‘เร้ดการ์ด’ จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องอำนาจที่เสื่อมถอยของ ‘เหมา เจ๋อ ตง’

เหมา เจ๋อตง ได้ใช้โอกาสจากเหตุการณ์ในการรณรงค์ร้อยบุปผา (The Hundred Flowers Campaign) ที่ทางการอนุญาตให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ แต่การวิจารณ์นั้นเกินขอบเขตและกระทบกระเทือนพรรคคอมมิวนิสต์ จึงต้องยกเลิกการวิจารณ์และลงโทษผู้ที่วิจารณ์ ซึ่งเหมา เจ๋อตง ได้ใช้วิกฤตดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตนเอง โดยการกำจัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของจีนเกิดขึ้นเมื่อ เกา กัง (Gao Gang) และเหยา ซูซื่อ (Rao Shushi) ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดในการจัดตั้งรัฐปกครองอิสระแมนจูเรียและกล่าวหมิ่นประมาทบุคคลสำคัญในพรรคซึ่งก็คือ หลิว เส้าฉี (Liu Shaoqi)

อย่างไรก็ตามการที่ทั้งสองถูกกล่าวหาก็ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือในประวัติศาสตร์การเมืองของจีน นอกจากนี้ เผิง เต๋อหวาย (Peng Dehuai) ผู้เขียนวิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดที่อยู่ในช่วง ปี ค.ศ. 1958-1960 ก็ทำให้ เหมา เจ๋อตง ไม่พอใจและทำการกำจัดเขาออกด้วยการกล่าวหาว่า เผิง เต๋อหวาย วางแผนต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์และจะโค่นล้มระบอบการปกครอง จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคนเป็นความขัดแย้งเรื่องแนวคิดการพัฒนาประเทศไม่ใช่ความขัดแย้งจากการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ซึ่งจุดนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเหมา เจ๋อตง ไม่ยอมรับคำวิจารณ์หรือความเห็นที่เห็นต่างจากตน

ดังนั้น จึงมีผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์หลายรายที่เป็นเหยื่อจากความต้องการที่จะรักษาอำนาจของ เหมา เจ๋อตง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของเขาก็ได้สร้างความสั่นคลอนให้เขาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ หลิว เส้าฉี และ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของนโยบายก้าวกระโดด ซึ่ง เหมา เจ๋อตง คิดว่าทั้ง หลิว เส้าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง กำลังนำระบบทุนนิยมกลับเข้ามาและใช้ลัทธิแก้ (Revisionism) ในขณะเดียวกันนั้น เหมา เจ๋อตง ก็ถูกปัญญาชนเขียนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเขาโดยการแสดงออกทางอ้อมผ่านบทความ บทละครและเรื่องสั้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำความผิดพลาดและความไม่เหมาะสมในการปกครองประเทศจีนของ เหมา เจ๋อตง ความขัดแย้งระหว่างผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาอำนาจผลประโยชน์หรือนโยบายการพัฒนาประเทศต่าง ๆ และการที่ เหมา เจ๋อตง ถูกวิจารณ์จากกลุ่มปัญญาชนและผู้นำพรรคต่าง ๆ ได้นำไปสู่การปฏิวัติวัฒนธรรม

ในด้านของการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Great Proletarian Cultural Revolution) นั้น เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1966-1976 หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นนโยบายของ เหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการที่เขาได้สูญเสียเสถียรภาพและอำนาจในการปกครองในพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาต้องการกำจัดคู่แข่งของตนเองโดยใช้ข้ออ้างว่าคนเหล่านี้ยังมีความคิดแบบวัฒนธรรมเก่า ๆ ซึ่งนโยบายการปฏิวัติวัฒนธรรมเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ เหมา เจ๋อตง ใช้ในการรักษาอำนาจของตนเองด้วยการปลุกระดมชนชั้นกรรมาชีพโดยเฉพาะกลุ่มคน หนุ่มสาวให้มีการจัดระเบียบสังคมใหม่ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ขบวนการพิทักษ์แดง” (Red Guards) เพื่อทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนซึ่งเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “สี่เก่า” (Four Olds) หมายถึง นิสัยเก่า ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า และประเพณีเก่า นอกจากนี้แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่น ได้แก่ เจียงชิง (Jiang Qing) ภรรยาของเหมา เจ๋อตง เหยาเหวินหยวน (Yao Wenyuan) จางชุนเฉียว (Zhang Chunzhao) และหวังหงเหวิน (Wang Hongwen) ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน โดยมีการเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “แก๊งสี่คน” (Gang of Four) ในการปฏิวัติครั้งนี้มีสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้การทำลายสี่เก่าแพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นด้วยการโฆษณาด้วยสื่อสิ่งพิมพ์และเพลงปลุกใจของรัฐ โดยสิ่งพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญคือ หนังสือปกแดง ที่มีการรวบรวมคติพจน์ ข้อคิดเห็นของ เหมา เจ๋อตงในวาระต่าง ๆ อาทิ ทฤษฎีการเมือง ปรัชญา แนวทางมวลชน การวิจารณ์ตนเอง เยาวชน ศิลปะวัฒนธรรม และการศึกษา เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าจากการดำเนินนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นจุดกำเนิดของลัทธิเหมา (Maoism)ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ขบวนการพิทักษ์แดงได้นำเอาคำพูดของ เหมา เจ๋อ ตง มาแต่งเป็นเพลงเพื่อขับร้องเมื่อฉลองชัยชนะจากการกวาดล้าง โดยเพลงต่าง ๆ ที่นำมาร้องจะมีเนื้อหาที่ยกย่องคติพจน์และคำขวัญของท่านประธานเหมา

กล่าวโดยละเอียดด้วยว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่การปฏิวัติวัฒนธรรมสามารถแบ่งออกเป็น 6 แบบ ได้แก่

  1. แผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ พร้อมคำขวัญว่า “ขอสาบานว่าจะคุ้มครอง เหมา เจ๋อ ตง จนตัวตาย”
  2. แผ่นโปสเตอร์ขนาดกลาง (เท่าหนังสือพิมพ์) พร้อมตัวอักษรขนาดใหญ่ที่มีการเขียนข่าวต่าง ๆ
  3. สมุดเล่มเล็ก สำหรับแจกจ่ายขบวนการพิทักษ์แดงและประชาชนทั่วไป
  4. ป้ายโฆษณาตามโรงมหรสพ ที่มีการโฆษณาคำขวัญของ เหมา เจ๋อตง
  5. ใบปลิว ที่มุ่งโปรยในที่ที่มีฝูงชน
  6. ภาพล้อเลียน

ส่วนหนังสือปกแดง นั้น เป็นหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากคัมภีร์ไบเบิล โดยมีการตีพิมพ์มากกว่า 300 ล้านเล่มเพื่อแจกจ่ายแก่กลุ่มเยาวชนขบวนการพิทักษ์แดงและประชาชนทั่วไป

ผลกระทบของการปฏิวัติวัฒนธรรมส่งผลให้ประชาชนภายในประเทศได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมฯ ของขบวนการพิทักษ์แดงภายใต้การสนับสนุนของ เหมา เจ๋อตง ได้กระทำการด้วยความรุนแรง ซึ่งการปราบปรามมีทั้งการทารุณกรรม การทรมาน การกล่าวประณาม การวิพากษ์วิจารณ์และการประหารชีวิต หากใครไม่แสดงความเคารพเชื่อฟัง เหมา เจ๋อตง หรือหากใครคิดเป็นปฏิปักษ์กับ เหมา เจ๋อตง ก็จะถูกกำจัดทิ้ง รวมไปถึงศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมก็ได้ถูกทำลายโดยเยาวชนรุ่นใหม่ของจีนที่เป็นขบวนการพิทักษ์แดง โดยเฉพาะ สถาบันศาสนา อาทิ การตัดเศียรพระพุทธรูป การเผาตำราขงจื้อ และการทำลายป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นต้น เนื่องจากวัตถุหรือสิ่งใดก็ตามที่แสดงถึงวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมเก่าแก่ของประเทศจะต้องถูกทำลาย ในส่วนของผลกระทบทางสถาบันครอบครัวนั้น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ออกนโยบายการปฏิรูปวัฒนธรรมและบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเหมา เจ๋อตง ทำให้ชาวจีนภายในประเทศได้เปลี่ยนแปลงและยกเลิกวัฒนธรรมเดิมหลายประการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมการเมืองการปกครองแบบใหม่ อาทิ การแต่งงาน การมีบุตร เป็นต้น อีกทั้ง การปฏิวัติวัฒนธรรมยังได้ส่งผลกระทบต่อระบบครอบครัว เพื่อนบ้าน ละแวกชุมชน เนื่องจากผู้คนต่างก็หวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะเป็นสายลับให้กับทางรัฐบาลและแจ้งความผิดเกี่ยวกับการละเมิดการปฏิวัติวัฒนธรรมให้ทางการทราบ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เหมา เจ๋อตง ประสบความสำเร็จในการพยายามเผยแพร่ลัทธิเหมาผ่านการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเอง โดยพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรเคารพและศรัทธาเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งทำให้สังคมจีนแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่นิยมลัทธิเหมาและฝ่ายที่ไม่นิยมลัทธิเหมานั่นเอง

ที่มา :

[1] ศิริพร ดาบเพชร, “การแย่งชิงอ านาจในกลุ่มผู้น าพรรคคอมมิวนิสต์จีน,” วารสารประวัติศาสตร์, (2545): 76-81
[2] ลัทธิแก้ (Revisionism) เป็นลัทธิของ เอดวร์ด เบิร์นชไตน์ (Eduard Bernstein) ที่มีความคิดที่ต้องการจะแก้ไขแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมของมาร์กซิสต์ โดยเขาต้องการที่จะเสนอทางปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติหรือ สังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการบิดเบือนหรือแก้คำสอนของมาร์กซิสต์และเลนิน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า