‘โรลังยัคมินส์’ ข้อต่อสำคัญการทูต เบื้องหลังปฏิรูปพลิกโฉมสยามในสมัยรัชกาลที่ 5
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศสยามต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของสยามโดยกองเรือรบฝรั่งเศส หรือการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยม ซึ่งประเทศต่างๆ รอบสยามต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกแทบทั้งสิ้น
และในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของเมืองสยามนี้ ชาวต่างชาติผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่คอยให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สยามรอดพ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ มาได้ คือ “เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ” หรือ “โรลังยัคมินส์” ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวเบลเยี่ยม
กุสตาฟว์ อ็องรี อ็องฌ์ อีปอลิต โรลัง ยัคมินส์ (Gustave Henri Ange Hippolyte Rolin-Jacquemyns) เป็นชาวเบลเยียม เกิดที่เมือง กางค์ ในปี พ.ศ. 2378 เรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองกางค์ เป็นผู้เริ่มตั้งสภากฎหมายระหว่างประเทศ เป็นราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศเบลเยียม เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเบลเยียม และเป็นผู้พิพากษาศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกด้วย
นอกจากนี้ เขายังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง Institut de Droit International องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศแห่งแรกซึ่งยังคงทำงานอยู่ถึงปัจจุบัน และมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่
โรลังยัคมินส์ เข้ารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปและอัครราชทูตสยาม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 กำลังเร่งปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นระบบเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ก็เกิดกรณีข้อพิพาทกับฝรั่งเศสในเรื่องดินแดนเมืองขึ้น หรือเหตุการณ์ ร.ศ.112 โรลังยัคมินส์ จึงถือเป็นผู้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาที่รัฐบาลสยามต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112
โรลังยัคมินส์ ได้ให้คำปรึกษาด้านการปรับปรุงศาลยุติธรรม ริเริ่มการศึกษาและโรงเรียนกฎหมายในประเทศให้เป็นที่เชื่อถือของต่างชาติ เพราะขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาตั้งศาลกงสุล และไม่ยอมอยู่ใต้กฎหมายประเทศสยาม เพราะถือว่าไม่มีระเบียบแบบแผนรัดกุม ดังนั้น การจะยุบศาลกงสุลทางสยามต้องมีระบบกฎหมายที่เป็นสากลเสียก่อน และในวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 นี้ โรลังยัคมินส์ ยังเป็นผู้มีบทบาทในการปรับปรุงปัญหาด้านการต่างประเทศ และช่วยเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำให้สยามเสียเปรียบต่างชาติน้อยที่สุด จนสามารถช่วยรักษาเอกราชของชาติไว้ได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ในการปฏิรูประบบราชการของสยามช่วงปี พ.ศ. 2435 – 2440 โรลังยัคมินส์ ยังเป็นผู้มีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาการปฏิรูประบบราชการทั้งระบบให้เป็นแบบตะวันตก โดยในขณะนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งระบบราชการปกครองประเทศออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม และตั้งสภารัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้เวลาปฏิรูปทั้งระบบนาน 5 ปี จึงสามารถจัดตั้งระบบราชการแบบตะวันตกแทนที่ระบบราชการแบบเก่าโดยสมบูรณ์ และยกเลิกอำนาจปกครองของกฎหมายตราสามดวงไปได้ทั้งหมด
สำหรับผลงานที่สำคัญอีกด้านของ โรลังยัคมินส์ คือ เป็นผู้ถวายโครงการในการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและประเทศใกล้เคียง เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ รวมทั้งศึกษากิจการบ้านเมืองเพื่อปรับปรุงประเทศ และประการสำคัญคือ เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้รู้จักและสนับสนุนสยามในด้านการเรียกร้องดินแดน ทำให้สยามหลุดพ้นจากการคุกคามของฝรั่งเศสในที่สุด
โดยในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้รับการแนะนำจาก โรลังยัคมินส์ ว่าควรจะเสด็จไปเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียก่อน เพราะเวลานั้นฝรั่งเศสกำลังผูกพันอยู่กับรัสเซีย ภายใต้สนธิสัญญาทวิภาคี และเป็นที่เชื่อได้ว่าการต้อนรับอย่างอบอุ่นของรัสเซียในฐานะที่พระเจ้าซาร์ทรงรู้จักมักคุ้นกับในหลวงรัชกาลที่ 5 มาก่อน จะส่งผลบวกทางการเมืองต่อสยามและสร้างลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวยุโรป และในระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 5เสด็จเยือนยุโรป โรลังยัคมินส์ ยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย
นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาของเจ้าฟ้าชายผู้เป็นรัชทายาท และพระราชโอรสทุกพระองค์ โรลังยัคมินส์ ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษา และเสนอความคิดว่าควรจะศึกษาวิชาใดในต่างประเทศ และควรจะเรียนในประเทศใด เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และเป็นการเชื่อมโยงสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศต่างๆ อีกด้วย
ด้วยคุณความดีและความสามารถหลายด้านของ โรลังยัคมินส์ ที่มีต่อประเทศสยาม วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ โรลังยัคมินส์ เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวาภักดิ์ ปรมัคราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป ถือศักดินา 10,000 นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งฝรั่งชาวต่างชาติเป็นเจ้าพระยาเทียบชั้นเสนาบดี
โรลังยัคมินส์ รับราชการอยู่ในสยามได้ 7 ปี ก็เกิดเจ็บป่วยด้วยชราภาพ จึงจำใจต้องทูลลาออกจากราชการ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเสียดาย แต่ก็ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยทรงพระราชดำริว่ามีความจำเป็นเช่นนั้นจริง โดยโรลังยัคมินส์ ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2442 และเดินทางกลับไปยังประเทศเบลเยี่ยม กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2444 อายุได้ 66 ปี
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของโรลังยัคมินส์ ต่อมาภรรยาของท่านก็ถึงอนิจกรรมในเวลาใกล้ๆ กัน แต่ทั้งสองมีบุตรรับราชการต่อมา 2 คน โดยบุตรคนโตเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคล้ายบิดา และมีชื่อเสียงจนพระเจ้าแผ่นดินเบลเยียมทรงตั้งให้มียศเป็นบารอน รวมทั้งยังเป็นผู้พิพากษาของเมืองไทยที่ศาลต่างประเทศ ณ กรุงเฮกอีกด้วย ส่วนบุตรคนที่ 2 ได้เป็นกงสุลเยเนอราลไทยอยู่ที่กรุงบรัสเซล ซึ่งชาวเบลเยียมยังคงให้ความนับถือตระกูลโรลังยัคมินส์มาจวบจนถึงปัจจุบันนี้