การเมืองดีก็ไม่ช่วย เมื่อคนทั่วโลกมีลูกน้อยลง ส่อทำคลังวิกฤตระยะยาว ประชากรต้องทำงานหนักขึ้น

ในปัจจุบันมีกระแสที่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันเกือบจะทุกภาคส่วนของโลก นั่นก็คือ การที่แต่ละประเทศนั้นมีลูกน้อยลง โดยในปัจจุบันอัตราการเกิดใหม่ของเด็กทั่วโลกอยู่ที่ 2.3 (หมายความว่าจำนวนลูกที่ผู้หญิง 1 คนจะมี คือ 2.3 คน) ซึ่งเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว อัตรานี้อยู่ที่ 2.7 นั่นหมายความว่าทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มที่อัตราการเกิดประชากรใหม่จะลดลงเช่นเดียวกันหมด ไม่ใช่ว่าประเทศใดการเมืองดีจะทำให้อัตราการเกิดนี้กลับมาได้ง่ายๆ (ยกเว้นประเทศกลุ่มแอฟริกาที่ยังมีอัตราการเกิดใหม่อยู่สูงมากที่ราว 4.2)

ปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลงนี้จะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประเด็นสวัสดิการที่ประชากรในประเทศต้องช่วยกันแบกรับอย่างมาก [1] ดังนั้นหลายประเทศจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาของอัตราการเกิดที่น้อยลง เพราะปัญหานี้จะส่งผลต่อการคลังในระยะยาว โดยประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือการพึ่งพาของผู้สูงอายุ แต่ในขณะเดียวกันคนทำงานก็ต้องทำงานนานขึ้นด้วย ทำให้การพักผ่อนและการทำกิจกรรมยามว่างต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้น [2] ดังนั้นปัญหาที่ยังซ้อนเข้าไปอีกชั้นคือ ปัญหาของประชากรสูงอายุที่พัวพันกับปัญหาทางสังคมหลายประเด็นซึ่งกินความกว้างมาก [3]

คำถามที่น่าสนใจจึงเกิดขึ้นว่าทำไมประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนาต่างประสบปัญหาเดียวกัน ทั้งๆ ที่การที่ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าควรจะเอื้อให้เกิดการมีบุตรมากกว่า ซึ่งกลับกลายเป็นว่าเพราะการพัฒนามากขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมนี้เองที่ทำให้การเจริญเติบโตของประชากรลดลง!

สาเหตุที่ทำให้อัตราการเกิดใหม่ประชากรลดลงนั้นมีอยู่หลายประการ ซึ่งสามารถจำแนกได้ว่า [4]

  1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์

ประเด็นนี้ก็คือการถือกำเนิดของเทคโนโลยีคุมกำเนิดที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง และปลอดภัยมากขึ้นทำให้สามารถวางแผนครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเด็นนี้ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจในการต่อรองเรื่องการมีลูกได้มากขึ้น เพราะความสามารถในการคุมกำเนิดนี้ทำให้สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ และความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สามารถทำให้เด็กแรกเกิดสามารถมีชีวิตรอดได้มากขึ้นหลังจากคลอดออกมาทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีลูกมากๆ เหมือนช่วงที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเพราะต้องทดแทนจำนวนลูกที่เสียชีวิตไป

  1. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปในยุคที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกยุค 1950-1960 ทำให้รัฐบาลลดสวัสดิการทางสังคมลงทำให้สิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับจากการมีบุตรน้อยลงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ทำให้เป็นแรงผลักให้ผู้หญิงต้องออกมาทำงานมากขึ้น (และงานในโลกยุคใหม่นั้นเอื้อให้ผู้หญิงทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องกายภาพเหมือนสมัยก่อนๆ) ทำให้ผู้หญิงมีเวลาจำกัดมากขึ้นส่งผลให้การมีบุตรลดลงไปด้วย ต่อมาก็คือคุณค่าของการมีลูกนั้นได้เปลี่ยนไปเพราะเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เกษตรกรรมไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากแล้ว และยังมีบริการดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ รวมไปถึงการเน้นลงทุนในคุณภาพของบุตรมากขึ้นซึ่งไม่เน้นจำนวนแบบแต่ก่อน

  1. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

แนวคิดของสังคมที่เป็นไปในทางเสรีนิยมมากขึ้นได้ทำให้คุณค่าเดิมๆ นั้นเปลี่ยนไป เช่น การอยู่ร่วมกันแบบไม่แต่งงานกัน หรือการส่งเสริมเพศหญิงมากขึ้นนั้น ทำให้ผู้หญิงได้มีบทบาทขึ้นมาทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงานเช่นเดียวกันด้วย ความต้องการจึงซับซ้อนมากขึ้นทำให้ความสัมพันธ์แบบครอบครัวสามีภรรยาและมีลูกเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ท่ามกลางความสัมพันธ์อันหลากหลายเท่านั้น และไม่ใช่วิถีชีวิตในอุดมคติอีกต่อไป

จากสามประเด็นหลักการเปลี่ยนแปลงข้างต้นนั้นชี้ให้เห็นว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้ว” ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายประเทศได้เดินมาในรูปแบบเดียวกัน คือ ผู้หญิงผู้ชายมีฐานะที่เท่าเทียมกันและประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้การมีลูกน้อยลง ซึ่งเราอาจจะกล่าวว่าเป็นไปตามธรรมชาติก็ได้ แต่อย่างไรก็ดีการส่งเสริมให้มีบุตรมากขึ้นนั้นก็ยังเป็นไปได้โดยการออกนโยบายต่างๆ เช่น วันลาที่มากขึ้น สถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น คุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ สำหรับบุตรที่ทำให้พ่อแม่มั่นใจได้ สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ ซึ่งประเทศใกล้ๆ ไทยอย่างญี่ปุ่นก็ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจังและน่าจะมอบบทเรียนดีๆ ให้ได้ [5]

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้นบางทีจึงต้องไปให้มากกว่า “การเมืองดี” เพราะไม่ใช่ทุกปัญหาจะแก้ได้ด้วยการเมือง!

อ้างอิง :

[1] ดูตัวอย่างงานศึกษาใน Tommy Bengtsson (editor), Population Ageing – A Threat to the Welfare State? The Case of Sweden (Dordrecht, London and New York: Springer Verlag, 2010).
[2] นพพล วิทย์วรพงศ์, เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, และสมทิพ วัฒนพงษ์วานิช, เศรษฐศาสตร์และการส่งเสริมการมีบุตร: องค์ความรู้ทางทฤฎีและงานวิจัยเชิงประจักษ์ (กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563), หน้า 2.
[3] Anthea Tinker, “The social implications of an ageing population,” Mechanisms of Ageing and Development Volume 123, Issue 7 (April 2002): 729-735.
[4] สรุปจาก นพพล วิทย์วรพงศ์, เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, และสมทิพ วัฒนพงษ์วานิช, เศรษฐศาสตร์และการส่งเสริมการมีบุตร, หน้า 3-10.
[5] เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ), ถอดบทเรียนจ้างงานและบริหารทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นยุคสูงวัยระดับสุดยอด, พิมพ์ครั้งที่ 2 (ปทุมธานี: ศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560).