โลกอิสลามของอาเจะห์ ที่เคยรุ่งโรจน์ด้วยการปกครองของสตรี ก่อนถูกอาหรับแย่งชิงบัลลังก์
อาเจะห์ (Aceh) เป็นเมืองท่าเก่าแก่เมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ ณ ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมืองแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และถือว่าดำรงอยู่ในวัฒนธรรมโลกมลายู (Alam Melayu) เมืองหนึ่ง และด้วยชัยภูมิที่ตั้งอยู่ ณ ปลายเหนือสุดของคาบสมุทรบริเวณทะเลอันดามันนี่เอง ทำให้อาเจะห์ถูกเรียกว่าเป็น ‘ระเบียงแห่งมักกะฮ์’ เพราะหากชาวมลายูบริเวณคาบสมุทรต้องการไปแสวงบุญเมื่อใด ก็จำต้องลงเรือไปรวมตัวที่อาเจะห์แทบทุกรายก่อนที่จะโดยสารต่อไปยังเอเชียใต้
และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว โลกวิชาการมลายูเชื่อกันว่าดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แรก ๆ ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามก็คงไม่ไกลกว่าอาเจะห์และปาไซบนเกาะสุมาตรานี่เอง ด้วยเหตุนี้ แม้แต่พงศาวดารราชสำนักปัตตานี (Hikayat Patani) ก็ระบุว่านักบวชผู้ที่นำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ในราชสำนักปัตตานีก็คือชาวปาไซซึ่งขณะนั้นได้ตกเป็นดินแดนใต้การปกครองของอาเจะห์อยู่นั่นเอง
และด้วยความเป็น ‘ระเบียงแห่งมักกะฮ์’ นี่เองที่ทำให้คติการปกครองของอาเจะห์นั้นมีความสนิทแนบแน่นกับศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก สุลต่านหรือกษัตริย์อาเจะห์มักใช้พระนามต่อท้ายเกี่ยวข้องกับอิสลามอยู่เสมอ อาทิ การอ้างว่าตนเป็นดั่งเงาของพระผู้เป็นเจ้าที่ฉายมาบนผืนโลก (Shadow of God) หรือเป็นกาหลิป/กาลีฟะฮ์ สอดคล้องกับการใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ในการปกครองเมือง เมื่อกษัตริย์เป็นดุจดังตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าแล้วทำให้การใช้กฎหมายอิสลามควบคู่ไปกับธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่น (อาดัต) จึงเป็นไปอย่างชอบธรรมและมีประสิทธิภาพ ดังที่ประวัติศาสตร์ได้ฉายให้เห็นจอมกษัตริย์แห่งอาเจะห์ผู้ยิ่งใหญ่ 2 พระองค์ คือ สุลต่านอิสกานดาห์ ชาห์ (1607-1636) และสุลต่านอิสกานดาห์ ตานี (1636-1641) ในรัชสมัยดังกล่าวอำนาจของอาเจะห์แผ่ทั่วเกาะสุมาตราตอนเหนือและข้ามมายังคาบสมุทรโดยเฉพาะเปรัค ปาหัง และไทรบุรี แม้แต่ยะโฮร์ช่วงหนึ่งก็ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาเจะห์ ในห้วงเวลานี้เองกองทัพอาเจะห์ได้โจมตีทั้งพัทลุง ปัตตานี และนครศรีธรรมราช การขยายอำนาจทางการเมืองของอาเจะห์ย่อมส่งผลสะเทือนไปถึงราชสำนักอยุธยาจนต้องมีพระบรมราชโองการให้จัดทำแผนที่กัลปนาเขตสงฆ์ผ่านการดำเนินการของหลวงปู่ทวด (สมเด็จเจ้าพระโคะ) เลยทีเดียว
อาเจะห์หลังยุคสุลต่านทรราชย์
อย่างไรก็ดี หลังจากการสวรรคตอย่างปริศนาและกระทันหันของสุลต่านอิสกานดาห์ ตานี (บางเอกสารระบุว่าทรงถูกลอบสังหารด้วยการวางยาพิษ) ที่ว่ากันว่าเป็นกษัตริย์ที่สุรุ่ยสุร่ายในเรื่องการซื้อเครื่องประดับและเพชรพลอยจากยุโรปมากที่สุด อีกทั้งยังมีพระราชหฤทัยที่โหดร้ายทารุณและกดขี่ต่อทั้งประชาชน ขุนนางและชาวต่างชาติในอาเจะห์เป็นอย่างมาก เมื่อจำต้องเลือกผู้ที่จะต้องมาสืบทอดราชสมบัติ เหล่าศรีตะวันกรมการแห่งอาเจะห์ได้ตัดสินใจยกราชบัลลังก์ให้แก่พระมเหสีของสุลต่านผู้เป็นสตรีแทนที่ผู้ปกครองที่เป็นบุรุษโดยปราศจากเสียงคัดค้าน สุลต่านนาห์พระองค์ใหม่นี้มีพระนามว่า สุลต่านนาห์ซาฟิยะห์ทุดดิน ชาห์ ซึ่งครองราชย์ยาวนานหลายสิบปี (1641-1675) และถึงแม้ว่าผู้นำสตรีพระองค์นี้จะสวรรคตไปแล้ว เหล่าขุนนางก็ยังคงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดให้มีสตรีครองราชย์ต่อมาอีกจำนวน 3 พระองค์ ติด ๆ กันได้แก่ สุลต่านนาห์ นูรูล อาลัม นากียะทุดดิน ชาห์ (1675-1678) สุลต่านนาห์ ไอนายัต ซากียะทุดดิน ชาห์ (1678-1688) และผู้นำพระองค์สุดท้ายที่เป็นสตรีก่อนถูกคณะอาหรับถอดถอนออกเพราะข้ออ้างทางศาสนา คือ สุลต่านนาห์ กัมมาลัต ชาห์ (1688-1699)
เบื้องหลังความสำเร็จของบัลลังก์เหล่าผู้นำสตรี
สำหรับเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าเหตุใดเหล่าบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ของอาเจะห์ได้ลงความเห็น‘แหกขนบ’ เลือกเอาผู้หญิงขึ้นเป็นเจ้าแทนผู้ชายดังที่เคยทำกันมาเป็นร้อยปี Sher Banu A.L. Khan นักวิชาการมลายูศึกษาประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าบรรดาขุนนางและชนชั้นสูงอาเจะห์อาจจะรู้สึก ‘ขยาด’ กับการปกครองที่กดขี่และทรราชย์ของกษัตริย์ที่เป็นบุรุษ ดังที่เคยผ่านประสบการณ์อันน่าสะพรึงในรัชสมัยของสุลต่านอิสดานดาห์ทั้ง 2 พระองค์มาแล้ว ด้วยธรรมชาติของความเป็นผู้หญิงอาจทำให้พระอุปนิสัยของสุลต่านนาห์ที่เป็นสตรีเป็นไปในทางโอนอ่อนผ่อนปรนมากกว่าสุลต่านผู้ชาย ทั้งในเรื่องการตระหนี่ถี่เหนียวในการใช้สอยพระราชสมบัติ การเจรจากิจการระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับพวกฮอลันดา ตลอดระยะเวลา 4 รัชสมัยอันยาวนานของสุลต่านนาห์ได้พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่าภายใต้การปกครองของสตรี อาเจะห์ได้รับทั้งประโยชน์และความสงบภายใต้การปกครองรูปแบบใหม่ อีกทั้งความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกก็ดีขึ้นเป็นอันมาก
นอกจากนี้ การที่ได้สุลต่านนาห์เป็นสตรีทำให้เหล่านขุนนางที่แตกกันเป็นกลุ่มย่อยต่าง ๆ ทั้งพวกนิยมฮอลันดาและต่อต้านฮอลันดา หรือนักบวชในศาสนาอิสลามแต่ละกลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มคนพวกนี้มักรบราฆ่าฟันอยู่เนือง ๆ และสุลต่านก็มักเลือกถือข้างกลุ่มที่พระองค์เห็นดีด้วย แต่ภายใต้การปกครองของสุลต่านนาห์ พวกเธอได้บริหารจัดการความขัดแย้งอย่างดีเยี่ยม เพราะทรงไม่เลือกข้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ
ท้ายที่สุด นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นซึ่งถือว่าเป็นผลมากกว่าเหตุแล้ว สาเหตุสำคัญที่ Khanเชื่อว่าเป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้มีสตรีเป็นสุลต่านนาห์ติดต่อกัน 4 พระองค์นั่นก็คือ ราชวงศ์อาเจะห์ไร้ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ฝ่ายชายแม้แต่คนเดียว เหตุเพราะในสมัยก่อนหน้านี้สุลต่านทั้ง 2 พระองค์ได้สั่งประหารหรือกำจัดราชวงศ์ฝ่ายบุรุษไปหมดสิ้นเหลือเพียงแต่สตรีเท่านั้น ด้วยประเพณีที่เน้นให้เชื้อเจ้าเท่านั้นมีสิทธิ์ชอบธรรมเหนือราชบัลลังก์มิใช่เรื่องของศาสนาเป็นหลัก บรรดาผู้นำศาสนาอิสลามหรือูลามะอ์แห่งราชสำนักอาเจะห์จึงไม่ได้คัดค้านการขึ้นครองราชของสุลต่านนาห์สตรีเลยเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคน จนกระทั่งในรัชสมัยสุดท้ายของคือสุลต่านนาห์ กัมมาลัต ชาห์ ผู้ทรงถูกถอดออกจากราชบัลลังก์ด้วยการแทรกแซงของต่างชาติในปี 1699
จุดจบของระบอบสตรี กับ ‘ใบสั่ง’ จากนครมักกะฮ์
กว่าหลายทศวรรษที่อาเจะห์มีผู้ปกครองเป็นเจ้าสตรีมาโดยตลอดโดยปราศจากขบวนการต่อต้านจากฝ่ายศาสนา ท้ายที่สุดจุดจบของยุคสุลต่านนาห์ก็มาถึงในปี 1699 เมื่อสุลต่านนาห์ กัมมาลัต ชาห์ได้ถูกโค่นโดยสุลต่านพระองค์ถัดมาผู้เป็นเจ้าเชื้อสายนบี (ไซยิด) จากอาหรับ นั่นก็คือ สุลต่าน บาดัร อาลัม ชาริฟ ฮาซิม จามาล อัล–ดิล (ครองราชย์สั้น ๆ ถึง 1702)เอกสารโบราณ Adat Aceh ระบุว่า
“… พระนาง (สุลต่านนาห์ กัมมาลัต) ทรงถูกถอดออกจากการเป็นกษัตริย์ด้วยความเห็นฟ้องต้องกันจากบรรดาศรีตะวันกรมการเมืองและราษฎรแห่งอาเจะห์ เนื่องด้วยมีจดหมายสำคัญมาจากนครมักกะฮ์ ที่เขียนโดย กอฎี มาลิค อัล–อะดิล ย้ำว่า กษัตริย์สตรีเป็นสิ่งผิดกับหลักแห่งกฎหมาย…”
ฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังการวิ่งเต้นให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองของอาเจะห์นั้น เอกสารฝ่ายฮอลันดาร่วมสมัยระบุว่าคือ คณะนักบวช (Priester Partij) ที่เป็น Arabische (อาหรับ)นำโดย ชาริฟ บารากัต ชาวมักกะฮ์ (มาถึงอาเจะห์ในปี 1683) ซึ่งได้โค่นล้มคณะท้องถิ่น(Nationale Partij) และระบอบการปกครองสุลต่านนาห์สำเร็จในปี 1699 ซึ่ง Khan ระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้คณะอาหรับเป็นรองฝ่ายท้องถิ่นมาตลอด กระทั่งได้มี ‘ฟัตวา’ (คำตัดสิน)มาจากมักกะฮ์ว่าการปกครองโดยสตรีเป็นสิ่งที่ไม่ชอบในอิสลาม และโลกอิสลามเองเมื่อผู้นำศาสนาในนครหลวงแห่งอิสลามได้มีคำตัดสินเช่นนี้ พวกเขาจึงต้องยินยอมปฏิบัติแต่โดยดีด้วยการถอดสุลต่านนาห์กัมมาลัตออก และให้ชาวอาหรับขึ้นเป็นสุลต่านแห่งอาเจะห์อยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวท้องถิ่นต่อต้านคณะอาหรับเหล่านี้ในเวลาต่อมา
อ้างอิง :
[1] Sher Banu A.L. Khan. Sovereign Women in a Muslim Kingdom : The Sultanahs of Aceh 1641-1699. (NUSS Press). 2022.
[2] Sovereign Women in a Muslim Kingdom: The Sultanahs of Aceh, 1641–1699, by Sher Banu A.L. Khan