ความย้อนแย้งครั้งใหญ่ของสังคมไทย จากมรดกของคณะราษฎรที่หยั่งรากลึกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นหมุดหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดชุดความคิดใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนชุดความคิดเก่า โดยแม้ว่าคณะราษฎรจะเริ่มเสื่อมอำนาจลงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้ไม่นานนัก แต่ก็มีอิทธิพลของคณะราษฎรที่ยังคงมีบทบาทในสังคมปัจจุบัน และได้แฝงตัวเข้าไปในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่มายาวนาน

ไม่ว่าจะเป็น สถานที่สำคัญที่มีการนำชื่อบุคคลสำคัญของคณะราษฎรมาตั้งชื่อทั่วประเทศ อนุสาวรีย์สำคัญในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ หรือแม้แต่ชื่อถนนและสะพานบางส่วนก็เช่นกัน รวมทั้งอาคารที่สร้างในสมัยคณะราษฎรก็ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน

และไม่เพียงเท่านั้น มรดกตกทอดของคณะราษฎรที่นอกเหนือจากวัตถุจับต้องได้นั้น ก็ยังมีชุดความคิดและวัฒนธรรมประเพณีที่ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน และได้แฝงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างแนบแน่น อาทิ ชุดนักเรียนแบบปัจจุบัน การไว้ทรงผมนักเรียน การบังคับเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์ในชั้นเรียน คุณค่าความคิดชาตินิยมแบบกีดกัน แนวคิดเอกวัฒนธรรมที่ชูความเป็นพุทธและเชื้อชาติไทย และอื่น ๆ ที่เป็นร่องรอยมรดกของคณะราษฎรที่ได้จารึกไว้ในสังคมไทย

ซึ่งความย้อนแย้งสำคัญจากเรื่องนี้ คือ ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มที่ยอมรับแนวคิดประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษานั้น มักจะมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านวัฒนธรรมไทยเดิมอย่างมากมาย โดยบ่อยครั้งก็มีการต่อต้านการเคารพธงชาติและมองว่า ล้าหลัง การรณรงค์ด้านการเปิดกว้างความหลากหลายในสังคม รวมทั้งการส่งเสริมแนวคิดคุณค่าพหุวัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้กลุ่มชายขอบอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น

แต่ในมุมหนึ่ง สิ่งที่ได้ต่อต้านและส่งเสริมเหล่านี้นั้น กลับได้ขัดแย้งกันเองกับอุดมการณ์และคุณค่าความคิดของคณะราษฎร ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็นแบบอย่างสำคัญของขบวนการทางการเมืองที่มองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเมื่อเทียบกับบริบททางสังคมในสมัยคณะราษฎรเรืองอำนาจนั้น ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบันก็ไม่ต่างจากคุณค่าความคิดในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียเท่าไหร่นัก

เพราะต้องอย่าลืมว่า การเข้ามาของคณะราษฎรในการยึดอำนาจรัฐบาลเดิม ไม่ได้มีเพียงกระบวนการการสร้างระบอบการปกครองใหม่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการรักษาระบอบการปกครองใหม่ไม่ให้ถูกย้อนกลับไปที่ระบอบเดิมโดยผู้เห็นต่างทางการเมืองในขณะนั้น จึงมีวิธีการมากมายในการรักษาระบอบการปกครองของคณะราษฎรในหลากหลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นขององค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์จากรัฐโดยตรงและทำหน้าที่ด้อยค่าข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อระบอบใหม่ หรือแม้แต่การสร้างชุดความคิดใหม่เพื่อแทนที่ชุดความคิดเก่า และทำให้ระบอบใหม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง อีกทั้งยังอยู่ในช่วงบริบทที่เกิดความตึงเครียดทางการเมืองทั่วโลกและมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดสงครามใหญ่ในอนาคตโดยสังเกตได้จากการเข้าแถวต่าง ๆ และวัฒนธรรมแบบทหารที่เริ่มแพร่หลายในช่วงสมัยคณะราษฎรเรืองอำนาจ

จากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมที่มีคณะราษฎรเป็นศูนย์กลางที่มีการกีดกันเชื้อชาติและศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของสังคม และแพร่ขยายลัทธิชาตินิยมที่นำโดยรัฐไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนวกวัฒนธรรมหลักของประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นแนวคิดชาตินิยมแบบกีดกันที่เน้นการยึดถือเพียงกลุ่มคนกลุ่มเดียว

ซึ่งจากวิธีการนี้ก็รวมทั้งการบังคับให้ประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาพุทธตามแบบของรัฐ การกีดกันวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่นำโดยคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วัฒนธรรมของศาสนาและเชื้อชาติอื่น รวมทั้งวัฒนธรรมอื่นที่เข้าข่ายบั่นทอนเป้าหมายทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน

เหตุผลของการบังคับใช้นโยบายชาตินิยมแบบกีดกันเช่นนี้ ก็เพราะต้องการที่จะเปลี่ยนรากฐานของแนวคิดชาตินิยมที่แต่เดิมอิงอยู่กับสถาบันเดิมของชาติให้อยู่กับภาครัฐซึ่งก็คือ คณะราษฎร ที่ต้องการส่งเสริมค่านิยมในการสร้างชาติใหม่โดยอิงอยู่ที่เชื้อชาติไทยในฐานะเชื้อชาติหลักของประเทศและศาสนาพุทธตามแบบใหม่ของรัฐในฐานะศาสนาหลักของประเทศ

นโยบายชาตินิยมของคณะราษฎรนั้น มีความแตกต่างจากแนวคิดพหุวัฒนธรรมซึ่งถูกส่งเสริมมาตั้งแต่ช่วงสมัยโบราณมาถึงช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มองคนเชื้อชาติอื่นและศาสนาอื่นเป็นคนร่วมชายคาเดียวกัน ไม่ได้มองเป็นคนนอกหรือมองว่าเป็นแพะรับบาป ซึ่งในประวัติศาสตร์สยามก่อนที่จะถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เห็นได้ชัดว่า เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถอพยพเข้ามาในพื้นที่ขอบขัณฑสีมาและมองเป็นเพื่อนร่วมชาติตราบที่สร้างประโยชน์แก่ชาติได้โดยไม่ถูกบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อและศาสนาแต่อย่างใด

มาถึงตรงนี้ก็สามารถทราบได้ว่า มรดกของคณะราษฎรที่แท้จริงอาจไม่ใช่เพียงแค่ระบอบใหม่ สิ่งปลูกสร้างรูปทรงแปลก ๆ หรือแม้แต่วัฒนธรรมความคิดความเชื่อที่เกิดขึ้น แต่มรดกที่แท้จริงคือการสร้างค่านิยมที่มีคณะราษฎรเป็นศูนย์กลาง และทำทุกวิถีทางเพื่อแทนที่ความเชื่อเก่าด้วยความเชื่อใหม่ แม้ว่าจะต้องทำสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็ตาม และก็ได้เห็นชัดแล้วจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้า

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน คือ มรดกของคณะราษฎรที่ตกทอดมาถึงสังคมไทยปัจจุบัน ใช่ว่าทุกอย่างจะแย่เสมอไป ตัวอย่างสำคัญคือ การจัดระเบียบชุดนักเรียนในประเทศไทยให้เป็นแบบเดียวกัน รวมทั้งเพลงชาติไทยที่แม้ว่าจะเป็นมรดกจากยุคสมัยคณะราษฎร แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เพลงชาติไทยปัจจุบันคือจุดรวมศูนย์ของความสามัคคีของคนในชาติไปแล้ว แม้ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม เมื่อเพลงชาติไทยถูกเปิดออกมาไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม บรรยากาศของความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติจะเข้ามาอย่างรวดเร็วและทรงพลังอยู่เสมอ

แม้ว่าจะมีคนบางคนที่อาจประชดประชันว่า “อีกฝั่งหนึ่งที่อ้างว่าไม่ยอมรับคณะราษฎร แต่กลับรับอิทธิพลของคณะราษฎรเสียเอง” ก็คงต้องบอกว่า ฝ่ายที่ถูกกล่าวถึงนั้นส่วนหนึ่งเขายอมรับอิทธิพลและมรดกตกทอดของคณะราษฎรที่ดี ไม่ใช่ชุดความคิดและวัฒนธรรมที่สร้างความแตกแยก ทำลายความเป็นเอกภาพของสังคม แต่สิ่งดี ๆ ก็ยอมรับ เพราะแก่นหลักของวัฒนธรรมไทยจริง ๆ คือ การปรับตัวและรับสิ่งดี ๆ เข้ามา

ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมไทยไม่ได้อยู่นิ่งและรับสิ่งใหม่จากภายนอกมาเรื่อย ๆ อะไรที่ดีและเข้ากับบริบทของประเทศก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมอาหาร วัฒนธรรมมารยาทพื้นฐาน วัฒนธรรมการแต่งกาย ฯลฯ แต่อะไรที่ไม่ดีไม่งาม หรือไม่เข้ากับบริบทประเทศ เมื่อรับเข้ามาแล้ว ก็จะอยู่ได้ไม่นานและหายไปเองอย่างรวดเร็ว จัดว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมไทยที่ยังดำรงมาจนถึงปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ มรดกของคณะราษฎรที่ได้ทิ้งไว้แก่สังคมไทยเป็นจำนวนมากมาถึงปัจจุบัน ย่อมเป็นบทเรียนสำคัญถึงสิ่งที่เคยขึ้นก่อนหน้าและผลพวงจากความพยายามที่ต้องการรื้อสร้างชุดความคิดเก่าด้วยชุดความคิดใหม่ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและกังขา ทั้งนี้ก็มีมรดกของคณะราษฎรบางส่วนที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และทุกฝ่ายต่างก็ยอมรับในคุณค่าความคิดนี้แม้ว่าจะมาจากใครก็ตาม

ดังนั้น เรื่องนี้สามารถบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ไม่มีการทบทวนและเรียนรู้ ก็ย่อมสามารถเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีก และขณะเดียวกัน การเข้าใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมกันโดยเฉพาะในเรื่องราวดีงามต่าง ๆ ก็คือปัจจัยสำคัญในการก้าวข้ามความขัดแย้งและร่วมเดินไปข้างหน้าต่อไป ดังประโยคที่ว่า

ทุ่งดอกไม้ที่สวยงามมักประกอบด้วยดอกไม้หลากหลายสีเสมอ

อ้างอิง :

[1] ชวนรู้จัก มรดกคณะราษฎร 2475 เพราะประชาธิปไตยมิใช่สิ่งเดียวที่คงเหลือ
[2] เกรียนไทยมาจากไหน? และทำไมทรงผมถึงกลายเป็นเครื่องแบบ?
[3] พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482
[4] หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา : 66 ปี บังคับสูญหายผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี
[5] มรณสักขีสองคอน : แค่นับถือ “คริสต์” ทำไมต้อง “ตาย”
[6] ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4) มรดก “ขุนนิรันดรชัย” กับ ความลับของ “จอมพล ป.” ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
[7] ย้อนมองการศึกษาไทย 2475 ถึงปัจจุบัน นักวิชาการชี้โจทย์ใหญ่คือ ‘ความไม่เป็นประชาธิปไตย’

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า