ไขข้อบิดเบือน โทษขับรถชนคนตาย เบากว่ามาตรา 112 จริงหรือ?
เมื่อเร็วๆ นี้มีเพจๆ หนึ่งได้นำเสนอประเด็นการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ด้วยการเปรียบเทียบคำพิพากษาคดีสองคดีระหว่างคดีตำรวจขับบิ๊กไบค์ชนคุณหมอเสียชีวิต ซึ่งศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท กับคดีความผิดมาตรา 112 ที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “อัญชัญ ปรีเลิศ” 29 ปี 174 เดือน จากการแชร์คลิปหมิ่นสถาบันฯ
ทางเพจๆ นี้ ระบุข้อความด้วยว่า “กฎหมายจะเป็นภาพสะท้อนทางสังคมโดยตรงว่าเราให้คุณค่าหรือด้อยค่าประชาชนมาก-น้อยเพียงใด” และ “เป็นไปไม่ได้เลย ที่โทษขับรถชนคนตาย จะเบากว่าการแชร์คลิปที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน”
ซึ่งทาง ฤๅ เห็นว่าการเอาคำพิพากษาคดี 2 คดีมาเทียบกันในเรื่องของจำนวนการระวางโทษจำคุก แต่ไม่ได้อธิบายลงในรายละเอียดว่า เหตุผลทางกฎหมายเขาว่าไว้ยังไง บทลงโทษที่ได้รับจึงออกมาเป็นแบบนั้น มันเป็นการนำเสนอด้วยตรรกะที่ผิดเพี้ยน และยังเป็นการชี้นำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกในด้านลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับจำนวนโทษจำคุกของอัญชัญนั้นถือเป็นการกระทำ “ต่างกรรมต่างวาระ” ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ศาลจะนับโทษเรียงกรรม เช่น หากมีจำเลยมีพฤติการณ์หมิ่นประมาท 3 ครั้ง แบบนี้คือหมิ่นประมาท 3 กรรม ก็รับโทษเรียงกรรมไปเลย นี่คือมาตรฐานที่ใช้เหมือนๆ กันทั้งกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป และ มาตรา 112 ไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างกันเลย
ซึ่งในชั้นศาลอัญชัญก็จวนตัวจนถึงขนาดว่าจะสืบพยานกันอยู่แล้วถึงมาคิดได้ แล้วก็เปลี่ยนจากปฏิเสธมาเป็นรับสารภาพ
ผลออกมาก็คือ ในเดือนมกราคม 2564 ศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุกอัญชัญรวม 87 ปี ซึ่งก็เป็นการนับโทษเรียงกรรม กรรมละ 3 ปี จำนวน 29 กรรมนั่นเอง แต่อัญชัญรับสารภาพ ศาลเลยลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 29 ปี กับ 174 เดือน
การที่ทาง ฤๅ มาอธิบายในประเด็นนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะสนับสนุนให้มีการลงโทษแบบเบาๆ ในทุกคดีความผิดโดยประมาทนะครับ โดยเฉพาะในคดีที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งทาง ฤๅ เห็นด้วยว่า คดีประมาท เช่น ความผิดจราจร หรือเมาแล้วขับ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้นมานั้น สามารถแก้ไขกฎหมายให้ผู้ก่อเหตุได้รับโทษเสมือนการกระทำโดยเจตนา หรือเทียบเท่าความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (First degree murder) แบบนั้นเลยก็ยังได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้กฎหมายบ้านเรายังไม่ได้เป็นแบบนั้น ซึ่งก็ต้องผลักดันกันต่อไป
สำหรับความเห็นของเพจดังกล่าวข้างต้นที่ดูเหมือนจะชี้นำให้คนในสังคมรู้สึกโกรธแค้นหรือไม่โอเคกับ มาตรา 112 ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาประเด็นที่กำลังเป็นความขัดแย้งในสังคม มานำเสนอด้วยอคติโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจ หรือรู้แต่จงใจบิดเบือนหรือพูดไม่หมดเพื่อหวังยอดแชร์ยอดไลก์หรือเพื่อผลประโยชน์อื่นใดก็แล้วแต่
สื่อแบบนี้ไม่สมควรมีที่ยืนในสังคม