การพิจารณาคดี ม.112 แบบลับที่ใช้กับ ดา ตอร์ปิโด ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

“ลักษณะของคดีอาญาบางประเภท หากมีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะแล้วจะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การพิจารณาคดีลับ มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และมิได้จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กำหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความโจทก์ จำเลยและทนายความของจำเลย ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น

จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็น มิได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2554

หากเอ่ยถึง “การพิจารณาคดีลับ” หลายคนคงนึกถึงกรณีของ “ดา ตอร์ปิโด” หรือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี และยังเป็นอดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) จำเลยคดี 112 ที่ครั้งหนึ่งได้เคยร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินคดีโดยลับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 นั้น เป็นบทกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยเรื่องราวเริ่มจากการที่ดารณีขึ้นเวทีปราศรัยที่สนามหลวง พร้อมกับกล่าวคำปราศรัยที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือ วันที่ 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 โดยดารณีถูกจับกุมและควบคุมตัวเอาไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ต่อมา ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัวดารณี โดยใช้ตำแหน่งข้าราชการระดับ 8 เป็นหลักทรัพย์ หลังจากที่ศาลชั้นต้นเคยไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวดารณีอีกเช่นกัน เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก

ดารณีให้การปฏิเสธในขั้นตอนการสอบคำให้การ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย เมื่อถึงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ดารณีจึงได้ยื่นคำแถลงถึง “สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม” โดยระบุว่า เธอตกเป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และยังได้ตั้งคำถามต่อการพิจารณาคดีที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ารับฟัง โดยดารณีได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดคดีอื่น ๆ ที่อยู่ “ในข้อหาเดียวกัน ประเภทเดียวกัน” หรือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกรณีอื่น ๆ กลับไม่โดนคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ

โดยเธอเห็นว่าการพิจารณาคดีโดยลับถือเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมายโดยสิ้นเชิง ซึ่งเธอไม่อาจยอมรับการพิจารณาคดีโดยลับนี้ได้ และขอประกาศไว้ว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีจะออกมาเป็นเช่นไร เธอจะไม่ขอยอมรับ ไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความเคารพและจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

ด้านทนายความของดารณี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยระบุว่า การที่ศาลอาญามีคำสั่งวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกให้พิจารณาเป็นการลับ โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ฝ่ายจำเลยมีความเห็นว่าการที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณานั้น  ถือเป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) ที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และการตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ

การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง และรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้น ขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 และขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่าการพิจารณาลับไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่างและสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป

ผลการพิพากษาคดี

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรม จำคุก 3 กระทงๆ ละ 6 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 ปี

จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ เพื่อขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งศาลชั้นต้นได้สั่งพิจารณาคดีลับนั้น ขัดหรือแย้งกับสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้จำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง

โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้ว พบว่ายังไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงเห็นชอบที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และการที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิพากษาคดีไว้ก่อนเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี และให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40(2) โดยมีข้อความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยที่ 30/2554 ตามข้อความที่ทีมงานฤา ได้คัดลอกมาให้แล้วข้างต้น

คำพิพากษาคดีอาญา

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ศาลอาญาจึงได้นัดพิพากษาคดีใหม่ โดยศาลอาญา รัชดาฯ ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีของดารณี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว พิพากษาจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ต่อมาดารณีได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษตามขั้นตอนของกฎหมาย และได้รับอิสระพ้นโทษจากเรือนจำในปี 2559

ทั้งนี้ จากการสืบค้นประวัติของดารณี เป็นที่น่าสังเกตว่าเธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเธอบอกว่าที่มาของเนื้อหาการปราศรัยบนเวทีสนามหลวงของเธอนั้น ล้วนแต่นำมาจากเนื้อหาการบรรยายของนักวิชาการในวงสัมมนาทางการเมือง และหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีอยู่ทั้งสิ้น อาทิ หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น

ที่มา :

[1] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2554
[2] คดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 หมายเลขแดงที่ อ.2812/2552

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า