เสนีย์ ปราโมช รัฐบุรุษผู้ปกป้องเอกราชของประเทศไทยในสงครามโลก
การปกป้องประเทศของตนในระหว่างที่เกิดสงครามโลกนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาแล้ว แต่การปกป้องประเทศของตนหลังจากสงครามจบนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องเกี่ยวเนื่องด้วยประเด็นทางด้านการเมืองและข้อกฎหมายต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีประเด็นของความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจเข้ามาร่วมด้วยในการเจรจา/ต่อรอง/ทักท้วงในสถาะประเทศของตน
ประเทศไทยหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองได้จบลงก็ต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญ เพราะโดยทางการแล้ว ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. นั้นได้ประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม [1] แต่ในทางที่ไม่เป็นทางการเราก็จะทราบกันดีว่าขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการที่ดำเนินการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มแต่กลุ่มที่สำคัญๆ นั้นคือเสรีไทยของปรีดี พนมยงค์ และเสรีไทยของเสนีย์ ปราโมช
เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ที่ชนะในสงคราม และประเทศไทยก็มีสภาวะลูกผีลูกคนที่เปิดหน้าประกาศสงครามแต่หลังประตูนั้นก็ช่วยสัมพันธมิตร ปัจจัยนี้ได้เอื้อให้ใช้เป็นลูกล่อลูกชนลูกต่อรองให้กับไทยได้ไม่น้อยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ปัญหาที่ไทยจะต้องจัดการมีอยู่ว่า “ไทยจะกลายเป็นผู้แพ้สงครามหรือไม่?” เพราะถ้าหากแพ้สงคราม โดย “ธรรมเนียม” แล้ว ผู้แพ้สงครามจะต้องชดเชยค่าเสียหาย (แต่การจ่ายค่าเสียหายมากมีผลเสีย เพราะเยอรมนีภายใต้ฮิตเลอร์เกิดขึ้นได้หนึ่งในประเด็นนั้นก็เพราะเรื่องค่าปฏิกรรม) ประเด็นการเจรจากับมหาอำนาจกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาของไทยจึงเป็นปัญหาใหญ่หลังสงครามจบ ซึ่งจะตัดสินอนาคตของประเทศไปอีกยาวไกล
เสนีย์ ปราโมช และปรีดี พนมยงค์ ทั้งคู่จึงได้รับหน้าที่อันสำคัญนี้ในการเจรจา!
เริ่มต้นเจรจาครั้งที่ 1 ที่แคนดี [2]
อังกฤษได้เชิญไทยไปร่วมเจรจาครั้งแรกที่แคนดี รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะเจรจาไปทั้งสิ้น 8 คน ประกอบด้วย พล.ท. ศักดิ์ เสนาณรงค์, ร.อ.เฉลิมศักดิ์ จุฑาพงศ์, ทวี ตะเวทิกุล, พล.ร.ต.แซน ปัจจุสานนท์, พ.อ.สุรจิตร จารุเศรณี, เนตร เขมะโยธิน, น.ท.ทวี จุลละทรัพย์, และเข้ม เย็นยิ่ง เดินทางไปถึงเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488 ต่อมาในวันที่ 4 กันยายนอังกฤษได้ยื่นข้อเสนอ “สัญญา 21 ข้อ” ซึ่งมีข้อตกลงบางข้อที่น่างกังวล เช่น การให้ไทยยุบองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทหารลง ทำให้ผู้แทนไทยนั้นถึงกับกล่าวว่า “ไม่ผิดอะไรกับการยอมเป็นทาสไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง” แต่ข้อตกลงดังกล่าวนี้ท่านผู้สำเร็จราชการได้มอบอำนาจให้ลงนามโดยไม่ต้องแก้ไข และเป็นการลงนามถาวรตามข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่อังกฤษ
สาเหตุที่ปรีดียอมลงนามนั้นเพราะปรีดีมองว่าเป็นสัญญาที่ไม่รุนแรงสำหรับประเทศที่ทั้ง “ไม่ชนะและไม่แพ้สงคราม” และต้องการที่จะรับไว้เลยเพื่อป้องกันไม่ให้แย่ไปกว่านี้ แต่เมื่อเรื่องไปเข้าหูสหรัฐฯ เข้า ก็ได้เข้ามาประท้วงสัญญา 21 ข้อนี้ ทำให้อังกฤษเสนอข้อสัญญาชั่วคราว 4 ข้อเข้ามาเท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ไทยจะช่วยเหลือสัมพันธมิตรปลดอาวุธญี่ปุ่น แต่ยังไม่ได้ระบุเรื่องการยุติสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ การเจรจานั้นจึงยังไม่จบ และตอนนี้เสนีย์จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เจรจาที่แคนดีครั้งที่ 2 : ไม่เซ็น!
หลังจากที่เสนีย์กลับเข้ามาประเทศไทย ทูตอังกฤษถึงกับบันทึกว่า “น่าจะมีหนูมากัดกินชาวสยาม ไม่เพียงแต่พวกเขาพยายามจะปฏิเสธในการเจรจากับฝรั่งเศส…แต่พวกเขาพยายามขะลอการส่งตัวแทนเพื่อเจรจา…ทัศนะที่แข็งกร้าวขึ้นของชาวสยามนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เสนีย์ได้กลับมา” เสนีย์ชัดเจนอย่างมากในทีท่าการไม่ลงนามในสัญญาใดๆ ที่จะทำลายเอกราชของไทย ซึ่งต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ได้มีข้อเสนอใหม่เป็นสัญญา 51 ข้อ ซึ่งปรีดีได้แนะนำให้เซ็น แต่เสนีย์ก็ปฏิเสธเช่นกัน เสนีย์พยายามในการหลีกเลี่ยงการสูญเสียอย่างมากโดยใช้กลยุทธเตะถ่วงหลายประการ
สำหรับแนวทางของเสนีย์ในการเจรจานั้น เสนีย์ได้เสนอสองทางเลือกทางการทูต วิธีแรกคือ วิ่งเข้าหาสหรัฐฯ ให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซง และสอง การกระทำของอังกฤษเป็นเพียงการ “บลัฟ” เพราะอังกฤษได้พยายามให้รีบเซ็นไดยไม่ได้ให้โอกาสปรึกษาหารือ เสนีย์ได้กล่าวว่าหากจะบังคับให้เซ็นจะไม่มีวันยอม ถ้าจะให้เซ็นก็ให้ทหารบุกเข้าประเทศมาเลยและต้องนองเลือดกันเสียบ้าง แต่วิธีการสู้รบนั้นสุดโต่งเกินไป เสนีย์ได้กล่าวกับรัฐสภาแทนว่า ให้ผู้แทนไปก่อน ถ้าจะให้เซ็นก็ให้บอกไปว่าต้องถามมาที่รัฐสภา หากสภาไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ต้องออกไป คณะผู้แทนก็จะหมดอำนาจลง เสนีย์จึงต้องการประวิงเรื่องไว้ก่อนเพื่อหาวิธีในการต่อรองและหยั่งเชิงสหรัฐฯ ด้วยว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ เพราะอังกฤษนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสรีไทยเลย และหวังจะกอบโกยอย่างเต็มที่อย่างในประเด็นข้าว 1.5 ล้านตัน ที่แม้ว่าไทยจะเสนอให้สหประชาชาติจำนวน 2.4 แสนตันต่อปีจนครบ ทูตอังกฤษก็ไม่ยอม สาเหตุที่ไทยลดจำนวนข้าวลงเพราะกำลังการผลิตได้เพียงเท่านี้ ซึ่งแม้เพียงเท่านี้ก็คิดเป็นมูลค่าสามเท่าของงบประมาณการคลังไทยแล้ว การส่งออกข้าวนั้นจึงทำให้ไทยลำบากมาก
เสนีย์ได้ทดลองกลยุทธ์แทบจะที่มีทั้งหมดในสากลโลก และพยายามเตะถ่วงสัญญาซึ่งทำให้ผู้แทนจากอังกฤษตอบโต้ด้วยการระงับการเจรจา เพื่อที่จะให้การยุติสงครามเดินต่อไปได้ เสนีย์จึงให้สภาพิจารณาข้อตกลง 51 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องการมอบข้าว 1.5 ล้านตัน ซึ่งสัญญานี้จะผูกมัดไทยเป็นระยะเวลานาน สภาจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด โดยสภายอมว่าการมอบข้าวให้ 1.5 ล้านตันน่าจะนำไปใช้ต่อรองข้ออื่นๆ กับอังกฤษได้ กล่าวคือยอมประเด็นการมอบข้าวให้ 1.5 ล้านตัน ไปก่อน และได้แก้ไขข้อสัญญาที่จะละเมิดอธิปไตยออก เช่น ข้อที่อังกฤษจะควบคุมกองทัพไทยผ่านรูปแบบที่ปรึกษาทางการทหาร แต่ไทยโชคดีที่ทูตอังกฤษตัวแทนเจรจานั้นเกิดติดธุระอย่างเร่งด่วนทำให้ยังไม่มีการลงนาม การลงนามจึงชะลอไปอีกครั้ง
เจรจาที่แคนดีครั้งที่ 3 : อธิปไตยบนขอบเหว
ในการเจรจาครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ เสนีย์ได้ตั้งให้ปรีดีเป็นรัฐบุรุษอาวุโสเพื่อให้มีตำแหน่งมาช่วยทำงานในการเจรจาเพราะทูตอังกฤษเคยตั้งข้อสังเกตว่า สถานะของปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการอาจใช้อำนาจไปไกลกว่าที่มีอยู่
หลังจากตัวแทนเจรจาของอังกฤษได้รับเอกสารจากไทยแล้ว ก็ไม่แก้ข้อตกลงส่วนไหนแต่อย่างใด ทำให้ตัวแทนไทยในขณะนั้นต้องกลับไปขอการอนุมัติเพื่อลงนาม เสนีย์ได้จัดประชุมเพื่อหารือทันที ซึ่งสภาเสียงส่วนใหญ่นั้นระบุให้เซ็นก่อนที่อะไรจะหนักไปมากกว่านี้ มีเพียงเสนีย์และพระยาอรรถการีย์นิพนธ์เท่านั้นที่ไม่เซ็น ซึ่งมีผู้ประชุมถึงกับอ้างกรณีเมื่อ ร.ศ. 112 ว่า การยอมทำให้อยู่รอดมาได้
ในข้อสัญญานั้นมีประเด็นที่คลุมเครืออย่างกรณีที่ทหารของสัมพันธมิตรจะเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนบางส่วนของไทยโดยที่รัฐบาลจะพึงปฏิบัติตามคำร้องขอทำให้เกิดการถกเถียงกันในสภาว่าหมายความว่าอย่างไร ต้องตกลงกันแค่ไหนอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาหลายข้อที่คลุมเครือนั้นปรีดีเสนอให้ลงนามไปก่อนโดยบอกว่าอังกฤษ “อาจจะข่มหมู” เท่านั้น มติส่วนใหญ่นั้นให้เซ็น เสนีย์จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับมตินั้น
แต่ก่อนที่จะเซ็น สื่อต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้กระพือข่าวว่าอังกฤษกดขี่ประเทศไทย เพราะเสนีย์ได้ส่งข่าวไปยังนักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่ง และได้รายงานข่าวไปยังทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันด้วย แต่กลยุทธนี้เสนีย์ทำก่อนที่สภาจะได้ลงมติแล้ว เมื่อสหรัฐฯ ได้ทราบแล้วก็ได้เจรจาหลังบ้านกับอังกฤษ เพราะสหรัฐฯ จะไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของการยึดครองแบบจักรวรรดินิยม ทำให้อังกฤษได้ยอมลดเงื่อนไขในที่สุด โดยเงื่อนไขที่หายไปนั้นคือ ไทยจะส่งมอบข้าว 2.4 แสนตันต่อเดือนให้แทน 1.5 ล้านตัน, ตัดคำกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทหารออกซึ่งอาจนำไปสู่การครอบครองไทยได้ และสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ประเทศที่เสียหายสามารถเรียกร้องข้าวจากไทยหรือค่าเสียหายจากไทยได้ทั้งหมด เพราะไม่อย่างนั้นสมาชิกของสหประชาชาติก็จะเรียกร้องจากประเทศคู่สงครามได้อย่างพร่ำเพรื่อ แม้จะมีเรื่องปัญหาในเชิงการส่งเอกสารบ้าง แต่ในที่สุดไทยก็ไม่ต้องเซ็น แม้กระทั่งปรีดีที่ให้เซ็นไป่ก่อนก็ยังกล่าวว่า “นี่ขอขอบใจอเมริกาอย่างที่สุด ไม่รู้จะหาทางใดขอบใจ”
ตัวตนของเสนีย์นั้นสำคัญยิ่งในเรื่องนี้ เพราะเสนีย์นั้นดื้อแพ่งในการเจรจาจนเวลาผ่านไปนับเดือนจนทำให้ไทยสามารถรอดพ้นจากการผูดมัดโยอังกฤษได้ เสนีย์ได้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ว่า “ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ข้าพเจ้าเปรียบเสมือนคนไร้ความหมาย ซึ่งไร้จุดหมายที่จะมองออกไปข้างหน้า แต่ทว่า ‘พระสยามเทวาธิราช’ ในพระบรมมหาราชวังสร้างปาฏิหาริย์สำหรับข้าพเจ้า ประเทศเราได้รับสนธิสัญญาที่ปลอดภัยและมีเกียรติ อีกทั้งกองกำลังต่างชาติยังออกจากประเทศภายในหนึ่งปีเช่นกัน”
ถึงแม้ว่าเสนีย์ ปราโมช จะยกให้ความสำเร็จนั้นเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการให้ปรีดี พนมยงค์ นั่งเป็นรัฐบุรุษเองก็ตาม แต่ท่านเองคงไม่คิดว่าด้วยอุปนิสัยและการทำงานของตัวเองนั้นก็ทำให้ไทยรอดพ้นมาได้ไม่น้อยเช่นกัน และหากพูดกันแล้ว เสนีย์ ปราโมช เองก็อาจจะเป็นรัฐบุรุษในทางพฤตินัยด้วยอีกคนหนึ่ง
อ้างอิง :
[1] มีผู้วิเคราะห์เรื่องการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นของจอมพล ป. ไว้มากมาย บ้างก็ว่าจำยอมหรือเป็นความต้องการของจอมพล ป. ในเชิงอุดมการณ์ก็มี ดูงานที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในวงวิชาการต่างประเทศ คือ Kobkua Suwannathat-Pian, Thailand’s durable premier: Phibun through three decades 1932-1957 (Kuala Lumpur Oxford: Oxford University Press, 1995).
[2] เนื้อหาสำคัญต่อจากนี้จะสรุปจาก พีระ เจริญวัฒนนุกูล, ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง: ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2566).