การเสด็จประพาสยุโรปของ รัชกาลที่ 5 Soft Power ในการรักษาเอกราชอธิปไตยของไทย : ตอนที่ 2

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในเบื้องต้นแม้ว่าจะมีความขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งการเสด็จประพาสในครั้งนั้นถือเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของชาวสยามแก่ชนชาติตะวันตกด้วยการปรากฏพระองค์เอง ส่งผลให้เกิดการยอมรับทั้งจากราชสำนัก ประมุข และผู้นำของรัฐบาลต่างๆ และพระองค์ยังทรงได้รับความสนใจจากสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดเห็นของสาธารณชนอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ในยุโรปอีกด้วย

และหนึ่งในประเทศที่ให้การต้อนรับพระองค์เป็นอย่างดีคือ รัสเซีย หลังจากที่ขบวนเสด็จฯ ได้เดินทางถึงประเทศรัสเซีย ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงได้รับการต้อนรับและได้รับมิตรไมตรีอย่างดียิ่งจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และมีการเผยแพร่พระรูปร่วมกันของสองพระองค์ในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั่วยุโรป

การต้อนรับและมิตรไมตรีที่พระมหากษัตริย์สยามได้รับจากพระมหากษัตริย์รัสเซียนี้ มาจากความสัมพันธ์อันดีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นมกุฏราชกุมารแห่งรัสเซีย พระองค์ได้เสด็จเยือนเมืองไทยในปี พ.ศ. 2433 และทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ จึงทำให้พระองค์มีมิตรไมตรีจิตและความคุ้นเคยดียิ่งกับในหลวงรัชกาลที่ 5

ซึ่งการต้อนรับของประเทศรัสเซียนั้น ทำให้สยามเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากราชสำนักและประชาคมยุโรปอื่นๆ ในเวลานั้น โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรปและแถบสแกนดิเนเวีย

การเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปด้วยพระองค์เองในครั้งนั้น เปรียบเสมือนท่านทรงใช้ตนเองเป็นสื่อบุคคล อีกทางหนึ่ง เป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศ ให้ต่างประเทศจดจำและยอมรับสยามในฐานะชาติที่มีความศิวิไลซ์ มากกว่าที่เขาได้พบได้อ่านจากบันทึกของคนที่เดินทางเข้ามาในสยามหรือภาพเขียนในยุคนั้น ส่งผลให้ไม่เพียงแต่เฉพาะคนในระดับสูงของยุโรปเท่านั้นที่รู้จักในหลวงรัชกาลที่ 5 หากแต่ประชาชนทุกระดับที่ได้มีโอกาสสัมผัส King of Siam ด้วยตนเองหรือผ่านสื่อต่างๆ ก็รู้จักสยามผ่านทางพระองค์ท่านได้ดีขึ้น

ดังนั้น ผลระยะยาวจากการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้น น่าจะเป็นภาพลักษณ์เชิงบวกของชาวสยามจากการปรากฏพระองค์ให้ชาวตะวันตกได้เห็นกับตาตนเองถึงพระจริยวัตรอันงามสง่า และความมีอารยะของพระมหากษัตริย์แห่งสยาม สิ่งเหล่านี้ได้ลบล้างภาพจำเดิมๆ ของชาวยุโรปจากข่าวชวนเชื่อในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับความเป็นคนป่าคนเถื่อนของสยามลงจนหมดสิ้น ดังที่พบว่า จากการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 พระองค์ได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็น “The Civilizer of the East” และ “The most educated of the Asian rulers”

การเสด็จประพาสซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์สยามประเทศนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 และคณะที่ปรึกษาได้มีการจัดเตรียมการเดินทางล่วงหน้า อีกทั้งยังศึกษาข้อมูลการเดินทางของพระเจ้าแผ่นดินของชาติอื่น ที่ได้เดินทางไปยุโรปมาก่อนหน้านั้น นั่นคือ ขบวนเสด็จพระมหากษัตริย์จากตะวันออก ได้แก่ พระเจ้ากรุงตุรกีกับพระเจ้ากรุงเปอร์เซียที่เสด็จด้วยขบวนใหญ่โต ที่มีผู้โจษจันถึงขบวนและพิธีการที่ปฏิบัติตามขนบประเพณีอย่างตะวันออกแท้ๆ จนสร้างความระอาให้กับเจ้าบ้าน อีกทั้งบางพระองค์ยังให้รัฐบาลของประเทศบางประเทศ (เช่น อังกฤษ) ต้องเสียเงินทองรับรองเป็นจำนวนมาก

ดังที่มีหนังสือกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 115 กรณีการเสด็จประพาสยุโรปโดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ของกษัตริย์และเจ้านายจากตะวันออกเหล่านั้น โดยเรียบเรียงความตอนหนึ่งได้ว่า …

“พระมหากษัตริย์แต่ประเทศตะวันออกซึ่งได้เสด็จมาประพาสยุโรปนั้น มีพระเจ้ากรุงตุรกีกับพระเจ้ากรุงเปอร์เซียองค์ก่อน ท่านทั้งสองเสด็จมาด้วยกระบวนมากมายใหญ่โตเป็นอย่าง Oriental แท้ๆ เสด็จแห่งใดก็เป็นที่เมืองนั้นระอาในที่รับเสด็จ ทำอะไรดูเหมือนไม่รู้สึกเกรงใจเจ้าของบ้าน … ครั้นเมื่อครั้งเจ้าบุตรเมืองอำฟะคานมาเมืองอังกฤษเมื่อปีก่อนนี้ มาอยู่จนให้เคาเวอนเมนต์ต้องรับรองเสียเงินทองเป็นนักหนา ให้ hint เท่าไรๆ ก็ไม่ไป จนคนระอาหมด

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้เป็นอิสระแก่พระองค์จริงๆ คือ หมายความว่า ไม่ต้องอาศัยเจ้าใดเมืองใด ไม่ได้มาอยู่รับเลี้ยงของใคร … มีพาหะนะและเป็นอิสระแก่พระองค์พอแก่ที่จะทำเองได้ทุกอย่าง เสด็จพระราชดำเนินอย่างที่ฝรั่งทั้งหลายย่อมกลัวเกรงและให้เคารพมาก เพราะว่าเราเป็น Independent จริง ชอบพระราชหฤทัยจะทรงอย่างใดก็ได้ ไม่มีใครเอื้อมเอียมาล่วงเกินได้ และข้าพระพุทธเจ้าเชื่อเป็นแน่ว่า Independent attitude นี้ จะชักมาซึ่งความต้อนรับอันดีตลอดทั่วยุโรป”

การเตรียมพระองค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 5 คือ การอ่านหนังสือบันทึกของชาห์แห่งเปอร์เซีย คือ พระเจ้านัสเซอร์ อัล-ติน เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป เป็นการหาความรู้และเพื่อเตรียมพระองค์สำหรับการเสด็จประพาส

ชาห์แห่งเปอร์เซียพระองค์นี้เป็นพระองค์เดียวกันกับที่ได้รับการอ้างถึงในพระหัตถเลขาของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณข้างต้นนั่นเอง หนังสือบันทึกของชาห์แห่งเปอร์เซียเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงอ่านและศึกษาอย่างจริงจังก่อนพระบรรทม ตลอดระยะเวลาที่ประทับบนเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากสิงคโปร์ถึงทะเลแดง

กล่าวได้ว่า การจัดเตรียมองค์ประกอบของการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 หรือ ร.ศ. 116 นั้นมีทั้งที่มาจากการเรียนรู้บทเรียนจากผลการกระทำของผู้อื่นผ่านการบอกเล่าและการอ่าน อีกทั้งมาจากประสบการณ์ส่วนพระองค์ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก การมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับชาวตะวันตกและติดตามข่าวสารความเป็นไปของการเมืองระดับโลก รวมไปถึงการที่พระองค์ได้เคยเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ที่เป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกก่อนหน้านี้ด้วย

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญของการสร้าง “อิมเปรชชัน” (Impression) หรือความประทับใจ จากการที่พระองค์ทรงชื่นชมชาวญี่ปุ่น ที่เขียนหนังสือที่เคานต์โอกุมาเป็นผู้เรียบเรียง ว่าเป็นการแต่งหนังสือตาม “ปอลิซี” (Policy) ของรัฐบาลด้วยวัตถุประสงค์ “เพื่อหวังผลจะให้เกิดอิมเปรชชันดีสำเร็จประโยชน์” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวญี่ปุ่นรู้จักการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศของตน ดังในพระราชหัตถเลขาที่ทรงตอบเจ้าพระยายมราช ที่นำหนังสือมาถวายในปี พ.ศ. 2453 ความว่า …

“ข้อความที่เรียบเรียงลงนั้น ไม่ได้เขียนลงตามพงศาวดารตามเรื่อง แต่แต่งตามรูปปอลิซีของรัฐบาลในปัจจุบันนี้ ด้วยหวังผลจะให้เกิดอิมเปรสชันดีสำเร็จประโยชน์ …”

เหตุที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงชื่นชมความเก่งในการสร้างอิมเปรสชันของชาวญี่ปุ่น เนื่องจาก การแต่งหนังสือเช่นนี้ มีความสอดคล้องกับพระบรมราโชบายของพระองค์ ที่ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วก่อนหน้านี้ ในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของชาวสยามเกี่ยวกับเรื่องการนุ่งห่มหรือการแต่งกายของราษฎร เมื่อคราวที่นักท่องเที่ยวหรือพระราชอาคันตุกะจากต่างแดนมาเยี่ยมเยือน ดังเช่น ในปี พ.ศ. 2442 ที่เจ้าชายเฮนรี่ ลิขเข่นสไตน์ เสด็จมาเยือนกรุงสยาม พระองค์ทรงมีประกาศให้ราษฎรชายใส่ผ้านุ่งหรือโสร่งคลุมเข่า เมื่อเดินออกนอกถนน ยกเว้นเมื่อลงอาบน้ำในคลอง ส่วนผู้หญิงจะต้องห่มผ้าเมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนเด็กต้องใส่เสื้อผ้าทุกคน ยกเว้นที่อาบน้ำอยู่ มิเช่นนั้นจะต้องโดนปรับ

เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านทรงตระหนักดีว่า ชาวตะวันตกให้ความสำคัญกับการแต่งกายในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการแสดงออกซึ่งความศิวิไลซ์ ตามบรรทัดฐานหรือมาตรวัดของชาติตะวันตก ดังนั้น การให้ชาวตะวันตกที่เป็นผู้มีอิทธิพลสูงของประเทศนั้นๆ เห็นภาพราษฎรชาวสยามเดินตัวเปล่า ไม่สวมเสื้อ หรือไม่ใส่กางเกง ซึ่งแตกต่างไปจากการแต่งกายในวัฒนธรรมตะวันตก ย่อมไม่สร้างความประทับใจในด้านบวกเป็นแน่ ซึ่งการตระหนักเรื่องความสำคัญของการแต่งกายตามวัฒนธรรมตะวันตกนี้ ก็ปรากฏชัดในการเตรียมพระองค์และขบวนเสด็จในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบแห่งความสำเร็จในการเสด็จประพาสยุโรปของในหลวงรัชกาลที่ 5 นอกจากความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมตะวันตกของพระองค์แล้ว การเตรียมการมาอย่างดีโดยเฉพาะการอ่านบันทึกที่จำเป็นต่างๆ ในการเสด็จประพาส และการวางแผนเตรียมการระหว่างผู้ร่วมคณะ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พระราชกรณียกิจของพระองค์ดำเนินไปอย่างราบรื่น เมื่อบวกรวมเข้ากับการตั้งพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่น ทำให้การเดินทางกว่าครึ่งโลก เพื่อให้ชาวตะวันตกรับรู้ถึงความมีอารยะของชาวสยามจึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศรักษาเอกราชจากการล่าอาณานิคมมาได้จนถึงทุกวันนี้

การเสด็จประพาสยุโรปของ รัชกาลที่ 5 Soft Power ในการรักษาเอกราชอธิปไตยของไทย : ตอนที่ 1

ที่มา :

[1] วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เล่ม 1-2
[2] ปิยะนาถ บุนนาค, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: พระปิยมหาราชผู้ทรงวางรากฐานระบบราชการไทย และปฏิรูปประเทศแบบ “พลิกแผ่นดิน”
[3] เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้น สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม)
[4] นภวรรณ ตันติเวชกุล, การสื่อสารประชาสัมพันธ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
[5] พรสรรค์ วัฒนางกูร, การเสด็จประพาสฝรั่งเศส ร.ศ. 116 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
[6] พรสรรค์ วัฒนางกูร และทศพร กสิกรรม, ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชสำนักยุโรปในเอกสารการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440
[7] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 116 เล่ม 1
[8] พิริยะ ไกรฤกษ์, ปกิณกะในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เอกสารประกอบการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 150 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ตะวันตกในตะวันออก : สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ห้าถึงปัจจุบัน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว