‘เสรีภาพทางวิชาการ’ เกราะกำบังของงานวิจัยฉ้อฉล

เสรีภาพในการแสดงออก” หรือ “เสรีภาพในการพูด” เป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองทั้งในระดับกติการะหว่างประเทศและระดับรัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย เป็นหลักการที่ยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะสามารถแสดงความคิดและเลือกที่จะแสดงออกโดยไม่ถูกบีบบังคับจากคนหนึ่งคนใดหรือรัฐบาลของตน และมีความสำคัญในการพัฒนาหรือยกระดับความคิดของบุคคล รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ในสังคมซึ่งมีความหลากหลายในวัฒนธรรม ศาสนา หรือวิธีการดำเนินชีวิต บางสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกกลับถูกนำไปใช้ในการคุกคามสิทธิอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพทางความเชื่อและศาสนา หรือสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้เสรีภาพดังกล่าวเรียกว่าเป็น “คำพูดหรือการกระทำที่สร้างความเกลียดชัง” (Hate speech) ในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่แสดงออกอย่างชัดเจน และโดยอ้อมผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรต้องห้ามโดยกฎหมาย

การนิยามคำพูดหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ ลักษณะของสารที่สื่อออกไป (The Speech act) โดยสารที่สื่อจะมีการบรรยายในลักษณะดูถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น เปรียบเปรยว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนในบริบทการเมืองไทยคือ คำว่า “ปรสิต” ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวถือเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือการกำจัด ด้วยการลดทอนคุณค่าและความเป็นมนุษย์ของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัด และการกำจัดนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

สำหรับประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมาได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดขั้ว โดยแต่ละขั้วแต่ละฝ่ายต่างต่อสู้และยกประเด็นต่างๆ ขึ้นมาเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง จนทำให้เกิดความวุ่นวาย กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งความรุนแรงประเภทหนึ่งที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญคือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในนาม “เสรีภาพทางวิชาการ” อันถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ในการเขียนวิจัย หรืองานวิชาการ ความน่าเชื่อถือ (trust) และความซื่อสัตย์ (integrity) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้งานวิจัยได้รับการยอมรับรวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ หรืออ้างอิงเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่อไปได้ อย่างไรก็ตามนักวิจัยบางรายอาจมีการ “ฉ้อฉลในงานวิจัย” (Research fraud) กล่าวคือ มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในการวิจัยทุกรูปแบบ โดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวงผู้ตรวจสอบและผู้อ่าน โดยใช้วิธีการต่างๆ ได้แก่

การสร้างข้อมูลเท็จ (fabrication) คือการสร้างข้อมูลขึ้นโดยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากการทดลองหรือจากการเก็บรวบรวมงานวิจัย

การปลอมแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล (falsification) ได้แก่ การปกปิด บิดเบือน หรือทำให้ผิดจากความเป็นจริง โดยการตัดทอน ดัดแปลง ปรุงแต่งแก้ไขข้อมูล ข้อความ หรือการปฏิบัติอื่นใดในกระบวนการวิจัย เพื่อให้เป็นไปตามข้อสรุปที่ผู้วิจัยต้องการ

ทั้งนี้ยังรวมไปถึง การลักลอกผลงาน (plagiarism) กระบวนการตรวจสอบงานวิจัยไม่ถูกต้อง (abuse of the peer review process) การเผยแพร่ซ้ำ (redundant Publication) การอ้างอิงผิดพลาด (citation and quotation error) เป็นต้น

พฤติกรรมการฉ้อฉลในการวิจัยข้างต้นอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันให้ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ ความก้าวหน้าทางอาชีพ การเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการรับใช้สมมติฐานที่เกิดมาจากความเชื่อของตัวเองด้วย

การวิจัยที่ฉ้อฉลย่อมก่อให้เกิดผลกระทบแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องในการวิจัย เช่น ผู้ร่วมวิจัย สถาบันต้นสังกัด ผู้ให้ทุนในการทำวิจัย ตลอดจนวงการทางวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนทั่วไปในสังคมได้ ดังนั้น ในงานวิจัยใดที่ถูกตรวจพบว่ามีการฉ้อฉล ผู้วิจัยจึงอาจถูกถอนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ ให้ออกจากงาน ตัดสิทธิ์ในการได้รับทุนวิจัย รวมถึงถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับนายฮวาง อู โซก (Hwang Woo-suk) นักวิจัยสเต็มเซลล์ชาวเกาหลีใต้ที่อ้างว่าสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์ด้วยวิธีโคลนนิ่ง โดยผลงานได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารระดับโลกอย่าง Science แต่ถูกตรวจสอบพบในภายหลังว่า มีการสร้างข้อมูลเท็จในการศึกษาวิจัย และในเวลาต่อมานายฮวางได้ถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลกลางแห่งกรุงโซลด้วย

ประเด็นเสรีภาพทางวิชาการนั้น ยังมีความเกี่ยวข้องกับอติพจน์ทางการเมือง ซึ่งได้รับความคุ้มครองในฐานะการแสดงออกทางการเมือง (political expression) โดยคำว่า “อติพจน์” (hyperbole) หมายถึงการกล่าวเกินจริง เป็นเพียงความคิดของผู้กล่าวที่ต้องการย้ำและเน้นความรู้สึกให้เด่นชัดและน่าสนใจ โดยไม่เน้นความเป็นจริง เพราะต้องการให้ผู้รับสารเกิดความซาบซึ้งประทับใจ มุ่งเร้าอารมณ์และความรู้สึกสะเทือนใจเป็นสำคัญมากกว่าความเป็นเหตุเป็นผล

ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้อาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การคุกคามอย่างแท้จริง” (true threats) นั่นคือ การแสดงออกด้วยคำพูดหรือการกระทำที่เป็นการคุกคามต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งอย่างรุนแรง โดยเจตนาให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายหรือถึงแก่ชีวิต เช่น ในบริบทของการเมืองไทย มีการแสดงออกด้วยสัญลักษณ์เครื่องประหารกิโยติน หรือการคุกคามด้วยการแสดงเจตจำนงค์ถึงการปฏิวัติ ไม่ใช่การปฏิรูป หรือแม้แต่การคุกคามด้วยประโยคที่ว่า “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” เป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกาเคยเกิดคดีทางรัฐธรรมนูญที่มีการนำทฤษฎีว่าด้วย “การคุกคามอย่างแท้จริง” เข้ามาใช้ในการพิจารณา นั่นคือคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงสัญลักษณ์ คลู คลักซ์ แคลน

ในคดี VIRGINIA v. BLACK.39 โดยนาย Barry Black, นาย Richard Elliott และนายJonathan O’Mara ได้ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนียที่กำหนดห้าม “บุคคลใดกระทำการโดยเจตนาข่มขู่ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการเผาไม้กางเขนบนพื้นที่ของบุคคลอื่น ทางหลวง หรือที่สาธารณะอื่น บุคคลใดฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้มีความผิดอาญา (felony) และการเผาไม้กางเขนให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนาก่อให้เกิดความกลัวต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล”

โดยจำเลยต่อสู้ว่า กฎหมายดังกล่าวของรัฐเวอร์จิเนียขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต่อมาแม้ว่าศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาจะมีมติ 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่า การเผาไม้กางเขนนั้นถือเป็นสัญลักษณ์และเป็นการคุกคาม (threats) ชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐเวอร์จิเนียมีอิสระในการเลือกที่จะตรากฎหมายห้ามการแสดงออกในลักษณะข่มขู่ทั้งหมดได้ แต่บทบัญญัติในลักษณะนี้อาจขาดการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทำให้ประชาชนถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยง่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกแยะการแสดงออกทางความรู้สึก กับการแสดงออกที่มีเจตนาทำร้ายหรือข่มขู่ออกจากกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับว่า การที่จำเลยเผาไม้กางเขนนั้นเป็น “ภัยคุกคามอย่างแท้จริง” (true threats) โดยพิจารณาร่วมกับพฤติการณ์ของจำเลย ที่แสดงออกโดยมีเจตนากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะด้วยความรุนแรง

การพิจารณาดังกล่าวนำไปสู่การห้ามกระทำการในลักษณะคุกคาม เพื่อปกป้องปัจเจกชนให้พ้นจากความหวาดกลัวจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรง รวมถึงยับยั้งเหตุการณ์อันไม่น่าพึงประสงค์ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจากการคุกคาม

กล่าวโดยสรุป การฉ้อฉลในการวิจัย (Research fraud) ที่อาศัยเสรีภาพทางวิชาการเป็นเกราะกำบัง คือการเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก เป็นการใช้มุมมองของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียวในการตัดสินหรือชี้นำบทสรุป เพื่อหวังผลสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือเพื่อโหมกระพือความเกลียดชังต่อเป้าหมายให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง จนนำไปสู่การคุกคามต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และสมควรต้องห้ามโดยกฎหมาย

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในสังคมจะต้องคิด วิเคราะห์ รวมถึงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านในการศึกษางานวิชาการต่างๆ และจำเป็นที่จะต้องแยกแยะ “การฉ้อฉลในการวิจัย” (ซึ่งถือเป็นความตั้งใจของเจ้าของผลงาน) ออกจากความผิดพลาดในเชิงกระบวนการ เช่น การตีความเอกสารผิดพลาด หรือความผิดพลาดในการบันทึกหรือคัดกรอง เพราะหากไม่มีการแยกแยะในเรื่องดังกล่าว ก็เท่ากับว่าเราส่งเสริมให้เกิดความฉ้อฉลโดยอาศัย “เสรีภาพทางวิชาการ” เป็นเกราะกำบังนั่นเอง

ที่มา :

[1] DAVID L HUDSON JR, PERSONAL AND PUBLIC EXPRESSION, True Threats
[2] VIRGINIA v. BLACK., 538 U.S. 343 (2003)
[3] Dov Greenbaum, “Research fraud: methods for dealing with an issue that negatively impacts society’s view of seience”, The Columbia Science and Technology ส านักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,
[4] คู่มือมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558) Law Review
[5] Marcin Karcz, MD, Peter J. Papadakos, MD, “The Consequences of Fraud and Deceit in Medical Research,” Volume 47.1 Canadian Journal of Respiratory Therapy
[6] “Woo Suk Hwang,” Accessed January 17, 2017.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า