ในหลวงไม่เคยรับเงินปันผล และคืนกำไรให้ ‘ดอยคำ’ เพื่อมอบผลประโยชน์สูงสุดกลับสู่คนไทย
จากบทความ “ในหลวงเสียภาษีเท่าไหร่ ข้อเท็จจริงที่คนเรียกร้อง ‘ภาษีกู’ ไม่เคยรู้” ซึ่ง ฤๅ ได้นำเสนอข้อมูลการเสียภาษีจากเงินปันผลของ 3 บริษัท มหาชน จำกัด ที่ในหลวงทรงถือหุ้นอยู่ ทำให้หลายคนได้ทราบข้อเท็จจริงว่า การย้ายโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นพระปรมาภิไธยของในหลวง ก็เพราะสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง
แล้วรู้หรือไม่ว่า บรรดาบริษัทในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีหลายบริษัทที่ในหลวงไม่เคยรับเงินปันผลเลย และทรงให้นำกำไรกลับไปเพิ่มเป็นทุนให้กับบริษัท เพื่อขับเคลื่อนการทำงานและสร้างผลประโยชน์สูงสุดกลับคืนสู่ชาวบ้าน ซึ่งโดยมากแล้ว บริษัทจำกัดที่ถือหุ้นในพระปรมาภิไธยจะเป็นเช่นนั้น
ตัวอย่างชัดเจนคือ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่ไม่เคยปันผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเลย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ตามพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 ที่ได้พระราชทานให้บริษัทดอยคำมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการพัฒนาสังคม การรักษาคุณภาพของสินค้า และสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งในหลวง ร.10 ได้ทรงสืบสาน ต่อยอด โครงการหลวง “ดอยคำ” เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวมมาจนถึงทุกวันนี้
นี่คือข้อเท็จจริงที่ลบล้างคำบิดเบือนของคนบางกลุ่มที่พยายามโจมตีว่า การดำเนินงานของโครงการหลวงดอยคำ เป็นไปเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าในหลวง ซึ่งชัดเจนว่าเป็นเรื่อง “โกหก”
ลักษณะการทำธุรกิจของดอยคำนั้นจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและยกระดับเกษตรกรท้องถิ่น ผ่านการสร้างองค์ความรู้ทางการเกษตร รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยทุนดำเนินการจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด แต่เดิม คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป เป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงินมากกว่า 9 แสนบาท ดำเนินกิจการรับซื้อผลิตผลการเกษตรจากเกษตรกรในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ในราคารับซื้อที่ยุติธรรมและราคาสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย และต่อมาได้อยู่ในความดูแลของ “มูลนิธิโครงการหลวง” ซึ่งจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2534
แต่จากการขยายโรงงานที่มากขึ้น ประกอบกับการต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้ทุนการดำเนินงานมีจำกัด รวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดตามสภาพตลาด ทำให้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป มีสินค้าคงคลังมากขึ้น จนกลายเป็นต้นทุนจมขึ้นมา ส่งผลให้เกิดภาระการเงินเพิ่มมากขึ้น
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รับช่วงการดูแลโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยรับทั้งหนี้สินและกิจการของโรงงานหลวงมาทั้งหมด แล้วจดจัดตั้งทะเบียนบริษัท ในนาม บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 421.51 ล้านบาทในปัจจุบัน
จากรายงานประจำปี 2563 – 2564 บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 97.62% และ มูลนิธิโครงการหลวง 2.37% มีรายได้ 1,899.46 ล้านบาท กำไรสุทธิ 116.09 ล้านบาท โดยกำไรทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และนำกลับไปเป็นทุนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้กับบริษัทต่อไป
วิสัยทัศน์ของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด คือต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้ศาสตร์พระราชา ที่พัฒนาสร้างสรรค์สินค้าจากชุมชนด้วยคุณภาพระดับโลก เพื่อประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงเป็นองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัจจุบัน โครงการหลวง “ดอยคำ” ได้เติบโตและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และได้รับการสืบสาน ต่อยอด จากในหลวง ร.10 จนทำให้โครงการสามารถดำเนินกิจการควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน สร้างงานสร้างอาชีพ พลิกฟื้นชีวิตชาวไทยภูเขา ไปสู่การประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน
หากสนใจศึกษาเรื่องราวความเป็นมาโดยละเอียดของโครงการหลวง “ดอยคำ” และการดำเนินงานของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้สังคม และไม่เคยปันผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเลย มาตั้งแต่ปี 2537 สามารถอ่านข้อมูลทั้งหมดได้ที่นี่ รู้หรือไม่? ดอยคำไม่เคยปันผลให้ผู้ถือหุ้น กำไรทั้งหมดกลับคืนสู่ชาวบ้าน
อ้างอิง :
[1] รายงานประจำปี 2563-2564 บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
[2] รายงานการดำเงินงานประจำปี พ.ศ. 2563 มูลนิธิโครงการหลวง
[3] โครงการวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร เรื่องโรงงานหลวงสำเร็จรูป ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2538