ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคลี่คลายความขัดแย้ง เปลี่ยนแปลงวิกฤติสู่สันติ
ในประวัติศาสตร์ของไทยมีเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และในบางเหตุการณ์ก็นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลสองฝ่าย
และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศต่างๆ ในโลกล้วนเคยเผชิญภาวะวิกฤติทางการเมืองเช่นนี้ บางประเทศความขัดแย้งลุกลามรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ผู้คนล้มตายหลักหมื่นหลักแสน กระทั่งไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันก็มี
ซึ่งในอดีตเหตุการณ์ความรุนแรงจากวิกฤติทางการเมืองหลายครั้งของไทย ก็เคยปะทุขึ้นจากจุดไม่คาดฝัน และลุกลามแผ่ขยาย กระทั่งมีแนวโน้มอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ดังเช่นหลายประเทศในโลก
แต่ทว่าคนไทยกลับผ่านพ้นวิกฤติความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆ เหล่านั้นมาได้ ด้วยคำพูดของคนๆ เดียว
14 ตุลาคม 2516 คือปรากฏการณ์ทางการเมืองที่นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ และประชาชนจากทุกภาคส่วน รวมพลังกันลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเผด็จการของกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร ที่สืบทอดอำนาจบริหารบ้านเมืองมาอย่างยาวนาน โดยในวันที่ 13 ตุลาคม นักศึกษาและประชาชนเรือนแสนได้เดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน หลังจากยื่นคำขาดให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว และปล่อยตัวนักศึกษาจำนวน 13 คน ที่เคยถูกจับกุมตัวก่อนหน้านั้นจากการแจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล
ปรากฎการณ์มวลชนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเจรจาขึ้นระหว่างตัวแทนนักศึกษากับรัฐบาล นำไปสู่การที่รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ในขณะที่เหตุการณ์กำลังจะคลี่คลาย กลับเกิดการปะทะอย่างไม่คาดฝันขึ้น และลุกลามขยายวงกว้างกลายเป็นการเข้าปราบปรามมวลชนในวันที่ 14 ตุลาคม โดยกำลังทหารและตำรวจ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เป็นระยะ ขณะเดียวกันก็ส่งกำลังทหารและตำรวจออกปราบปราม มีทั้งรถถังเฮลิคอปเตอร์ และอาวุธสงครามหนัก โดยจุดปะทะและนองเลือดมีตลอดสายถนนราชดำเนิน จนทำให้นักศึกษาบางส่วนกรูกันเข้าไปเพื่อหลบภัยในพระราชวังสวนจิตรลดา โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดประตูให้ ซึ่งผู้คนทั้งหลายมาทราบในภายหลังว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณารับสั่งให้มหาดเล็กช่วยเหลือนักศึกษาให้เข้ามาหลบภัยภายในพระราชวังสวนจิตรลดา และพระราชทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนเหล่านั้น
เหตุความรุนแรงได้แผ่ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวส์ และกําหนดให้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากรเป็นเขตอันตราย โดยเตรียมพร้อมที่จะทําการกวาดล้างใหญ่
ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าวันแห่งความวิปโยคครั้งนั้นจะจบลงที่จุดไหน และในขณะที่ความรุนแรงมีทีท่าว่าจะลุกลามบานปลายขึ้นเรื่อยๆ นั้นเอง …
เวลา 19:15 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และหันหน้าเข้าประนีประนอมกัน โดยพระราชดำรัสความว่า …
“… วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและการเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวด และยิงแก๊สน้ำตาทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั่วพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนอยู่ในสภาพปกติ …”
ตามมาด้วยการปราศรัยทางโทรทัศน์ของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายหลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศจะใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในวันวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 จึงได้ยุติลงนับจากนั้น
พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 คืออีกหนึ่งเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองของไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 จนนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร กับประชาชนผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ความรุนแรงและการสูญเสียจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น อยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 รัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา ได้ส่งกำลังทหารและตำรวจหลายพันคน พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า ในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม โดยใช้กระสุนจริงระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปราบปรามครั้งนั้นจำนวนหลายร้อยคน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก
ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุมได้ถูกจับกุมตัว แต่ผู้ประท้วงยังคงพยายามรวมตัวกันท่ามกลางการปราบปรามอย่างต่อเนื่องของกำลังทหาร กระทั่งเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารได้เข้าควบคุมสถานการณ์บริเวณถนนราชดำเนินไว้ได้ แต่ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้ย้ายไปชุมนุมต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคนในช่วงค่ำของวันที่ 20 พฤษภาคม
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะ เคลื่อนกำลังมุ่งสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มีผู้ชุมนุมเรือนแสนปักหลักอยู่ทั้งนักศึกษาและประชาชน ซึ่งหากเกิดการปราบปรามขึ้น เหตุการณ์ในคืนนั้นอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ไม่อาจประเมินความสูญเสียได้เลย
แต่แล้วในเวลา 23.30 น. เหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็สงบลงได้ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชกระแสรับสั่งพร้อมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเลวร้าย ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ยุติลงทันทีท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน
โดยความบางตอนจากพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ระหว่างเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ความว่า …
“… ขอให้สองท่าน หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วใครจะชนะ ไม่มีทาง มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชน แล้วจะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง …”
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ความรุนแรงอันเกิดจากความขัดแย้งของคนในชาติ ที่ได้คลี่คลายและยุติลงได้ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9
ตลอดกว่า 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงยึดถือหลักการและระมัดระวัง ไม่ทรงก้าวก่ายทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น และพระองค์ก็ไม่เคยแทรกแซงการบริหารประเทศนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนดให้เป็นพระราชอำนาจเท่านั้น
แต่เมื่อใดที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤติ พระองค์ก็จะทรงให้คำแนะนำ หรือปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเหมาะสม ปฏิบัติพระองค์เสมือนคนกลาง ให้ทุกคน ทุกฝ่าย ก้าวพ้นจากความขัดแย้ง และหันหน้ารอมชอมกัน เพื่อให้ประเทศชาติกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยและผ่านพ้นวิกฤติเลวร้ายต่างๆ ไปได้