กะเทาะเปลือกผู้เขียน “กงจักรปีศาจ” นิยายบิดเบือนกรณีสวรรคตของ รัชกาลที่ 8

หนังสือเรื่อง กงจักรปีศาจ (The Devil’s Discus) เขียนขึ้นโดย เรย์นี ครูเกอร์ (Rayne Kruger) มีเนื้อหาสรุปในทำนองว่า ในหลวง ร.8 ทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง ด้วยการที่พระองค์ตกอยู่ใน “สถานการณ์ที่ไม่อาจอดกลั้น” ในกรณีต่างๆ ได้ (ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้) แต่เป็นบทสรุปที่ไม่มีการอ้างอิงจากหลักวิชาแพทย์ หรือหลักนิติวิทยาศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น

แล้ว Rayne Kruger ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นใคร? เคยมีผลงานวิชาการหรือหนังสือประวัติศาสตร์อะไรบ้าง?

Rayne Kruger นักเขียนชาวอังกฤษ-แอฟริกาใต้ ผู้ที่ทั้งชีวิต เขียนหนังสือออกมาเพียง 9 เล่ม และ 6 เล่มจาก 9 เล่ม คือ “นวนิยาย” โดยนวนิยาย 6 เล่มนี้ เป็นอาชญนิยาย (Crime Story) ถึง 4 เล่ม ส่วนหนังสือกงจักรปีศาจ เป็น 1 ใน 3 เล่มที่ถือเป็นงานประเภทสารคดี (Non Fiction)

จุดเริ่มต้นของหนังสือกงจักรปีศาจเกิดจาการที่ Rayne Kruger บังเอิญได้อ่านหนังสือพิมพ์ และเจอข่าวการสวรรคตของกษัตริย์หนุ่มแห่งสยาม จึงตัดสินใจนั่งเรือข้ามโลกมาเพื่อสืบเสาะหาความจริงในเรื่องนี้

ในส่วนเรื่องราวของหนังสือนั้น เป็นที่น่าแปลกใจว่า Rayne Kruger อ่าน เขียน พูด ภาษาไทย “ไม่ได้” แต่เนื้อหาในหนังสือกงจักรปีศาจกลับปรากฏเรื่องราวประวัติศาสตร์สยามชนิดละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นกรุงสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงบรรยายราชประเพณีโบราณไว้อย่างละเอียดราวกับไปเห็นด้วยตาตัวเอง

นักเขียนต่างชาติคนนี้ยังรอบรู้แม้กระทั่งว่าภูมิภาคที่ตั้งของสยาม เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาบ้านเมือง เพราะราษฎรสยามไม่ต้องลงแรงมากนัก พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์และแสงแดดอบอุ่นในเขตร้อนชื้นก็ทำให้ข้าวออกรวงได้อย่างดงาม ราษฎรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งระบบเจ้าของกรรมสิทธิ์นี้ทำให้ประชาชนไม่เคยชินต่อการออกสิทธิออกเสียงอย่างพวกตะวันตก และราษฎรสยามไม่คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานให้มากเกินไปในอากาศร้อน

ซึ่งมุมมองต่อระบบกรรมสิทธิ์ตามระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยของ Rayne Kruger นี้ มีความคล้ายคลึงกับมุมมองที่พูดถึงการสูญเสียแรงงานไปกับการนอนกลางวันของราษฎรสยาม ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหนักโลก ในสมุดปกเหลืองของนายปรีดีฯ เป็นอย่างยิ่ง

Rayne Kruger บรรยายประวัติราชวงศ์จักรีโดยใช้ถ้อยคำพรรณนาที่ห่างไกลจากสำนวนทางวิชาการ เช่นบรรยายถึงรสนิยมทางอาหารของในหลวงรัชกาลที่ 5 อุปนิสัยเวลาทรงงาน เวลาเข้าห้องบรรทม นอกจากนั้น Rayne Kruger บรรยายรูปพรรณสัณฐาน ลักษณะนิสัย อุดมคติของนายปรีดีฯ ได้อย่างละเอียดลออ ราวกับเป็นคนที่รู้จักมักจี่กันมานานกว่า 30-40 ปี ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว Rayne Kruger และนายปรีดีฯ เคยพบเจอ สนทนากันหรือไม่ ไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้

Rayne Kruger บรรยายไปถึงประวัติชีวิตรักของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับท่านผู้หญิงละเอียด ในเชิงบทสนทนาฝากรักเกี้ยวพาราสีอันนุ่มนวลระหว่างสองคน เช่น “น้องสาว หยุดคุยกับพี่หน่อย” ซึ่งการพรรณนาลักษณะนี้เป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมายมากนัก เนื่องจากก่อนที่จะเขียนหนังสือกงจักรปีศาจนี้ Rayne Kruger ได้ประพันธ์นิยายมาแล้วถึง 6 เล่ม

Rayne Kruger รู้ตื้นลึกหนาบาง เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทย ทั้งเรื่องในวัง (Rayne Kruger บรรยายในหนังสือถึงความลับบางเรื่องของในหลวง ร.8 ที่เกี่ยวพันกับข้อสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุให้พระองค์ปลงพระชนม์พระองค์เอง ที่มีผู้รู้กันเพียง 2-3 คน เท่านั้น) ทั้งรอบรู้การเมือง ราวกับร่วมโต๊ะเสวยกับราชวงศ์ ร่วมโต๊ะอาหารค่ำกับรัฐมนตรีอยู่เป็นประจำ เขายังบรรยายสถานที่เกิดเหตุที่ในหลวง ร.8 สวรรคตได้อย่างชัดเจน เห็นภาพ ทราบทุกจุดของห้องบรรทมว่าตกแต่งอย่างไร ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่า Rayne Kruger เคยเข้าไปสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุกรณีที่พระมหากษัตริย์สวรรคตโดยผิดธรรมชาตินั้น ในความเป็นจริงแล้ว จะมีบุคคลสำคัญระดับประเทศไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าไปได้

และเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดคือ ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม ความเป็นไปของสถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการที่ Rayne Kruger ได้รับความช่วยเหลือจากหญิงสูงศักดิ์ลึกลับ ผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ที่เขาได้บังเอิญพบเจอในวันที่ 2 หลังจากเขาลงเรือเหยียบแผ่นดินสยามเท่านั้น

หนังสือกงจักรปีศาจถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Cassell ในอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญเหลือเกินว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลอังกฤษในขณะนั้น ซึ่ง “หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์” (ท่านชิ้น) ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับปรีดีฯ ก็ได้เป็นผู้สนับสนุน Kruger ให้เขียนหนังสือเล่มนี้

และสายสัมพันธ์ของหนังสือกงจักรปีศาจที่สำคัญที่สุดคือ การที่นายปรีดีฯ ใช้หนังสือกงจักรปีศาจ เป็นหลักฐานในการสู้คดีหนังสือพิมพ์สยามรัฐและ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ฯ โดยใช้อ้างในฐานะหลักฐานประกอบการฟ้องร้องในคดีด้วย

ในส่วนของผู้แปล “กงจักรปีศาจ” เป็นภาษาไทยคือ “เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช” ผู้เป็นพี่ชายของ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช โดยเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ก็คือเลขาฯ คนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง

เนื้อหาของหนังสือกงจักรปีศาจ มีบทสรุปที่โน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่า การสวรรคตของในหลวง ร.8 เกิดจากการที่พระองค์ปลงพระชนม์พระองค์เอง จากสภาวะความเครียด (ในกรณีต่างๆ) โดยสำนวนการบรรยายนั้นเป็นลักษณะถ้อยคำพรรณนา มากกว่าการอธิบายเชื่อมต่อเหตุการณ์จากการชำระหลักฐานชั้นต้น ตามแบบที่หนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีพึงกระทำ

ดังนั้นการยกเอาหนังสือซึ่งไม่ต่างจาก “นิยาย” เล่มนี้ มาใช้อ้างอิงหรือสรุปที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 จึงเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่อาจชี้นำความเข้าใจผิดๆ ให้กับสังคมได้

ดังเช่นการพยายามโยง “กงจักรปีศาจ” ของ สถาบันปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ที่เคยเผยแพร่บทความ “บันทึกประวัติศาสตร์” ลงใน วารสารพันธมิตร ปีที่ 4 เล่มที่ 1 เมษายน 2528 โดยมีเนื้อหากล่าวถึงการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา และกล่าวโยงมาถึงเหตุการณ์สวรรคตของในหลวง ร.8 เพื่อชี้นำไปในทางที่ใส่ร้ายในหลวง ร.9 โดยกล่าวถึง “ความเป็นจริงของวัฏจักรแห่งกงจักรปีศาจ” ทางประวัติศาสตร์ด้วย

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการชี้นำความเข้าใจผิดๆ ให้สังคม โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” เป็นเกราะกำบังนั่นเอง

ที่มา :

[1] Rayne Kruger, กงจักรปีศาจ
[2] “บันทึกประวัติศาสตร์” วารสารพันธมิตร ปีที่ 4 เล่มที่ 1 เมษายน 2528 สถาบันปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า