ความเท็จที่ซ่อนระหว่างบรรทัด เมื่อปิยบุตร โยนหินถามทาง ให้ท้ายการล้มล้างการปกครอง

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์คำนำของหนังสือสองเล่มล่าสุดที่เขียนโดยอาจารย์ปิยบุตรเอง นั่นคือหนังสือ “เปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย” ซึ่งได้รวมข้อเขียน บทความ และบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ปิยบุตร เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสาระสำคัญของคำนำในหนังสือ มีดังนี้

“ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์แบบใดก็ตาม คงต้องยอมรับความจริงว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสำคัญของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในแทบทุกมิติ และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน และคงต้องยอมรับว่าเป็นความจริงอีกเช่นกัน ณ วันนี้ คนไทยจำนวนมากมีความเห็นในเรื่องระบอบการปกครองและรูปของรัฐออกไปอย่างหลากหลาย อยู่ที่จะกล้าแสดงออกหรือไม่ภายใต้ข้อจำกัดของระบบกฎหมายไทยที่อนุญาตให้เชื่อได้ “ระบอบเดียว” บางคนอยากให้เป็นสาธารณรัฐ บางคนอยากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บางคนอยากให้เป็นอยู่แบบนี้ต่อไป บางคนเฉยๆไม่สนใจปล่อยไปสุดแท้แต่จะเป็น”

 “ผมตั้งชื่อหนังสือว่า “เปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย” แม้ วันนี้ “ประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กำลังถูกปิดลง” ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแสดงออกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และภายใต้การก่อ “นิติสงคราม” ปราบปรามเยาวชนอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้น ณ วันนี้ ก็ไม่มีใครมองไม่เห็นหรือแกล้งมองไม่เห็น “ช้างในห้อง” ได้อีกแล้ว”

สิ่งที่ทีมงาน ฤา เกิดความสงสัย และตั้งคำถามในสิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรฯ เขียนในหนังสือก็คือ ประโยคที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแสดงออกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และภายใต้การก่อ ‘นิติสงคราม’ ปราบปรามเยาวชนอย่างต่อเนื่อง”

ประเด็นคือ อาจารย์ปิยบุตรฯ แสร้งทำเป็นไม่เห็นว่า คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น ให้เหตุผลไว้อย่างไร และการดำเนินการกับกลุ่มม็อบในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เป็นการก่อ “นิติสงคราม” ตามวาทกรรมที่อาจารย์ปิยบุตรฯ กำลังพูดหรือไม่

ทีมงาน ฤา จึงได้ไปสืบค้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาดู และความจริงก็ปรากฎออกมาว่า อาจารย์ปิยบุตรฯ “กล่าวความเท็จ”

“นิติสงคราม” ของอาจารย์ปิยบุตรคือวาทกรรม และการปราบปรามเยาวชนคนเห็นต่างก็ “ไม่มีจริง” เพราะพฤติการณ์ของกลุ่มม็อบปฏิรูปสถาบันฯ ที่ผ่านมาไม่ใช่การต่อสู้ของคนเห็นต่าง หากแต่มุ่งไปสู่การ “ล้มล้าง” สถาบันฯ และสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมเสียมากกว่า

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่าไว้อย่างไร เรามาดูเป็นข้อๆ ดังนี้

 เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

  1. หลักการตามมาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 มาตรา 35 บัญญัติไปในทำนองเดียวไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากภัยคุกคาม หรือเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการมีอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป
  2. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 มีการจัดเวทีปราศรัย เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยว่า หมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ เช่นนี้แล้วแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
  3. ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายประวัติศาสตร์การปกครองต่อไปว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชนุภาพของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
  4. พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักของชาติไทยและถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า เมื่อมีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังที่จะกล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญคือ หนึ่ง กษัตริย์ สอง สภาผู้แทนราษฎร สาม คณะกรรมการราษฎร สี่ ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ที่จะมีกฎหมายไว้เฉพาะก็ดีจะต้องกระทำในนามกษัตริย์
  5. ต่อมาได้มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับดังกล่าว บททั่วไปมาตรา 2 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ … หมวด 3 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ มาตรา 5 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม มาตรา 6 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 7บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี มาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย จากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามดังกล่าว
  6. แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรและประชาชนชาวไทยยังเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันหลัก ที่ยังต้องคงอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำนองเดียวกันกับประเทศต่างๆ ที่มีความเป็นมาของชาติและเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ เอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติ จะมีกฎหมายห้ามกระทำการอันทำให้มีมลทิน ต้องเสื่อมค่า เสียหายหรือชำรุด
  7. ข้อเรียกร้องเรืองการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้รับรองพระราชฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดไม่ได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง
  8. การกระทำของกลุ่มบุคคลที่ถูกร้อง เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคายและยังจะละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้นการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
  9. แม้การปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ยังปรากฏว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม
  10. ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญสามประการคือ เสรีภาพ หมายถึงทุกคนมีสิทธิที่จะคิด พูดและทำอะไรได้ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาค หมายถึงทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ภราดรภาพ หมายถึงบุคคลทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างพี่น้อง มีความสามัคคีกัน การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทย ผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่าหรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์
  11. การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น รวมถึงล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ปรากฏข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายสำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ในเหตุการณ์ กลุ่มบุคคลดังกล่าว มีส่วนจุดประกายในการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลของการกระทำนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด
  12. การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้องสิบข้อของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไม่ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตลอดมา ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำ มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้มีการรวมตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยสรุปแล้ว ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขบวนการ และข้อเรียกร้องการปฏิรูปที่เคลือบแฝงความรุนแรงเอาไว้ ทั้งการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินออกจากธงชาติ การขึ้นป้ายว่าต้องการการปฏิวัติ การด่าทอหยาบคายจาบจ้วง รวมถึงการยกเลิกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามประวัติศาสตร์ประเพณีการปกครองของประเทศ สิ่งเหล่านี้ย่อมบ่งบอกได้ชัดเจนว่า สิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรฯ เขียนคำนำในหนังสือของตนเองนั้นล้วนเป็น “ความเท็จ” และความเท็จก็ไม่ใช่ “เสรีภาพทางวิชาการ” นั่นเอง

อีกทั้งสิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ สถานะของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ก็ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แล้วด้วย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น หากจะกล่าวให้ชัดก็คือ การร่วมกันของในหลวงรัชกาลที่ 7 และคณะราษฎร โดยคณะราษฎรเองก็ยอมรับในหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ มาตั้งแต่แรก

กรณีนี้จึงชัดเจนว่า ความต้องการยกเลิกสถานะของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไม่ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา

ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรฯ กล่าวอ้างมาไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม “นิติสงคราม” หรือการ “ปราบปรามเยาวชน” จึงล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น และความหมายที่ซ่อนระหว่างบรรทัดในคำนำหนังสือของอาจารย์ปิยบุตรฯ ก็ไม่ได้ชวนให้นึกถึงการ “ปฏิรูป” ตามที่กล่าวอ้างเลย

ที่มา :

[1] คำนำหนังสือ “เปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย”
[2] ศาลรัฐธรรมนูญ: คำวินิจฉัยคดีม็อบ 10 สิงหาฯ กับ อนาคตของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์