กำเนิด ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ และพระอัจฉริยภาพด้านงานภาพยนตร์ ของในหลวงรัชกาลที่ 7

รู้ไหมว่า ภาพยนตร์เก่าแก่เรื่องหนึ่งของไทย ที่นับได้ว่าเป็นมรดกหนังเงียบที่สมบูรณ์ที่สุดของชาติ คือ “แหวนวิเศษ” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 เป็นภาพยนตร์ ขาว-ดำ ความยาว 25 นาที ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว อำนวยการสร้าง, เขียนบท และกำกับโดย “นายน้อย ศรศักดิ์” หรือที่รู้จักกันในนามแฝงของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

“แหวนวิเศษ” คือเรื่องของชาวประมงคนหนึ่งชื่อ ตาคง แกนำลูกเลี้ยง 5 คนไปปล่อยเกาะด้วยความเกลียดชัง กระทั่งเด็ก ๆ เหล่านั้นเข้าป่าไปพบพรายน้ำ และได้รับแหวนวิเศษซึ่งสามารถเสกสรรบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้

หนังถ่ายทำตามขนบของภาพยนตร์เงียบ คือ มีอินเตอร์ไตเติ้ลคั่นบอกเล่าเรื่องราวและบทสนทนาแต่ละฉาก จัดเป็น 25 นาทีของหนังแนวตลกร้าย และบางมุขถึงกับตอกหน้าฮาหงายเลยทีเดียว นับเป็นพระอัจฉริยภาพทางด้านภาพยนตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 7 รวมถึงพระราชอารมณ์ขันของท่านที่แทรกอยู่ตามอินเตอร์ไตเติ้ล ซึ่งทำให้คนดูอมยิ้มไปกับเรื่องราว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทรงถ่ายทำขณะเสด็จประพาสทางทะเลในอ่าวไทย พ.ศ. 2471 โดยนักแสดงทั้งหมดล้วนเป็นบรรดาเชื้อพระวงศ์ทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

หนังเงียบเรื่องนี้นับเป็นมรดกล้ำค่าทางภาพยนตร์ ที่สมบูรณ์ที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย และได้ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2556

การถ่ายทำภาพยนตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 7 เป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์ที่ได้ริเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระองค์เอง ทั้งนี้ ทรงสนใจเรื่องการถ่ายภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหว มาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ โดยมีกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้ถวายคำแนะนำ แม้หลังขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ยังทรงนิยมการถ่ายทำภาพยนตร์ เพราะเมื่อเสด็จไปไหนมาไหน ก็มักพกพากล้องถ่ายไปด้วยเสมอ

ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการบันทึกพระราชกรณียกิจ ภาพยนตร์ประเภทข่าว รวมทั้งภาพยนตร์แนวดำเนินเรื่อง ซึ่งภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายทั้งหมด ทรงตั้งชื่อว่า “ภาพยนตร์อัมพร” ตามพระที่นั่งอัมพรสถาน อันเป็นที่ประทับในรัชกาลของพระองค์

พระราชนิยมในการถ่ายทำภาพยนตร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจการภาพยนตร์ไทย ได้เฟื่องฟูไปด้วยในช่วงเวลานั้น

พระองค์ได้ทรงริเริ่มก่อตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473 มีสำนักงานอยู่ในพระตำหนักจิตรลดา โดยมีร้านขายฟิล์มและอุปกรณ์ถ่ายภาพยนตร์ รวมถึงบริการต่าง ๆ เช่น ล้างฟิล์ม พิมพ์ฟิล์ม และรับทำไตเติ้ลให้กับสมาชิก ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และประชาชนทั่วไปเป็นสมาชิกกว่าร้อยคน

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ทางสมาคมได้จัดตั้งห้องฉายภาพยนตร์ขึ้นที่สำนักงานในพระตำหนักจิตรลดา จุผู้ชมได้ร้อยกว่าที่นั่ง โดยจะจัดฉายภาพยนตร์ให้ชมทุกเดือน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จมาร่วมทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นประจำอีกด้วย

และสิ่งที่ ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “โรงภาพยนตร์”

ในยุคแรก ๆ โรงภาพยนตร์ในบ้านเราจะเป็นแค่โรงไม้หรือสังกะสี ไม่มีลักษณะสวยงามหรือมั่นคงถาวรเหมือนในปัจจุบัน แต่ด้วยความเฟื่องฟูของกิจการภาพยนตร์ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยแห่งแรกเกิดขึ้นในสยาม นั่นคือ “ศาลาเฉลิมกรุง” หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง” บางทีก็เรียกสั้น ๆ ว่า “เฉลิมกรุง”

“ศาลาเฉลิมกรุง” นับว่าเป็นโรงมหรสพที่ทันสมัยมากในยุคนั้น ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง กระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2476

จากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”

อาคารเฉลิมกรุงจัดได้ว่า เป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียขณะนั้น ภายในอาคารออกแบบตกแต่งด้วยศิลปะไทยผสมผสานกับศิลปะตะวันตก มีระบบแสง สี เสียง ที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ นอกจากนั้นยังมีการนำภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์ม เข้ามาฉายเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ครั้นต่อมาเมื่อถึงยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟูมากขึ้น ศาลาเฉลิมกรุงจึงเป็นเสมือนหนึ่งศูนย์กลางของวงการบันเทิงอย่างแท้จริง ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็น “ฮอลลีวูดเมืองไทย” เลยทีเดียว

ที่มา :

[1] สถาบันพระปกเกล้า, ปกเกล้าธรรมราชา (2558 : กรุงเทพ) สำนักพิมพ์ สถาบันพระปกเกล้า
[2] ห้องสมุด มสธ., สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม
[3] แหวนวิเศษ : ภาพยนตร์โดยฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า