ในธรรมศาสตร์เราเป็นพวกคอมมิวนิสต์ นี่เป็นความจริงที่สมควรยอมรับได้แล้ว และการชุมนุมของเราเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อชัยชนะของฝ่าย พคท. …
“ในธรรมศาสตร์เราเป็นพวกคอมมิวนิสต์ นี่เป็นความจริงที่สมควรยอมรับได้แล้ว และการชุมนุมของเราเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อชัยชนะของฝ่าย พคท. เราไม่ได้กำลังต่อสู้เพื่อ ‘เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม’ เท่านั้น”
– สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23 กันยายน 2566
ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ ก่อนหน้าวันล้อมปราบ ผู้นำนักศึกษาและแรงงานบางกลุ่มเริ่มยุติการชุมนุมแล้ว บางส่วนก็ถูกจับกุมตัว และมีนักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนมากที่เตรียมถอนตัว เพราะหลายคนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ในเหตุการณ์การชุมนุม
อีกทั้ง ดร.ป๋วย เอง ยังออกมาเตือนแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม ด้วยว่าอย่าชุมนุมกันในวันที่ 6 เพราะอาจมีการล้อมปราบเกิดขึ้น
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ นอกจากที่ธรรมศาสตร์ ยังมีการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะนักศึกษาจากทางภาคใต้ ตัวอย่างเช่นกรณีการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ได้จัดเวทีชุมนุมขนานไปกับทางกรุงเทพฯ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งต่อมาการชุมนุมได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งให้ยุติลง โดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากมีการคุ้มกันนักศึกษาโดยอาจารย์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และไม่มีการล้อมปราบโดยมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวาแบบในกรุงเทพฯ
จึงน่าเชื่อว่าปฏิบัติการของทหาร และกลุ่มฝ่ายขวา ไม่ได้มีระบบจัดตั้งที่ชัดเจนในภารกิจนองเลือด 6 ตุลาฯ หากแต่เป็นการออกคำสั่งเฉพาะจุดหรือเฉพาะหน้า คือที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวงเท่านั้น เพราะถ้ามีการสั่งปราบนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทั่วประเทศจริง นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็คงจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกกวาดล้างอย่างแน่นอน เพราะที่นี่มีจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมน้อยกว่า ง่ายต่อการปราบปราม และที่สำคัญ รั้วมหาลัยกับค่ายทหารเรียกได้ว่าแทบจะหันหลังชนกัน
ดังนั้น การยุติการชุมนุมในธรรมศาสตร์ จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมและจำเป็นต้องทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะตามคำ “แจ้งเตือน” หรือแม้กระทั่ง “ขอร้อง” จากอาจารย์และกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน
แต่แกนนำนักศึกษาในธรรมศาสตร์กลับเพิกเฉย ไม่ยอมยุติการชุมนุม และปลุกระดมนักศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ยิ่งพิจารณาจากคำพูดของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนึ่งในแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ที่ศึกษากรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาทั้งชีวิต ก็ยิ่งเกิดคำถามว่า หรือแท้จริงแล้ว “ความรุนแรง” คือปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตเมืองรอคอยมานาน เพราะเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น เท่ากับว่าพลังของพรรคจะเข้มแข็งขึ้นเพราะจะได้แนวร่วมจากนักศึกษาที่จะหนีเข้าป่าไปจับอาวุธเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลังช่วง 14 ตุลา 2516
ดังนั้น “ความรุนแรง” จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าจะต้องเกิดให้ได้ และเป็นสิ่งที่ทราบแก่ใจทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าจะต้องทำให้เกิด เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองฝ่ายตน เพราะหลังจากเหตุการณ์การล้อมปราบ บรรดาแกนนำนักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่านั้น พรรคคอมมิวนิสต์ก็อ้าแขนรับและเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี
หรือนี่จะเป็นการสมคบคิดมาตั้งแต่ต้นของพวกจัดตั้งของพรรคในเขตเมืองที่ร่วมมือกับแกนนำนักศึกษาที่ทำงานให้กับพรรค ?
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามสำคัญคือ แกนนำเหล่านั้นจะรับผิดชอบอย่างไรกับความสูญเสียที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น นักศึกษาที่ร่วมชุมนุมในวันนั้นไม่ควรต้องมาล้มตายท่ามกลางความขัดแย้ง ซึ่งได้สร้างบาดแผลอย่างรุนแรงให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ความสูญเสียดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่แรก เพียงแค่ประกาศยุติการชุมนุมเพียงชั่วคราวเท่านั้น ก็ไม่มีใครต้องมาบาดเจ็บล้มตาย