เหตุใดราชอาณาจักรสยาม จึงไม่เคยเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม
“เราไม่เคยถูกคุกคามจากต่างชาติ ?”
“กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ไม่เคยนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤติ ?”
“ชนชั้นปกครองร่วมมือกับชาติมหาอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ?”
“สยามไม่เคยมีเอกราช แต่เป็นได้แค่ประเทศกึ่งอาณานิคม ?”
นี่คือการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ด้วยความชอบธรรม หรือเป็นแค่การบิดเบือนและชักนำด้วยใจอคติกันแน่
เพราะถ้าหาก “สยามเป็นกึ่งอาณานิคม” จริงดั่งคำอ้าง ย่อมหมายความว่า “อำนาจการตัดสินใจ” ของรัฐบาลสยามคงจะมีอย่างจำกัดมาก เพราะต้องอาศัยการตัดสินใจของประเทศเจ้าจักรวรรดิเป็นหลัก หรือกระทั่งการถือว่าพวกคนผิวขาวเป็นพวกที่มีสถานะสูงส่งกว่าคนผิวสีหรือคนเอเชีย ตามแนวคิด “เหยียดเชื้อชาติ” (Racism) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบอาณานิคมตะวันตก ที่พวกคนผิวขาวใช้ “แบ่งแยก” แล้ว “ปกครอง”
แต่เมื่อนำเงื่อนไขของทั้ง 2 แบบข้างต้นมาพิจารณาตามหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ประเทศสยามยังคงห่างไกล และไม่มีความใกล้เคียงกับเขื่อนไขดังกล่าวเลย
ดังนั้น การอภิปรายของ Common School เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ซึ่งผู้บรรยายได้เสนอแนวคิดว่า “สยามเป็นกึ่งอาณานิคม” โดยการตีความแต่เชิงลบ และอ้างว่าเป็นการสอนประวัติศาสตร์นอกขนบ จึงเป็นแค่การกล่าวอ้างเลื่อนลอย และเต็มไปด้วยอคติ
วาทกรรมเกินจริง
ผู้บรรยายอ้างว่า การที่สยามมีเอกราช รวมไปถึงการปฏิรูปประเทศสมัย รัชกาลที่ 5 นั้น เป็นแค่ความเชื่อของพวกลัทธิราชาชาตินิยม เป็นพล็อตเดิม ๆ ของประวัติศาสตร์ไทยแบบเก่า ที่ครอบกะลาผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน
เพราะสยามเป็นได้แค่ “ประเทศกึ่งอาณานิคม” แถมกษัตริย์เองนี่แหละที่ร่วมมือกับชาติมหาอำนาจยุโรป เพียงเพื่อ “ผลประโยชน์การเมืองภายใน” ของชนชั้นปกครอง และต้องการรักษาไว้ซึ่งอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จากผลประโยชน์ร่วมนี่เอง ที่ทำให้สยามตกเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส กลายสภาพเป็น “สภาวะกึ่งอาณานิคม” ไม่ได้เป็นประเทศที่มีเอกราชจากความสามารถของพระมหากษัตริย์เลย
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
คำพูดดังกล่าว เป็นการตีความโดยมองเหลี่ยมมุมเพียงด้านเดียว และไม่นึกถึงปัจจัยภายในของประเทศ ตลอดจนสถานะของชาติอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกับไทยเลย
โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า “สยามเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม” นั้นไม่เป็นความจริง เพราะ
- การปฏิรูประบบราชการของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2435 ได้รับอิทธิพลมาจาก “ปัจจัยภายนอก” คือ กระแสต่าง ๆ ที่หลั่งไหลมาจากประเทศตะวันตกจริง แต่สยามเองก็มี “ปัจจัยภายใน” ของตนเองด้วย และการเลือกปรับตัวเองดังกล่าว เป็นเรื่องธรรมดาของกระบวนการโลกาภิวัตน์ (Globalization)
- การรวบอำนาจจากเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นในสมัยนั้น เป็นเรื่องของการวางระบบบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ (Standardization) ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศสมัยใหม่ (Nation-State) ทำกันทั่วโลก อีกทั้งอังกฤษก็ยอมรับอำนาจของสยาม “เหนือ” ดินแดนล้านช้าง ล้านนา มลายู ในการออกบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร
- การปฏิรูปเช่นนี้ สามารถพบเจอได้ในประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งได้ปรับปรุงพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในยุคเมจิ จนก้าวหน้าทัดเทียมกับมหาอำนาจตะวันตก และญี่ปุ่นก็ไม่เคยถูกเรียกเป็น “กึ่งอาณานิคม” ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยและเงื่อนไข รวมถึงกระบวนการปฏิรูปประเทศ มีความใกล้เคียงกับสยามมาก
- นอกจากญี่ปุ่นแล้ว จีน ตุรกี (ออตโตมาน) และอิหร่าน ก็เจอเงื่อนไขจากชาติมหาอำนาจ แบบเดียวกับสยามด้วย ซึ่งในประเทศเหล่านี้ วาทกรรม “กึ่งอาณานิคม” ไม่ได้มีพลังสั่นคลอนอะไรขนาดนั้นเลย แต่ ผู้บรรยาย กลับโหมกระพือจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ในกรณีของสยาม
- สยามโดยเฉพาะในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ไม่เคยกีดกันเชื้อชาติใด ๆ เลย ซึ่งต่างกับประเทศอาณานิคมตะวันตก ที่คนยุโรปผิวขาวมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคมมากมาย ทว่าในสยามนั้น แม้แต่ชาวจีน มุสลิม มอญ ลาว ก็สามารถไต่เต้าถึงตำแหน่งสูง ๆ ในระบบราชการสมัยใหม่ได้ สยามจึงไม่ได้มองตนเองว่าเป็น “เจ้าอาณานิคมสยาม” เลย
- มีการกล่าวอ้างว่า การลงนามในสนธิสัญญาไม่เสมอภาค (Unequal treaty) ตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทำให้สยามถูกจำกัดสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการศาล การค้า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการบริหารประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็น “สภาวะกึ่งอาณานิคม” เพราะสยามยังมีอำนาจตัดสินใจ ดำเนินนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินอยู่มากพอสมควร
- รัฐบาลสยามได้เริ่มต้นเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงการแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ด้วยพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลต่าง ๆ อีกทั้งสยามก็เหมือนกับญี่ปุ่น ที่พยายามก้าวพัฒนาให้ทัดเทียมชาติอื่น ๆ ทั่วโลก
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการให้คำนิยาม “สยามเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม” ตามที่ผู้บรรยายกล่าวอ้างจึงไม่น่าจะถูกต้อง เป็นการการสรุปที่ “เกินจริง” และเป็นการอธิบายใน “เชิงลบ” จนมองข้ามข้อเท็จจริงอื่น ๆ ไปจนหมดสิ้น
เป็นเรื่องดีที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้รากทางประวัติศาสตร์ ให้เห็นมุมอีกด้านของปัจจุบัน เพื่อก้าวสู่การแตกผลิยอดใบในอนาคตที่เหมาะสม แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราจะให้ความเป็นธรรมกับประวัติศาสตร์ด้วย โดยการตัดซึ่งอติและคำกล่าวหาที่บิดเบือน จนกลายเป็นการด้อยค่ารากเหง้าของอดีต ที่ก่อร่างสร้างเรามาจนถึงทุกวันนี้
เพราะนั่นไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า หากแต่เป็นการถอยหลังไปในกระแส ที่สักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมจางหายไป
ที่มา :
[1] วรชาติ มีชูบท, สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊กส์, 2557) หน้า 209-211.
[2] กจช.,ร.5,ม.2.22 ง/6 กรมหมื่นเทววงษ์ฯกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ตอบไปรเวทที่ 741/48 ที่ 124 และ ร. ที่ 3657, 6 1/1 ค่ำ 1248.
[3] รักพงษ์ แซ่โซว, “ปัจจัยที่ช่วยให้ญี่ปุ่นไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาญี่ปุ่นศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546) หน้า 67.
[4] ศิริพร คนเพขร, อิทธิพลตะวันตกกับจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2559 (สิงหาคม 2559 – กรกฎาคม 2560) หน้า 61.
[5] Japan, Colonized : encyclopedia.com
[6] การพยายามแก้สนธิสัญญาไม่เสมอภาคของญี่ปุ่น Pankaj Mishra, From The Ruins of Empire (Allen Lane, 2012).