‘ความไร้มารยาททางรัฐธรรมนูญ’ สะท้อนคุณภาพนักการเมืองรุ่นใหม่ ผ่านความรู้ในประชาธิปไตยที่ตื้นเขิน

โดย : พ่อ PD แห่งคณะร่านฯ

การปกครองอย่างที่เรียกว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ นั้น เป็นอย่างเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในภาษาอังกฤษว่า ‘Constitutional monarchy’ หรือระบอบกษัตริย์ตาม (ใต้) รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ผิดแปลกแตกต่างกันในเนื้อหาสาระแบบที่นักวิชาการ (และไม่วิชาการ) บางสำนักพยายามยุแยงแต่อย่างใด เพราะเนื้อหาสาระของการปกครองแบบนี้โดยแท้จริงแล้ว คือการที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งชาติควบคู่ไปกับกลไกทางสถาบันทางการเมืองที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมืองเหล่านี้ด้วย

ตามประวัติศาสตร์แล้ว หากจะกล่าวให้พิสดาร (ละเอียด) ลงไปอีก รูปแบบการปกครองนี้ไทยเรารับมาจากระบอบการปกครองของอังกฤษโดยมิพักต้องสงสัย แม้จะดัดแปลงให้ผิดแผกแตกต่างไปจากของเดิมบ้าง หากแต่แก่นของประเพณีการปกครองยังเหมือนกัน คือถือว่าบ้านเมืองนั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองเพียงแต่ในนาม อำนาจที่แท้จริงนั้นเคลื่อนย้ายจากราชสำนักไปยังรัฐสภา (Parliament)  ซึ่งเป็นที่สถิตของอำนาจสูงสุด นั่นคือ อำนาจอธิปไตย (sovereign) โดยมีคณะรัฐมนตรี (cabinet) ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนพระมหากษัตริย์ รูปแบบการปกรองนี้เรียกกันอย่างดั้งเดิมว่า ‘ราชาธิปไตยอำนาจจำกัด’ (Limited monarchy) ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับ ราชาธิปไตยอำนาจจำกัดจึงเป็นระบอบการปกครองแบบเดียวกันอย่างไม่มีปัญหา ต่างกันเพียงแค่ชื่อเรียกเท่านั้น

กำเนิดแห่งคณะรัฐมนตรี

เมื่อกล่าวถึงพัฒนาการของระบอบการปกครอง ย่อมจะเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ไม่ได้ เพราะ 2 อย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ข้างอังกฤษนั้นเล่า เมื่อมีการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1688 อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ถูกจำกัดลงอย่างมาก การอ้างถึงอำนาจแห่งสวรรค์ (Divine right) ที่กษัตริย์อังกฤษซึ่งนับถือศาสนาคริสต์อ้างสืบทอดกันมานั้นเป็นอันเสื่อมความนิยม คติความเชื่อใหม่ได้เข้ามาแทนที่ นั่นก็คือความเชื่อว่าอำนาจการตัดสินใจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการเก็บเงินภาษีและตราบัญญัติกฎหมายควรเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยไปตัวแทนของประชาชนและขุนนางผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นับว่าเป็นของใหม่โดยแท้ นักประวัติศาสตร์อังกฤษจึงเรียกช่วงหลังการปฏิวัติรุ่งโรจน์ว่า ‘ยุคสมัยแห่งการปกครองของรัฐสภา’ (The Reign of Parliament)

ตามพงศาวดารของอังกฤษในเวลานั้น แม้ว่าอำนาจข้างราชสำนักจะลดลง หากแต่อำนาจบริหารราชการแผ่นดินในช่วงก่อนมีคณะรัฐมนตรีจากสภานั้นยังเป็นหน้าที่ของราชสำนักอยู่ โดยมีคณะองคมนตรีในการบริหารในฐานะเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ  ที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ หากแต่เรื่องการเก็บภาษีหรือออกกฎหมายนั้น ได้กลายเป็นอำนาจตัดสินใจของรัฐสภามิใช่ของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป เมื่อไม่มีอำนาจในการเก็บภาษีแล้วย่อมเป็นหนทางตัดอำนาจของราชสำนักลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อไม่มีอำนาจเงิน ก็มิพักกล่าวถึงอำนาจในเรื่องอื่น ๆ

จึงกล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษแต่เดิมที่เคยต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกับรัฐสภาก็ค่อย ๆ  ลดความสำคัญในหน้าที่การบริหารแผ่นดินลง จนกระทั่งหมดไปอย่างเด็ดขาดในช่วงศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระนางเจ้าแอนน์แห่งบริเตน (ครองราชย์ ค.ศ. 1702-1714) เพราะพัฒนาการขั้นกว่าที่เรียกกันว่า ‘รัฐบาลจากพรรคการเมือง’ (Party government)

ซึ่งการปกครองในรูปแบบนี้มีพัฒนาการอย่างช้า ๆ กินเวลากว่าหลายสิบปีนับตั้งแต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ และเริ่มเป็นแบบแผนในยุคของพระนางเจ้าพระองค์นี้ จากเดิมที่อำนาจในการบริหารเป็นของคณะบริหารของราชสำนักโดยที่พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งให้ที่ปรึกษาหรือคนสนิทของพระองค์ทำหน้าที่เสนาบดี (Minister) บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ต่อมาเมื่อเหล่าคณะหรือพรรคต่าง ๆ เริ่มเข้มแข็ง ในเวลานั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 พรรค คือ Whig และ Tory คณะพรรคเหล่านี้เมื่อชนะเลือกตั้งมากเข้าก็เริ่มกดดันราชสำนักและส่งสมาชิกที่มีความสามารถและอิทธิพลเข้าไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีแทนที่คนจากราชสำนักผ่านการตัดสินใจของผู้นำเสียงข้างมาก (Leader of majority) ในรัฐสภา จนท้ายที่สุด อย่างช้าในศตวรรษที่ 19 คณะบริหารเหล่านี้ที่เรียกว่า ‘คณะรัฐมนตรี’ ก็ไม่มีคนที่แต่งตั้งจากราชสำนักหลงเหลืออยู่เลย นี่จึงเป็นชัยชนะอีกครั้งของฝ่ายรัฐสภา

กำเนิดนายกรัฐมนตรี

เวลานั้นแม้จะมีคณะบริหารที่มาจากรัฐสภาเป็นผู้เลือกสรรโดยการตัดสินใจของผู้นำเสียงข้างมาก (Leader of majority) แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Prime minister) นั้นยังไม่ปรากฏขึ้นแต่อย่างใดตามรัฐธรรมนูญ หากจะมีเพียงสมาชิกของคณะรัฐมนตรีบางคนที่แต่เดิมพระมหากษัตริย์ทรงเรียกใช้อยู่บ่อยครั้ง ทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีเหล่านั้น แต่ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์ยังเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารอยู่ (พระมหากษัตริย์เป็นนายกรัฐมนตรีในตัวพระองค์เอง)

อย่างไรก็ดี หลังจากพระนางเจ้าแอนน์สิ้นพระชนม์ บัลลังก์อังกฤษก็ว่างลง ทำให้ทางรัฐสภาเห็นว่าควรไปทูลเชิญเอาเจ้าชายเยอรมันผู้หนึ่งที่สืบเชื้อสายย้อนไปว่าสามารถมีสิทธิในพระราชบัลลังก์อังกฤษได้ เจ้าชายเยอรมันผู้นั้นคือ พระเจ้ายอร์จที่ 1 แห่งบริเตนในเวลาต่อมา ด้วยความที่เป็นเยอรมันเต็มขั้นเพราะเกิดและเติบโตนอกประเทศอังกฤษ พระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์นี้จึงไม่รู้ทั้งธรรมเนียมการบริหารการปกครองหรือรัฐธรรมนูญอังกฤษ ภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาราชการนั้นเล่าก็ทรงง่อนแง่นเสียเต็มที่เพราะทรงเป็นเจ้าต่างชาติ

เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินลุล่วงต่อไป จึงจำต้องมีการเลือกเอาหนึ่งในคณะรัฐมนตรีมาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารประเทศแทนกษัตริย์ซึ่งในเวลานั้นทรงไม่สันทัดในการเมืองการปกครองอังกฤษเลย นั่นแหละ วิวัฒนาการของนายกรัฐมนตรี (Prime minister) ในฐานะ ‘เจ้านาย’ (Prime) แห่ง ‘มนตรี’ (Prime minister) จึงอุบัติขึ้นครั้งแรกบนโลก และนับเป็นครั้งแรกที่อำนาจการบริหารทั้งปวงหลุดพ้นจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปเป็นของนักการเมืองจากรัฐสภาโดยสมบูรณ์ ผู้ใดใคร่สนใจพงศาวดารรัฐธรรมนูญอังกฤษ โปรดหาเพิ่มเติมในหนังสือ A Brief history of English constitutional history ของ D.G.E. Hall พิมพ์ปี 1925 ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งที่เล่ารายละเอียดไว้อย่างพิสดาร

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าตามธรรมเนียมของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ อำนาจสูงสุดย่อมเป็นของรัฐสภา (Parliamentary Supremacy) และเป็นรัฐสภานั่นเล่าที่เป็นคนที่เลือกสรรนายกรัฐมนตรีมาอีกที แล้วจึงส่งต่อให้พระมหากษัตริย์พิจารณาโปรดเกล้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีนั้น ก็คือผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายที่ได้รับเลือกจำนวนของ ส.ส. มากที่สุด ตามมารยาทแล้ว รัฐสภาจะให้โอกาสพรรคที่มีเสียงข้างมากในการเลือกนายกฯ ก่อน มิพักพูดถึงรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการ ‘โปรดเกล้าฯ’ นายกฯ แล้วเท่านั้น และนั่นแล นายกฯ จึงค่อยไปเลือกรัฐมนตรีของตัวเอง ซึ่งนั่นก็คือการตั้งรัฐบาล (formation of new government) ในความหมายที่ถูกต้องตามหลักวิชา

และด้วยตรรกะเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจึงต้องรับผิด (ชอบ) ต่อรัฐสภา เพราะเขาได้รับการไว้วางใจมาจากรัฐสภา (ที่ประชาชนเลือกมาอีกที) ไม่ใช่จากพระมหากษัตริย์ สังเกตดูว่าประเพณีการรับผิดต่อรัฐสภานี้สะท้อนจาก ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจ’ ในรัฐสภา เพราะถ้าแพ้โหวต รัฐบาลเป็นอันต้องลาออกแล้วให้เลือกสรรนายกฯ กันใหม่ (โดยไม่ยุบสภา) หรือถ้าเสนอกฎหมายแล้วไม่ผ่านก็ต้องออกเหมือนกัน เพราะเป็นเครื่องสะท้อนว่ารัฐสภาไม่ไว้วางใจให้คณะของเขาบริหารประเทศอีกต่อไป เห็นได้ว่าขั้นตอนเหล่านี้อยู่นอกเหนือจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เพราะทรงไม่เกี่ยวข้องกับหนทางทางรัฐสภาเลย

เมื่อกล่าวถึงหลักวิชาคร่าว ๆ พอสมควรแล้ว พอมองกลับมาในไทยเวลานี้เล่า (มิถุนาคม.. เอ้ย ! ผิดจุด.. มิถุนายน 2566) เพราะด้วยความไม่รู้หรือไม่มีปัญญาในการศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแบบของบ้านเรา นักการเมืองไทยที่สมอ้างตัวเองว่าเป็น ‘รุ่นใหม่’ กลับไม่รู้เรื่องประเพณีการปกครองหรือมารยาททางรัฐธรรมนูญเลย เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงการจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นเวลาที่สมควรคอยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งคือ กกต. ‘รับรองผลการเลือกตั้ง’ เสียก่อน กล่าวให้ชัดก็คือต้องรอให้มีการรับรองสถานะความชอบธรรมของการเป็นตัวแทนประชาชนของตนเสียก่อนตามขั้นตอนกฎหมายนั่นคือมีกรอบภายใน 60 วัน ระเบียบข้อนี้ประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว ถ้าไม่รู้แล้วทำตีมึนแสดงว่าไม่ทำการบ้านมาทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้ารู้ดีแต่ยังขืนพูดเรื่องจัดตั้งรัฐบาลไปเรื่อย โดยที่ยังไม่มีการเปิดสมัยประชุมสภาใหม่เลย แสดงว่านักการเมืองเหล่านี้ไม่มีมารยาททางการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่สำแดงความมีมารยาททรามด้วยการไล่ให้รัฐบาลรักษาการลาออกก่อนกรอบกฎหมาย พวกนี้เป็นพวกอาการหนัก แทนที่จะเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจแบบละม่อม ก็ชอบสร้างเงื่อนไขเอามวลชนนอกสภามากดดัน ทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองพรรคอื่นเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ทำแค่เพียงรอเวลาตามกรอบกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ในความหมายนี้ หากยังไม่มีการรับรองผลการเลือกตั้งและเปิดประชุมสภา (ใหม่) ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าจะเป็นใคร เพราะต้องรอให้มติแห่งรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ แต่เมื่ออ่านข่าวที่ผ่านมานี้ พรรคการเมืองต่าง  ๆ ส่วนมากก็กล่าวไว้ชัดแล้วว่าเขาจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกฯ หรือไม่สนับสนุนใคร แต่นั่นก็คนละประเด็นกันอีกว่า พอถึงตอนเลือกนายกฯ ในวันจริง ส.ส. เหล่านี้จะเลือกกันตามตกลงใหม่ อันนี้ซีหวาดเสียวและลุ้นอยู่มาก ในเวลานี้เรามีพรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. สูสีกันถึง 2 พรรค สุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการเลือก ไม่มีใครอ้างว่าตนเป็นนายกฯ มาจากเจตนารมณ์ของประชาชนได้ เพราะประเทศไทยนี้มิได้ถือหลักการเลือกตั้งนายกฯ แบบทางตรงเหมือนเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา

นักการเมืองคนไหนอ้างว่าตนเป็นนายกฯ โดยยังไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภา ขอให้ทราบไว้เลยว่าความรู้พื้นฐานของการเมืองการปกครองประเทศตัวเองนั้นยังอ่อนด้อยนัก ! แต่กระสันจะเป็นนายกฯ จนตัวสั่น เรื่องของตัวเองยังไม่ทราบ แล้วเรื่องของชาติจะไปไหวเร่อ…?

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า