โต้ซีรีส์ ‘เอียง’ ประวัติศาสตร์ เอกสารฝรั่งเศสระบุชัด คนไทยไม่ได้ ‘เผากรุงศรี’

เมื่อไม่นานมานี้มีซีรีส์ของไทยเรื่องหนึ่งได้เริ่มออกอากาศมาไม่กี่ตอน มองเผินๆ ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะประสงค์ดีต่อสังคม เพราะผู้จัดทำได้นำประเด็นปัญหาของระบบการศึกษาที่ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ นั่นคือ การแข่งขันกันของนักเรียนภายใต้การบีบคั้นของคณะอาจารย์มาใช้เป็นโครงเรื่องสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้

แต่ความประสงค์ดีนั้น ควรต้องครอบคลุมไปถึงเรื่องจริยธรรมในการทำสื่อบันเทิงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการนำประเด็นทางประวัติศาสตร์อันเป็นเรื่องเชิงวิชาการ และยังมีความอ่อนไหวต่อสังคมมาเป็นตัวจุดประกาย การนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ละครก็ตาม แต่ผู้จัดทำควรนำเสนออย่างตรงไปตรงมาและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะไม่ใช่ผู้ชมทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่จะสามารถแยกแยะได้ว่า ประเด็นไหนเป็นเรื่องจริง ประเด็นไหนเป็นเรื่องที่แต่งเติมขึ้นมาเพื่อเสริมอรรถรส

อีกทั้งหากต้องการเสนอฉากความขัดแย้ง (conflict) ระหว่างอาจารย์และนักเรียนแล้ว ยิ่งควรต้องนำเสนอด้วยความระมัดระวัง เพราะพฤติกรรมที่แสดงถึงความโอหังของทั้งครูและศิษย์นั้นไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาในสังคม และยังอาจนำไปสู่การลอกเลียนแบบได้

สำหรับประเด็นเรื่องความไม่ถูกต้องของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้เป็นฉากความขัดแย้ง (conflict) ระหว่างอาจารย์และนักเรียนในซีรีส์ดังกล่าว คือ กรณี ‘พม่าเผากรุงศรี’  

ฉากดังกล่าวเริ่มจากบทสนทนาของครูผู้ชายซึ่งพูดว่า ‘พม่าเผากรุงศรีฯ ทั้งหมด เพื่อไม่ให้กรุงศรีฯ ตั้งทัพมาสู้ได้อีก’

นักเรียนชายคนหนึ่งแย้งขึ้นมาว่า ‘ผมอ่านจากบันทึกบาทหลวงฝรั่งเศส พม่าเผาแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นคนไทยกับคนจีนเผาปล้นเอาของมีค่าไปขาย’

ปรากฏว่าครูได้โต้กลับนักเรียนคนนั้นด้วยตรรกะประหลาดๆ ที่คนเป็นครูในสมัยนี้ไม่น่าจะพูด ว่า ‘เธอเป็นคนไทยอยู่หรือเปล่า’

ฉากดังกล่าวนี้เอง ทำให้ ‘ฤา’ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องนำ ‘ความจริง’ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์มาเผยแพร่ในบทความนี้ เพราะนักแสดงที่รับบทเป็นนักเรียน น่าจะพูดไปตามบทที่ผู้กำกับและผู้เขียนบทวางไว้ให้ มากกว่าที่จะคิดขึ้นมาเองได้ และเข้าใจว่าผู้จัดทำซีรีส์เรื่องนี้อาจจะอยากสะท้อนมุมมองของตน ผ่านฉากนี้ว่าการเรียนประวัติศาสตร์ของไทยไม่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นต่าง หากนักเรียนคนไหนมีความเห็นต่างก็เท่ากับว่าถือเป็นสิ่งแปลกปลอม

นอกจากนี้ ฉากดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงนัยของการพยายามท้าทายประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่ว่าเอกสารของฝ่ายไทยเชื่อถือไม่ได้ เพราะในฉากนี้นักเรียนได้ ‘อ้างถึง’ เอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งตามทัศนะของเขาเห็นว่าน่าเชื่อถือกว่าเอกสารของไทย

อย่างไรก็ดี ฤา ขอเรียนตามตรงว่า ทั้งตรรกะและเอกสารที่นักเรียนผู้นี้อ้างถึง (ตามบทละคร)นั้น เป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวและยังบิดเบือนไปจากความเป็นจริงแทบทั้งหมด ! เพราะอันที่จริงต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ว่า ชุดความรู้ของทางการรัฐไทยว่าด้วยประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและยุคอื่นๆ นั้น หาได้ใช้เพียงแต่เอกสารไทยประเภทพงศาวดารเพียงอย่างเดียวไม่ เพราะอย่างน้อยๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ชนชั้นนำรวมถึงรัฐบาลสยามได้นำเอาหลักฐานจากต่างประเทศมาใช้ในการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติมานานแล้ว โดยได้พิจารณาจากงานแปลเอกสาร ทั้งจากภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และอื่นๆ ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์สยามทั้งของสยามสมาคม (Siam Society) กรมศิลปากร และเอกชน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่างานเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยใช้หลักฐานที่มีความหลากหลายมาตั้งนานแล้ว

ส่วนกรณี ‘พม่าเผาทำลายกรุงศรีอยุธยา’ นั้น ถือเป็นความจริงที่ยุติมานานแล้ว เพราะหลักฐานต่างๆ ได้ชี้ชัดแล้วว่าพม่าได้กระทำการนี้จริง และเอกสารทั้งของไทย พม่า และต่างประเทศต่างก็ยืนยัน ‘ความจริง’ ในเรื่องนี้ โดยเมื่อกรุงศรีฯ ได้สิ้นสภาพความเป็น ‘กรุง’ อย่างสิ้นเชิงแล้ว พม่าจึงยกทัพออกไป [1]

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมว่า M. Corre บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ ‘เพิ่งจะ’เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาหลังจากที่พม่ายกทัพออกไปตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2310 ได้เขียนจดหมายลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2312 บรรยายถึงสภาพของกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น ว่า

...คนไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนซึ่งไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ หันไปทำลายวัดวาอารามต่างๆ เขาเหล่านั้นได้ทำลายพระพุทธรูป เผา ตัดเป็นชิ้นๆ สำหรับพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงก็เอาไฟสุมหลอมเสีย ประตูหน้าต่างและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จะเผาได้ก็เผาเสียพระพุทธรูปนั้นให้ความเอื้ออารี แม้ว่าจะถูกคนงานตัดออกเป็นชิ้นๆ (พระพุทธรูปซึ่งคนเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ แต่ตอนนี้ถูกผู้ที่เคยนับถือตัดออกเป็นชิ้นๆ)… ’ [2]

ทั้งนี้ ฤา เชื่อมั่นอย่างมากว่าผู้จัดทำซีรีส์ดังกล่าวน่าจะใช้เอกสารชิ้นนี้ในฉากการอ้างยืนยันคำพูดของนักเรียนว่า ‘ผมอ่านจากบันทึกบาทหลวงฝรั่งเศส พม่าเผาแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นคนไทยกับคนจีนเผาปล้นเอาของมีค่าไปขาย’ อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปแล้วว่า M. Corre เพิ่งจะเดินทางมาถึงสยามแท้ๆ แต่กลับเขียนรายละเอียดไว้อย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะการเน้นโจมตีไปที่ ‘คนจีน’ ว่าเป็นพวกที่มีบทบาทในการทำลายมากที่สุด เพื่อจะกลับไปสู่สภาพธรรมชาติที่ไร้อารยะธรรม ไม่ใช่ ‘คนไทย’

แต่หากกลับไปตรวจสอบเอกสารที่เขียนโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสท่านอื่นที่ได้อาศัยอยู่ในกรุงศรีฯ มาตั้งแต่กรุงยังไม่แตก เช่น มองเซนเยอร์บรีโกต์ ซึ่งได้หนีพม่าออกจากกรุงศรีฯ ไปอาศัยที่อยู่บางกอก เขาได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2313 (วันเดียวกับที่ M. Corre เขียน) บาทหลวงฝรั่งเศสผู้เป็นประจักษ์พยานสำคัญทั้งในช่วงการเผากรุงและการปล้นสมบัติ ได้ยืนยันว่า  

‘…วัดแซงโดมีนีคก็ถูกเพลิงไหม้เช่นกัน แต่วัดเซนต์ปอลได้รอดไป หาถูกเพลิงไหม้หมด แต่เข้าของในวัดนั้นหมดไม่มีเหลือ ด้วยพวกจีนและพวกไทยได้เข้าไปลักของ จนที่สุดไม้เครื่องบนหลังคาก็เก็บเอาไปด้วย…. พม่าได้เที่ยวเอาไฟเผาบ้านเรือน ทุบต่อยเข้าของและฆ่าฟันผู้คนทั่วไปหมด.… เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือนทำลายเข้าของต่างๆ อยู่ 15 วัน แล้วได้ฆ่าฟันผู้คนไม่เลือกว่ามีเงินหรือไม่มีเงินก็ฆ่าฟันเสียสิ้น แต่พวกพม่าพยายามฆ่าพระสงฆ์มากกว่า และได้ฆ่าเสียจำนวนนับไม่ถ้วน ข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ในตอนเช้าเวลาเดียวเท่านั้นกว่า 20 องค์  เมื่อพม่าเผาบ้านเรือนในพระนครตลอดจนพระราชวัง และวัดวาอารามหมดสิ้นแล้ว พวกพม่าจึงเตรียมการที่จะยกกลับไป [3]

กล่าวได้ว่าจากมุมมองของชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในสยามก่อนกรุงแตกนั้น พม่าได้เผาทั้งวัดไทยและโบสถ์คริสต์จริง อีกทั้งยังเน้นฆ่าพระสงฆ์ และได้เผาทำลายกรุงศรีฯ เป็นเวลานานถึง 15 วัน แต่ถึงกระนั้นหลังจากที่พม่าได้ยกทัพออกไปแล้ว จึงได้มีคนจีนและคนไทยร่วมกัน ‘ขโมย’ ของในโบสถ์คริสต์ ดังนั้น ข้อความของมองเซนเยอร์บรีโกต์ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อความของ M. Corre โดยตรรกะอยู่แล้ว

อีกทั้งข้อความที่ถือเป็นหัวใจหลักในสารของมองเซนเยอร์บรีโกต์ นั่นคือ การที่พม่าเผากรุงศรีฯ จริงและได้เผาติดต่อกันนานถึง 15 วัน ลองคิดดูสิว่ากองไฟที่สุมเผาถึง 15 วันนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายขนาดไหน เรียกได้ว่ากรุงศรีฯ ในเวลานั้นแทบจะไม่เหลืออะไรเลยเสียด้วยซ้ำ เว้นแต่ซากที่เหลือจากกองเพลิง ส่วนข้อสรุปที่ว่าคนจีนและคนไทยเผาเป็นส่วนใหญ่นั้น ถือเป็นข้อสรุปที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคนละเหตุการณ์กัน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด สรุปได้ว่า พฤติการณ์ของคนจีนและคนไทยหลังจากที่พม่าได้ยกทัพออกไปแล้ว คือการขุดหาสมบัติและโลหะเพื่อนำไปขายเท่านั้น แต่ข้อพึงระลึกสำคัญคือ สภาพของกรุงศรีฯ ในเวลาที่คนเข้ามาขุดหาสมบัตินั้น ได้สิ้นสภาพของความเป็นกรุงไปแล้วโดยปริยาย ดังนั้น การนำเหตุการณ์พม่าเผาเมืองมาปะปนกับเรื่องการขุดสมบัติที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาอีก 1-2 ปีให้หลัง ถือเป็นการตีความทางประวัติศาสตร์ที่เลอะเทอะ ดังนั้น คำพูดของนักเรียนในซีรีส์ที่ว่า พม่าเผาแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นคนไทยกับคนจีนเผาปล้น’ จึงไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเด็นที่ว่ามานี้อย่างชัดเจน

อ้างอิง :

[1] ‘เผาจริง’ หาใช่ ‘เผาหลอก’ บันทึกข้อเท็จจริงจากผู้ร่วมเหตุการณ์ในวัน ‘กรุงแตก’
[2] นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก
[3] จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศกับครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาค 6

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า