‘โรงสีข้าวรัชมงคล’ โรงสีที่พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศใช้โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีความแตกต่างจากมาตราการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ที่ถูกนำมาช่วยเหลือเกษตรกรไทยกว่า 30 ปี เมื่อนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดแบบไม่จำกัดจำนวน โดยตั้งราคารับจำนำที่ 15,000 บาท เป็นอัตราตายตัว ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดกว่า 50% ส่งผลให้ในระยะเวลาประมาณ 2 ปีกว่า ๆ รัฐบาลใช้เงินไปราว ๆ 8.84 แสนล้านบาทกับโครงการนี้
ระหว่างการดำเนินโครงการ ราคารับจำนำข้าวที่ตั้งสูงกว่าราคาตลาดถึงเท่าตัว ส่งผลให้กลไกตลาดบิดเบี้ยว และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายขนาดการผลิตมากขึ้น ผลผลิตข้าวจึงเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตที่รัฐบาลรับจำนำไว้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว กลับไม่มีเกษตรกรรายใดไถ่ถอนกลับคืน เนื่องจากราคารับจำนำสูงเกินราคาตลาดเป็นเท่าตัว จึงไม่ต่างอะไรกับการขายขาด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่สามารถระบายข้าวในสต๊อกออกไปได้
สมมุติฐานของรัฐบาล ที่คาดการณ์ว่าการรับจำนำข้าวในราคาสูง จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย และรัฐบาลจะสามารถระบายข้าวที่รับจำนำขายสู่ต่างประเทศในราคาที่ทำกำไรได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น และเป็นความผิดพลาด โดยสถิติราคาข้าวขาว 5% ในปีพ.ศ. 2554 อยู่ที่ 549.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อปริมาณข้าวในสต๊อกของรัฐบาลสะสมจนถึงกว่า 18 ล้านตันในปีพ.ศ. 2557 คิดเป็นปริมาณถึงเท่าตัวของปริมาณการส่งออกข้าว กลับสร้างแรงกดดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ 422.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
โครงการรับจำนำข้าวไม่เพียงประสบความล้มเหลวในการดำเนินการ แต่ยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ที่นำไปสู่การดำเนินคดีทุจริตกับนักธุรกิจและนักการเมืองระดับรัฐมนตรี
นโยบายรับจำนำข้าว จึงเป็นตัวอย่างของนโยบายประชานิยมที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐเพื่อตอบสนองการสร้างกระแสความนิยมทางการเมือง ที่เป็นการสร้างภาระทางการคลังและทำลายโครงสร้างตลาดข้าวจนเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่เอื้อประโยชน์อย่างมากให้บรรดาเกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งจำนำข้าวตั้งแต่รายละ 6 แสนบาทขึ้นไป จำนวน 33,309 ราย คิดเป็น 5.4% ของชาวนาที่ทำนาปรัง แต่กลับมีมูลค่าที่รัฐรับจำนำข้าวสูงถึง 27,034 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.1% ของมูลค่าการจำนำข้าวนาปรังทั้งหมด
ขณะเดียวกัน โรงสีข้าวรัชมงคล ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาสูงกว่า 15,000 บาท มาตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียอีก โดยเป็นการดำเนินการตามกลไกราคาตลาดไปพร้อม ๆ กับรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่สมเหตุสมผล และโรงสีก็สามารถทำกำไรเลี้ยงตัวได้
โรงสีข้าวรัชมงคลได้จดจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ดำเนินการโดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งน้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม
เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ.2540 หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2กรกฎาคม 2540 เกิดกระแสข่าวลือว่าบริษัทโตโยต้าจะประกาศปิดโรงงานที่เกตเวย์ เตรียมจะลอยแพพนักงานกว่า 5,500 คน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าราษฎรของพระองค์จะตกงาน จึงทรงมีพระราชดำริขอซื้อรถยนต์จากโตโยต้า รุ่น โซลูน่า (Soluna) ด้วยทรัพย์สินส่วนพระองค์เองจำนวน 1 คันในสีฟ้าอ่อน และทรงกำชับว่าไม่ต้องรีบร้อนผลิต พนักงานจะได้ยืดระยะเวลาการทำงานนาน ๆ
“… อย่างรถที่นั่งมา … สร้างด้วยฝีมือคนไทย … มีจำนวนสองร้อยกว่าคัน ก็เลยทำให้ … ช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้ … แล้วก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เขาตั้งโรงสี เหมือนโรงสีเป็นข้าวที่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข … ที่เหมาะสม และผู้บริโภคที่ซื้อข้าวได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่มีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิตผู้บริโภคก็มีความสุข …”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540
หลังจากบริษัทโตโยต้าทูลเกล้าถวายรถยนต์ที่ผลิตเสร็จแล้ว พระองค์ท่านได้พระราชทานเงินจำนวน 600,000 บาทเพื่อชำระค่ารถยนต์ แต่ทางบริษัทปฏิเสธที่จะรับไว้ ในหลวงรัชกาลที่ 9จึงพระราชทานพระราชดำริให้บริษัทโตโยต้ารับเงินไว้เพื่อช่วยเหลือสังคมแทน จึงเป็นที่มาของการที่บริษัทโตโยต้าให้ความสนใจโครงการโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา และกราบบังคมทูลฯ ขอรับพระราชทานแนวพระราชดำริ นำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งโรงสีข้าวรัชมงคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตร ชุมชนในราคายุติธรรม พร้อมจำหน่ายข้าวสารในราคาเหมาะสม โดยมิได้หวังผลกำไรจากการดำเนินงาน
โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด นี้ด้วย เนื่องจากบริษัทโตโยต้า ถือว่าเงินที่ได้รับพระราชทาน 600,000 บาท เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ดังนั้นบริษัทจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายหุ้น
การดำเนินงานของโรงสีข้าวรัชมงคลใน 7 ปีแรก แม้จะขาดทุนสะสมถึง 15 ล้านบาท แต่ก็เริ่มรับรู้กำไรในปีที่ 8 ในปีพ.ศ. 2550 เมื่อบริษัทข้าวรัชมงคลเริ่มมีกำไร ก็ไม่เคยปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเลย เพราะกำไรที่ได้จะนำไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การเกษตร มอบแก่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทราทุกปี ซึ่งยึดปฏิบัติตามแนวทางของโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรงมาสี และจำหน่ายในราคาเหมาะสมโดยมิได้มุ่งหวังการค้าเพื่อกำไร แต่ให้คุ้มทุน และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างพอเพียง
ในปัจจุบันแม้โรงสีข้าวรัชมงคล จะไม่ได้สร้างผลกำไรมากมาย แต่ก็มีรายได้และกำไรในระดับที่พอจะเลี้ยงตัว และมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง ไปพร้อม ๆ กับช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่สมเหตุสมผล สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการช่วยเหลือด้วยการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดหรือสร้างภาระทางการคลัง
อ้างอิง :
[1] “โรงสีข้าวรัชมงคล”..กุศโลบายที่ “พ่อ” ทำเพื่อลูก
[2] รถทรงงานรุ่นเดียวในโลกที่เป็นภาษาไทยและโรงสีข้าวรัชมงคล
[3] ผลดีผลเสียของการจำนำข้าวทุกเม็ด
[4] นิพนธ์ พัวพงศกร. โครงการวิจัย เรื่อง “การคอร์รัปชันกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด. สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2557.