‘เสือป่า’ กลุ่มผู้กล้าอาสาป้องกันชาติ ที่ไม่ใช้งบหลวงแม้เพียงบาทเดียว
กองกำลังเสือป่า ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีงานบางชิ้นได้ศึกษาในทำนองที่ว่าเป็นกองกำลังที่พระองค์ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกองกำลังส่วนพระองค์เนื่องจากความไม่ไว้วางใจและความแตกแยกระหว่างพระองค์กับกองทัพ ดังนั้นกองเสือป่าจึงเป็นเสมือนกองทัพซ้อนเข้าไปอีกทีทั่วประเทศในขณะนั้นจนทำให้เกิดความตึงเครียดในรัชสมัยขึ้น
อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์เช่นนี้เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด เพราะสาเหตุของการตั้งกองเสือป่าขึ้นนั้นไม่อาจมองขาดได้จากบริบทที่มีความต่อเนื่องก่อนหน้า กล่าวคือหลังตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง [1] เป็นต้นมาก่อให้เกิด flow ทั้งการเข้ามาของคนและสินค้าต่างๆ จำนวนมาก อย่างไรก็ดีการถาโถมเข้ามาโดยเฉพาะตะวันตกทำให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือบางครั้งเป็นเหตุวิวาทขึ้น โดยสิ่งที่รุนแรงที่สุดคือเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่มีบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “เสวยไม่ได้ บรรทมไม่หลับ เป็นเวลานานนับเดือนนับปี” ทำให้พระองค์ประชวยในภายหลัง
การประชวรของพระองค์นั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความเครียดอย่างหนัก หาใช่เป็นการเขียนขึ้นเล่นๆ ให้นักวิชาการยุคหลังพูดแบบตีปาก หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เพียงหนึ่งเดือน พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งมีพระเกียรติยศเป็นที่ 2 รองเจ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จไปศึกษาที่อังกฤษ ซึ่งเรือที่พระราชทานเป็นพระราชพาหนะไปส่งเสด็จที่สิงคโปร์นั้นยังคงมีร่องรอยความเสียหายจากการปะทะกับเรือรบฝรั่งเศสปรากฏอยู่ อันเป็นเสมือนการย้ำเตือนผู้ที่อยู่บนเรือลำนั้นว่าภัยยังมิหายไปไหน และจะติดตามไปแม้จะออกจากสยามไปแล้ว
เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ได้ฝังอยู่ในพระราชหฤทัยของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เพราะเมื่อถึงอังกฤษ พระองค์ตั้งพระราชหฤทัยที่จะศึกษาวิชาทหารเรือ หากแต่ในระหว่างการเตรียมพระองค์นั้นทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทำให้ต้องเปลี่ยนมาเรียนวิชาทหารบกและพลเรือนเพื่อเตรียมพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปและฝ่ากระแสอาณานิคมต่อจากพระราชบิดาของพระองค์
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและกลับมายังสยาม พระองค์ได้ยกร่าง ‘พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร’ ขึ้นและจัดการวางกองกำลังใหม่ร่วมกับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ แต่ที่ปักษ์ใต้นั้นเนื่องจากรัฐบาลสยามได้ทำสัญญาลับกับอังกฤษเมื่อครั้งกู้เงินจาก Federal Malay States เพื่อทำทางรถไฟสายใต้โดยมีเงื่อนไขคือสยามจะไม่ส่งทหารลงไปประจำที่คาบสมุทรมลายูตั้งแต่บางสะพานน้อย ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงสุดชายพระราชอาณาเขตที่มณฑลปัตตานีทำให้ไม่มีการวางกำลังทหารเลยที่ปักษ์ใต้
ในการจัดกองพลนี้มีปัญหาก็คือว่าอัตรากำลังที่ลงบรรจุแต่ละกองพลนั้นต่ำกว่ามาตรฐานของนานาประเทศมาก เพราะกองพลของสยามในขณะนั้นมีน้อยมากและข้อจำกัดด้านงบประมาณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห้ามกู้เงินจากต่างประเทศมาพัฒนากองทัพ และการเกณฑ์เข้ามาเป็นทหารนั้นก็เริ่มแค่บางพื้นที่เท่านั้นมิได้บังคับใช้ทั่วประเทศ และแม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงจัดงบประมาณให้ร้อยละ 24 ของงบแผ่นดินแล้วก็ยังไม่สามารถบรรจุกำลังพลได้เต็มโครงสร้าง ทำให้พระองค์เห็นความจำเป็นต้องมีกำลังสำรองไว้ดังว่า
“ในการมหาสงครามคราวนี้, ไม่ว่าชาติใดภาษาใด, ถึงแม้ได้เตรียมกองทัพบกเรือไว้พร้อมแล้ว, ครั้งถึงเวลาเข้าจริงกำลังขาดลงไปไม่มีเพียงพอจะเพิ่มเติมให้เป็นที่เรียบร้อยเพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่าประการหนึ่ง, ในเวลาสงครามต้องตรากตรำลำบากมาก, มีการเจ็บตายเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีนายทหารเพียงพอ… ต้องเกณฑ์พวกนายทหารกองสมัคร (คล้ายๆ เสื่อป่าของเรา) มาแล้วยังไม่พอ ในที่สุดผู้มีความรู้ในวิชาหนังสือและเลขนิดหน่อยเท่านั้นก็เป็นนายทหารได้, เพราะนายทหารเปลืองมาก, ที่เมืองอังกฤษเป็นผู้รู้สึกเห็นความเดือดร้อนก่อน เขาจึงได้ตั้งกองฝึกหัดไปอยู่ที่สนามยุทธทีเดียวอีกกอง ๑ ข้าได้เห็นแต่แรกแล้วว่าเมืองเราน่าจะเป็นเช่นนั้นได้บ้าง… เมื่อระดมพลขึ้นมาจริงๆ แล้วผู้บังคับบัญชาไม่พอ, อย่างบางกอง นายร้อยตรีเป็นผู้บังคับกอง, แต่นี้ไม่เป็นไร บางกองร้อยจ่านายสิบ นายสิบเป็นผู้บังคับหมวด, บางกองถึงพลทหารเป็นผู้บังคับหมวด”
วิธีหนึ่งที่พระองค์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้คือการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยผู้ที่เข้าเป็นสมาชิกนั้นต้องเสียเงินค่าสมัครและจัดหาเครื่องแบบเอง เสือป่าจึงเป็นกองอาสาสมัครที่มิได้ใช้เงินแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว นอกจากนี้ทรงกำหนดให้เสือป่ามีเครื่องแบบที่เห็นได้ชัดเจน จึงเป็นหลักประกันว่าหากเสือป่าถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติงานจะต้องได้รับการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพที่กรุงเฮก ในขณะเดียวกันพระองค์ยังให้มีการตั้งเสือป่าขึ้นในมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรแม้ในคาบสมุทรมลายู แนว 25 กิโลเมตรริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง และแนวชายแดนไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสที่มีข้อตกลงว่าห้ามส่งทหารสยามเข้าไปประจำการ ให้มีแต่ตำรวจภูธรเท่านั้น แต่เมื่อเสือป่ามิใช่ทหาร การจัดกำลังเสือป่าในพื้นที่ที่มีข้อตกลงลับจึงไม่เป็นการขัดแย้งกับข้อตกลงนี้
กองกำลังเสือป่าจึงมีไว้เพื่อป้องกันพระราชอาณาจักรในวันที่ทุกอย่างขาดแคลนและไม่มั่นคง โดยเฉพาะพระราชวังสนามจันทร์ที่นครปฐมนั้น ความจริงแล้วหากมีประเทศใดจะยกเรือมาปิดอ่าวไทยอีกดังเช่นกรณี ร.ศ. 112 ที่นี่จะเป็นปราการสุดท้ายที่จะใช้ต่อต้านกำลังของต่างชาติ และจะเป็นที่สุดท้ายที่ผู้รุกรานจะได้เห็นเดือนเห็นตะวัน
อ้างอิง :
[1] เรียบเรียงจาก วรชาติ มีชูบท, ภาพล้อฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2555), หน้า 23-33