‘พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ’ ความหมายอันลึกซึ้งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ กับการโอบกอดประชาชนด้วยเสียงเพลง

เราต่างทราบกันดีว่าบทเพลงนั้นสามารถมอบความรื่นรมย์ ความสงบ ความสบายใจ ไปจนถึงปลุกเร้าพลังและระดมกำลังให้กระทำในสิ่งต่างๆ ได้ด้วยใจที่ฮึกเหิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงชาติของแต่ละชาติที่สามารถหลอมรวมให้ประชาชนสามารถสามัคคีปรองดองกันได้ บทเพลงเหล่านี้นอกจากเนื้อหาและทำนองเพลงแล้ว ยังมีความสำคัญอยู่ที่ใครเป็นผู้แต่ง และแต่งในบริบทใดอีกด้วย

ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความลำบากและความทรหดในหลายด้าน ได้มีการแต่งเพลงขึ้นมามากมายในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงเกี่ยวกับการเผยแพร่ลัทธิชาตินิยมซึ่งมีจำนวนถึง 60 เพลง เช่น เพลงกราวชัย ที่มีเนื้อร้องส่วนหนึ่งว่า “บางสมัยไทยด้อยจวนย่อยยับ ไทยกลับแก้ฟื้นคืนได้” หรือเพลงกรุงศรีอยุธยา ที่มีเนื้อร้องส่วนหนึ่งว่า “ชาวศรีอยุธยามาด้วยกัน เลือดไทยใจมั่นไม่พรั่นหนี” [1] ซึ่งเพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่ถูกเปิดระดมผ่านสถานีวิทยุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเพื่อให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในลัทธิผู้นำและรักชาติภายใต้ความรู้สึกทั้งความกลัว ความเศร้า ฯลฯ ในยุคที่ระเบิดอาจลงเมื่อไรก็ได้

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงในช่วง พ.ศ. 2488 อันเป็นช่วงที่จอมพล ป. ต้องลงจากอำนาจด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้เปิดรับ “ฟ้าวันใหม่” ด้วยรัชกาลที่ 8 ได้บรรลุนิติภาวะและพร้อมที่จะปกเกล้าในฐานะพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างเต็มตัว โดยพร้อมด้วยพระราชภารกิจใหม่อย่างการเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎร ซึ่งได้กลายเป็นงานประจำและบทบาทใหม่ของพระมหากษัตริย์ [2]

ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้ารัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 นั้นเป็นช่วงเวลาของการตกลงในขอบเขตของการปกครองในระบอบใหม่ กล่าวคือ รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รับหน้าที่อันหนักในการเสริมการเปลี่ยนผ่านและการตกลงถึงขอบเขตอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ให้ลงตัวให้ได้ อย่างไรก็ดีความพยายามนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ ความบาดหมางและความไม่เข้าใจกันได้เกิดขึ้นอย่างร้าวลึก และสุดท้ายรัชกาลที่ 7 ได้ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ หลังจากที่สละราชสมบัติ รัชกาลที่ 8 ทรงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อ แต่ก็นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ก่อนที่รัชกาลที่ 8 จะทรงพร้อมในการปกเกล้าประชาชน

ในช่วงเวลา 10 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญเนื่องจากพระมหากษัตริย์ของไทยได้ประทับอยู่ที่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำและจะต้องไม่ก่อให้เกิดแรงเสียดทานทางการเมืองและความขัดแย้งแบบที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 คือจะเชื่อมต่อกับประชาชนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าประชาชนได้ผ่านช่วงหดหู่และการไร้ความหวังจากสภาวะของสงครามมาแล้ว

สิ่งนั้นคือบทเพลงพระราชนิพนธ์

เดิมทีแล้วรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการถ่ายรูปและดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้นเราจึงจะเห็นรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นช่างภาพประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 8 อยู่เสมอ ในช่วงฟ้าวันใหม่นี้เอง ที่รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นฉากหลังที่เสริมพลังให้รัชกาลที่ 8 ปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางประชาชนได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างการต้องพระแสงปืนของรัชกาลที่ 8 ขึ้น รัชกาลที่ 9 จึงทรงรับหน้าที่ปกเกล้าประชาชนสืบมา และยิ่งตอกย้ำอีกว่าพิษการเมืองยังคงไม่สิ้นสุด

การหาทางออกจึงเป็นไปได้ที่รัชกาลที่ 9 จะทรงเกิดความคิดที่จะใช้ความสนใจด้านดนตรีของพระองค์ทำอะไรได้บ้างในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่และต้องทำหน้าที่ท่ามกลางประชาชน ดังจะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เพลงพระราชทานให้วงดนตรีได้นำไปบรรเลงในงานการกุศล และจากบทสัมภาษณ์ที่พระราชทานแก่ New York Times ว่า “เมื่อข้าพเจ้าเอ่ยปากและตั้งใจจะแนะนำบางอย่าง พวกเขาก็พากันบอกว่า ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยังไม่ทรงทราบเรื่องราวใดๆ’ ข้าพเจ้าจึงปิดปาก ความจริงข้าพเจ้ารู้ แต่เมื่อพวกเขาไม่ต้องการให้ข้าพเจ้าพูด ข้าพเจ้าก็ไม่พูด” [3] จึงช่วยยืนยันการใช้เสียงเพลงพูดแทนได้อย่างดี

เพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ออกมานั้นคือเพลง “แสงเทียน” เมื่อ พ.ศ. 2489 โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพลงแสงเทียนนั้นแม้จะมีเนื้อร้องที่มีความเศร้าหมองแต่ก็ยังมีประกายของความหวัง เช่น “ทำบุญทำทานกันไว้เถิดเกิดเป็นคน ไว้เตรียมผจญชีวิตใหม่ เคยทำบุญทำคุณปางก่อนใด ขอบุญคุ้มไปชีวิตหน้า” [4] หรือเพลง “ยามเย็น” และเพลง “สายฝน” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ซึ่งเนื้อหาของทั้งสองเพลงนั้นสอดคล้องไปทางเดียวกัน แต่ก็ยังมีความหลากหลายด้านท่วงทำนอง

นอกจากเพลงยามเย็น สายฝน ยังมีเพลง “ใกล้รุ่ง” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ โดยทั้งสามเพลงนี้ได้วงสุนทราภรณ์ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนั้นมาบรรเลง และสถานีวิทยุกรมโฆษณาการเป็นผู้เผยแพร่ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก [5]

บทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้จึงสามารถเข้าถึงประชานได้ในวงกว้าง รวมทั้งยังสื่อความหมายได้หลายแบบพร้อมกันไม่ว่าจะในงานลีลาศหรือช่วงผ่อนคลาย รวมไปถึงการชักพาให้นึกถึงความรู้สึกบางอย่างที่เข้ามาสัมผัสใจ เช่น ความชุ่มฉ่ำของสายฝน บทเพลงพระราชนิพนธ์อีกแง่หนึ่งจึงเป็นการแนะนำพระองค์กับประชาชนผ่านเสียงเพลง ไม่ว่าจะอ่อนหวาน คึกคัก รวมไปถึงความหมายของเพลงที่เต็มไปด้วยความรักและความปรารถนาดี ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ได้ตัดกับความตึงเครียดทางการเมืองและบทเพลงปลุกระดมของจอมพล ป. ที่เพิ่งจบไปได้อย่างดี [6] และหากสังเกตจะพบว่าเนื้อเพลงในยุคนี้นั้นบรรจุพระจันทร์และพระอาทิตย์ไว้ในหลายท่อน ซึ่งผู้ฟังที่ดีอาจจะเห็นความหมายซึ่งแทนถึงรัชกาลที่ 9 ที่เกิดวันจันทร์ และรัชกาลที่ 8 ที่เกิดวันอาทิตย์ บทเพลงพระราชนิพนธ์นี้จึงเป็นที่พบกันของสองยุวกษัตริย์อย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 นั้นตั้งต้นด้วยความรักและความปรารถนาดีที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน และพระองค์ยังได้พระราชนิพนธ์บทเพลงขยายออกไปอีกมาก เช่น บทเพลงประจำสถาบันต่างๆ ซึ่งทำให้คนร้องเกิดความผูกพันและความรักมากขึ้น การผูกใจประชาชนนี้เรายังเห็นได้จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ได้พยายามทำเช่นเดียวกันด้วย [7] หากแต่บทเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความปรารถนาดี ส่วนบทเพลงของคอมมิวนิสต์นั้นเปี่ยมไปด้วยความฮึกเหิม และการประชันระหว่างบทเพลงทั้งสองในการเข้าถึงประชาชนนั้นก็ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนในตอนสุดท้าย เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ต้องแตกสลายลง และบทเพลงพระราชนิพนธ์ยังคงก้องกังวาน

เสมือนความหมายที่บอกว่า ความรักได้ชนะอันตรายทั้งปวงนั่นเอง

อ้างอิง :

[1] สุมณฑา ศักดิ์ชัยสมบูรณ์, “เพลงไทยสากลตามนโยบายของจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540), หน้า 61.
[2] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 191.
[3] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 208-209 และ 206.
[4] เนื้อเพลงจากเครือข่ายกาญจนาภิเษก.
[5] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 211.
[6] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 212-213 และ 215.
[7] กลุ่มเพื่อน สปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า