เมื่อ ‘ยกฟ้อง’ ก็เจอ ‘ฟ้องกลับ’ ตัวอย่างคดี 112 ที่ใครจะมา ‘กลั่นแกล้ง’ กันไม่ได้!
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่กลุ่มผู้เรียกร้องยกเลิก ม.112 เอามาพูดถึงกันตลอดคือ ม.112 เป็นกฎหมายที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันได้ เช่นถ้าใครต้องการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามที่เขาแสดงความเห็นเรื่องสถาบันฯ ก็ไปแจ้งความดำเนินคดี ม.112 ให้เขาติดคุกติดตารางไปเลย
ถามว่าในความเป็นจริงมันทำได้ง่ายๆ แบบนั้นหรือ ? คำตอบคือ “ไม่ใช่”
เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นกันแล้วว่ามีคำพิพากษาให้ “ยกฟ้อง” ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ทยอยออกมาให้เห็นกันเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีในช่วงที่มีความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา โดยเหตุผลที่ศาลพิจารณายกฟ้องคือ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือ หลักฐานของฝ่ายผู้ที่แจ้งความไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
ซึ่งกรณีการยกฟ้องผู้ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ม.112 เอามาใช้กลั่นแกล้งกันไม่ได้
และเร็วๆ นี้ก็มีตัวอย่างสำคัญที่ผู้ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหา ม.112 “ฟ้องกลับ” ผู้กล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทพร้อมเรียกค่าเสียหายหลายล้านบาท และศาลก็ได้พิพากษาว่าผู้กล่าวหามีความผิดจริง ซึ่งคดีนี้ก็ยิ่งเป็นคำตอบย้ำชัดว่ากฎหมายไม่ใช่เครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน ใครที่คิดจะแจ้งความ ม.112 โดยไม่มีหลักฐานครบถ้วนชัดเจน หรือแจ้งความกันแบบมั่วๆ ก็อาจโดนฟ้องกลับได้
จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ การที่มีคนละเมิดกฎหมายแล้วโดนดำเนินคดี แต่กลับออกมาอ้างว่าถูกคนอื่นใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง และโยนความผิดไปว่ากฎหมายมีปัญหา แล้วออกมาเรียกร้องยกเลิกกฎหมายที่ตนเองไม่เห็นด้วย จึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น
ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ฝั่งฝ่ายใด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในอีกทางหนึ่งก็ย่อมมีสิทธิเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ดังนั้น การที่มีคนทำผิดแล้วออกมาอ้างว่าโดนกลั่นแกล้งหรือโทษว่ากฎหมายมีปัญหา จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมาย “ทุกฉบับ” ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ใครใช้กลั่นแกล้งใคร แต่มีไว้เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข
กรณีการยกฟ้องผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 และการฟ้องกลับผู้กล่าวหา ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีสำคัญ มีอะไรบ้าง ? ติดตามกันได้ในคลิปวิดีโอนี้