้องการให้ งะกัน รายงานความพร้อมของกองทัพกรุงรัตนโกสินทร์ให้พระเจ้าปดุงทรงทราบแค่เพียงเส้นทางหลักเท่านั้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ก็ได้ทรงเตรียมกองกำลังเพื่อ “ซุ่มโจมตี” กองเสบียงของทัพพม่าตามจุดย่อยต่างๆ ซึ่งถือเป็นการโจมตีจุดอ่อนของทัพกรุงอังวะนั่นเอง

จนกระทั่งเมื่อกองกำลังทั้งของไทยและพม่าเกิดการปะทะกันขึ้นที่ท่าไร่ พงศาวดารฝั่งพม่าได้ระบุไว้ว่า หลังผ่านพ้นการรบได้ 2 วัน ทหารกรุงเทพฯ ไม่สามารถต้านทานกองทัพพม่าได้ จึงได้ทำการใส่ยาพิษไว้ในกระบอกน้ำและข้าวห่อ ก่อนจะถอยหนีไป ฝ่ายทหารอังวะที่กำลังหิวโหยไม่ทันรู้อุบายของทหารกรุงเทพฯ จึงพากันดื่มกินน้ำและข้าวนั้น ทำให้โดนยาพิษตายไปถึง 400 คน

จุดนี้อาจเป็นไปได้ว่า ทหารกรุงเทพฯ ที่ท่าไร่ อาจเป็นกองกำลังที่ใช้ล่อทหารอังวะ โดยการแกล้งทำเป็นยอมแพ้ถอยทัพและแอบวางยาพิษให้ฝ่ายพม่าติดกับ

ส่วนทัพพม่าในเส้นทางอื่นๆ ต่างก็เสียทีแก่กองกำลังของทางกรุงเทพฯ ไปตามๆ กัน โดยอีกทัพหนึ่งของอังวะ เมื่อเคลื่อนเข้าเขตกาญจนบุรี ก็ได้มาพบกองทัพกรุงเทพฯ ที่มีทหาร 20,000 – 30,000 นาย และเกิดการปะทะกันขึ้น โดยในการปะทะครั้งนี้ อังวะเป็นฝ่ายเสียที ทำให้แม่ทัพและกำลังทหารโดนจับกันจนเกือบหมด

ส่วนทัพของพระโอรสพระเจ้าปดุงที่ตั้งค่ายอยู่นั้น ก็แทบไม่เป็นอันสู้รบ เนื่องมาจากความอดอยากอย่างหนักซึ่งเป็นผลมาจากเสบียงอาหารไม่เพียงพอ โดยหนังสือมหาราชวงษ์ฯ ระบุว่า ทหารกรุงอังวะถึงกับต้องขุดหาเผือกหามันกินเพื่อประทังชีวิตเลยทีเดียว

ส่วนทางด้านกองเสบียงของอังวะระหว่างที่เดินทางมายังไม่ถึงท่ากระดาน ก็โดนกองกำลังของทางกรุงเทพฯ เข้าโจมตี และยึดทั้งเสบียง ช้าง ม้า ไปจนหมด ส่วนกองทหารที่คุมเสบียงก็ถูกทหารกรุงเทพฯ จับตัวไปแทบทั้งหมด เหลือแต่นายกองเสบียงเท่านั้นที่หนีรอดกลับมาที่ค่ายใหญ่ของอังวะได้

เมื่อทัพใหญ่ของพระเจ้าปดุงยกมาถึงท่าไร่ ก็ทรงรับสั่งถามนายกองเสบียงที่หนีรอดมาได้ว่า ยังเหลือเสบียงอีกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนายกองเสบียงได้ทูลตอบตามความจริงไปว่า “อย่าว่าแต่เสบียงที่จะส่งไปกองอื่นเลย แม้กระทั่งในทัพหลวงเอง เสบียงที่เหลือตอนนี้ก็ยังไม่พอแจกจ่ายด้วยซ้ำ”

เมื่อทรงทราบความดังนั้น พระเจ้าปดุงก็ทรงรู้ในทันทีว่าสถานการณ์คงไม่เอื้อให้กองทัพพม่าสามารถชนะในศึกครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน และหากสู้รบต่อไปก็คงจะมีแต่สูญเสียกำลังพลมากขึ้นเท่านั้น จึงได้รับสั่งเป็นถ้อยความสำคัญ ที่ถือเป็นบทสรุปของสงครามครั้งนั้น ซึ่งพงศาวดารของพม่าบันทึกไว้ว่า …

“คราวนี้ยกมาเสียทีก็ช่างก่อนเถิด คราวหลังจึงจะยกมาใหม่ กรุงศรีอยุธยา(*) ก็จะไม่พ้นฝีมือเราดอก”

(* เหตุที่ในเอกสารของพม่ายังคงเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “กรุงศรีอยุธยา” เหมือนเดิม เพราะทางพม่าคงจะมองว่า ชาวกรุงรัตนโกสินทร์เป็นกลุ่มคนชุดเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยาที่ยกมาตั้งบ้านเมืองใหม่)

ในที่สุด พระเจ้าปดุงก็ทรงยกทัพหลวงออกจากท่าไร่ ถอยไปตั้งหลักที่เมาะตะมะ ก่อนจะกลับไปยังกรุงอังวะต่อไป ส่วนกองทัพพม่าในเส้นทางอื่นๆ ทั้งทางเชียงใหม่ ทวาย มะริด ต่อมาได้มีการปะทะกับกองทัพของฝ่ายรัตนโกสินทร์ที่ยกไปตั้งรับตามจุดต่างๆ แต่ในระหว่างนั้น เมื่อแม่ทัพพม่าได้รับหนังสือคำสั่งของพระเจ้าปดุงแล้ว ต่างก็ทยอยถอยกลับสู่กรุงอังวะกันไปจนหมด

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวช่วงสำคัญของ “สงครามเก้าทัพ” สงครามที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งระหว่างกรุงอังวะกับกรุงรัตนโกสินทร์ จากบันทึกในพงศาวดารของฝั่งพม่า ซึ่งจะเห็นได้ว่า การศึกสงครามในสมัยโบราณนั้น เสบียงอาหารในการเลี้ยงกองทัพเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงขนาดชี้เป็นชี้ตายและกำหนดการแพ้ชนะได้เลย และฝ่ายพระเจ้าปดุงแห่งกรุงอังวะก็ทรงเข้าพระทัยถึงปัจจัยนี้เป็นอย่างดี จากการที่ทรงยอมรับความพ่ายแพ้และยกทัพกลับพม่าเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียแก่กำลังพลไปมากกว่านั้น และสุดท้ายก็คือการวางกลยุทธ์และการข่าวที่มีประสิทธิภาพของทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนนำไปสู่การกำชัยเหนือไพร่พลมหาศาลของฝ่ายพม่าได้ในที่สุด

ที่มา :

[1] มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า / นายต่อ แปล. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2562.
[2] สงครามเก้าทัพ ในมุมมองพม่า (ภาค 1.2), รุ่นเก๋า…เล่าเกร็ด
[3] สงครามเก้าทัพ ในมุมมองพม่า (ภาค 2.2), รุ่นเก๋า…เล่าเกร็ด

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า