‘โศกนาฏกรรม 6 ตุลา 2519’ บาดแผลที่ไม่ควรต้องเกิด และแกนนำต้องรับผิดชอบ
เป็นที่ทราบกันดีว่าชนวนเหตุที่นำไปสู่ความสูญเสียในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากปัจจัยเงื่อนไขที่ก่อตัวขึ้นมาจากทุกฝ่ายในขณะนั้น
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของนักศึกษา ที่ได้รับการปลุกระดมจากแกนนำฝ่ายซ้าย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแนวคิดคอมมิวนิสต์ค้ำยันอยู่เบื้องหลัง หรือการปลุกระดมของฝ่ายขวา จนเกิดเป็นกองกำลังล้อมปราบจากหลายกลุ่ม ทั้งตำรวจ ทหาร กลุ่มนวพล และกลุ่มกระทิงแดงที่เชื่อกันว่าเป็นหน่วยที่ฝ่าย กอ.รมน. จัดตั้งขึ้นจากนักเรียนอาชีวะบางส่วน
ยังไม่รวมเงื่อนไขลึกๆ จากกลุ่มการเมือง ที่มีทหารกลุ่มขวาจัดวางแผนเตรียมจะทำการรัฐประหาร ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพในขณะนั้น ต่างทราบข่าวมานานแล้ว จึงได้เตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา และต่อมาพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ ก็ได้ทำการชิงตัดหน้ารัฐประหารขึ้นเสียก่อน
เงื่อนไขทั้งหมดนี้เอง ที่กลายเป็นชนวนนำไปสู่เหตุการณ์วิปโยคในวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งหากมองกันในแง่บทเรียนทางประวัติศาสตร์ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเรียนรู้และรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
หากแต่ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ที่ยังคงหลงเหลือให้จดจำมาถึงทุกวันนี้ มีเพียงมุมมองของการกวาดล้างเข่นฆ่านักศึกษา โดยตำรวจ ทหาร และกลุ่มจัดตั้งจากมวลชนฝั่งขวาดังที่กล่าวไปแล้ว
ซ้ำร้ายยังมีการ “โยง” ไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดในวันนั้น ซึ่งเป็นการกล่าวหาของ “คนบางกลุ่ม” จนกลายเป็นชุดความคิดผิดๆ ฝังลงในสมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อาจยังไม่เข้าใจมูลเหตุของเรื่องราว 6 ตุลา อย่างรอบด้าน
และคนกลุ่มนี้เองที่พยายามมาตลอดในการสะกิดเปิดประวัติศาสตร์บาดแผล 6 ตุลา หากแต่เป็นประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว และจงใจปกปิดเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง นั่นคือเรื่องที่ว่า ทำไมนักศึกษา 6 ตุลา หลายคนต้องตาย ทั้งๆ ที่แกนนำในวันนั้นสามารถยุติการชุมนุมลงได้ก่อนที่ความสูญเสียจะเกิดขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า แกนนำนักศึกษาคนสำคัญที่เป็นเครื่องหมายการค้าของ 6 ตุลา และยังคงมีบทบาทในแวดวงวิชาการและกระแสการเมืองอยู่ในปัจจุบัน คือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนักวิชาการหัวนอกคนหนึ่งที่พยายามชูประเด็นราชาชาตินิยม เพื่อโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด
คำถามที่ควรจะต้องถามแกนนำเหล่านี้คือ พวกเขาทราบใช่ไหมว่า ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้
พวกเขาทราบดีใช่ไหมว่าก่อนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา นั้น นอกจากที่ธรรมศาสตร์ ยังมีการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด คู่ขนานไปกับทางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนักศึกษาจากทางภาคใต้ และแม้การสื่อสารในตอนนั้นจะค่อนข้างยากลำบาก แต่ก็มีการประสานงานระหว่างกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการ “แจ้งเตือน” แกนนำนักศึกษาในธรรมศาสตร์ เรื่องอาจเกิดการล้อมปราบ และให้กระจายกำลังกันให้มากที่สุด โดยเฉพาะศูนย์กลางควรจะย้ายการชุมนุมมาอยู่ที่ท้องสนามหลวง จะเป็นการดีกว่ากระจุกกันอยู่ในธรรมศาสตร์ ซึ่งขบวนการนักศึกษาทั่วประเทศต่างก็ประเมินสถานการณ์กันแล้วว่า จะมีการปราบปรามนักศึกษาในส่วนกลางอย่างแน่นอน
แม้แต่ ดร.ป๋วย เอง ยังออกมาเตือนแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม ว่าอย่าชุมนุมกันในวันที่ 6 เพราะจะมีการล้อมปราบเกิดขึ้นแน่
ก่อนหน้านั้น ผู้นำนักศึกษาและแรงงานบางกลุ่มก็เริ่มยุติการชุมนุมแล้ว บางส่วนก็ถูกจับกุมตัว อีกทั้งมีนักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนมากที่เตรียมถอนตัว เพราะหลายคนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ในเหตุการณ์การชุมนุม
หากพูดถึงการชุมนุมของนักศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่เกิดการสูญเสียใดๆ คงต้องยกตัวอย่างกรณีการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งได้จัดเวทีชุมนุมขนานไปกับทางกรุงเทพฯ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยใช้พื้นที่บริเวณหลังสถานีรถไฟหาดใหญ่ และสถานีรถไฟสงขลา โดยที่ต่อมาการชุมนุมได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งให้ยุติลง หลังทราบข่าวว่ามีการกวาดล้างเกิดขึ้นในธรรมศาสตร์
การชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากมีการคุ้มกันนักศึกษาโดยอาจารย์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และไม่มีการล้อมปราบโดยมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวาแบบในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่รั้วมหาวิทยาลัยกับค่ายทหาร (ค่ายเสนาณรงค์) อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น
จึงน่าเชื่อว่าปฏิบัติการของทหาร และกลุ่มฝ่ายขวา “ไม่ได้มีระบบจัดตั้งที่ชัดเจนในภารกิจนองเลือด 6 ตุลา” หากแต่เป็นการออกคำสั่งเฉพาะจุดหรือเฉพาะหน้า คือที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวงเท่านั้น เพราะถ้ามีการสั่งปราบนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทั่วประเทศจริง นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็คงจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกกวาดล้างอย่างแน่นอน เพราะที่นี่มีจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมน้อยกว่า ง่ายต่อการปราบปราม และที่สำคัญ รั้วมหาลัยกับค่ายทหารเรียกได้ว่าแทบจะหันหลังชนกัน
ดังนั้น การยุติการชุมนุมในธรรมศาสตร์ จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมและจำเป็นต้องทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะตามคำ “แจ้งเตือน” หรือแม้กระทั่ง “ขอร้อง” จากอาจารย์และกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน
แต่แกนนำนักศึกษาในธรรมศาสตร์กลับเพิกเฉย ไม่ยอมยุติการชุมนุม และปลุกระดมนักศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาต้องล้มตายท่ามกลางความขัดแย้ง และสร้างบาดแผลอย่างรุนแรงให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งหลายในวันนั้น ทั้งๆ ที่ความรุนแรงดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ตั้งแต่แรก เพียงแค่ประกาศยุติการชุมนุมเพียงชั่วคราวเท่านั้น ก็ไม่มีใครต้องมาตาย
เรื่องนี้คงต้องย้อนถามกลับไปยังอดีตแกนนำนักศึกษาที่เป็นโลโก้ของ 6 ตุลา ว่าคนเหล่านั้นรู้อยู่แก่ใจใช่ไหม หากแต่ไม่ยอมยุติการชุมนุม คล้ายว่าจงใจให้เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่การต่อสู้ทางการเมืองนั้น ผู้นำมีหน้าที่รักษาชีวิตผู้ที่ติดตามเรา ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเอาแต่ว่าตัวเองถูก โดยไม่ดูสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงใดๆ
และไม่นานมานี้ อดีตแกนนำนักศึกษาบางคนก็ได้กล่าวมาเป็นนัยๆ แล้วว่า “ความรุนแรง” เป็นสิ่งที่อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นให้ได้ในวันที่ 6 ตุลา 2519 เพราะเป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตเมืองรอคอยมานาน เพราะเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น เท่ากับว่าพลังของพรรคจะเข้มแข็งขึ้นเพราะจะได้แนวร่วมจากนักศึกษาที่จะหนีเข้าป่าไปจับอาวุธเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลังช่วง 14 ตุลา 2516 ดังนั้น “ความรุนแรง” จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าจะต้องเกิดให้ได้ และเป็นสิ่งที่ทราบแก่ใจทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าจะต้องทำให้เกิดเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองฝ่ายตน ไม่ต้องคิดอะไรให้มากมายนัก บรรดาแกนนำนักศึกษาเมื่อพาเพื่อนไปตายสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์ก็อ้าแขนรับและเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี หรือนี่จะเป็นการสมคบคิดมาตั้งแต่ต้นของพวกจัดตั้งของพรรคในเขตเมืองที่ร่วมมือกับนักศึกษาที่ทำงานให้กับพรรค ?
นอกจากนี้ในปัจจุบัน อดีตแกนนำนักศึกษาเหล่านั้นนอกจากจะพยายามปกปิด และปัดความรับผิดชอบกรณี 6 ตุลา ไปให้กับการปราบปรามของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้ว ยังหมกมุ่นอยู่กับความพ่ายแพ้ในอดีต และพยายามใช้วิธีเดิมๆ ปั่นกระแสทางการเมือง ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ แล้วหลอกเยาวชนให้ออกมาต่อสู้แทน ซึ่งนี่ไม่ต่างอะไรเลยกับวิธีการในอดีตของคนพวกนี้ ที่หลอกให้เพื่อนไปตายแทน เพื่อสนองอุดมการณ์ของตัวเอง
การพยายามเปิดประวัติศาสตร์บาดแผลของคนเหล่านี้เพื่อถามหาความยุติธรรมนั้น คงต้องถามก่อนว่าเป็น “บาดแผล” ของใคร ?
หากเป็นบาดแผลของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นความเจ็บปวดของครอบครัววีรชนที่เสียชีวิต เป็นความพลัดพรากของนักศึกษาที่ต้องหนีตายเข้าป่าโดยไม่มีโอกาสเอาใบปริญญากลับมาให้ครอบครัว … ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อดีตแกนนำนักศึกษา 6 ตุลา สมควรต้องกลับไปรับผิดชอบก่อนไหม ? ก่อนที่จะมาถามหาความยุติธรรมจากใคร
ไหนๆ เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากจะเปิดประวัติศาสตร์จริงๆ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดมันให้ทุกด้าน และควรจะต้องถามกลับไปยังอดีตแกนนำนักศึกษาเหล่านั้นด้วยว่า ทำไมถึงยังเลือกที่จะชุมนุมจนทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แล้วพวกเขาจะรับผิดชอบอย่างไรกับการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา จะรับผิดชอบอย่างไรกับความเจ็บปวดของครอบครัวนักศึกษาที่เสียชีวิตจากความดื้อรั้นของแกนนำในวันนั้น
พวกเขาจะรับผิดชอบอย่างไร ? กับบาดแผลแห่งความสูญเสียที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น
อ้างอิง :
[1] มุมหนึ่งของวันนี้…เมื่อ 37 ปีที่แล้ว…6 ตุลาคม 2519
[2] หนังสือ “ความภาคภูมิใจของชาว ม.อ.” , หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
[3] หนังสือ “สยามไทย กับ ปาตานี” , ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์คือหนทางและการเดินทาง