เมื่อสมศักดิ์ เจียมฯ เล่าไม่หมด ‘รัชกาลที่ 8 พระราชทานหีบบุหรี่ให้นายเฉลียว’ หลังพ้นตำแหน่ง
พระพิจิตรราชสาส์น ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ ให้การว่าภายหลังวันสวรรคตแล้วประมาณ 7 วัน มีโทรศัพท์มาบอกว่าให้พยานไปที่ทำเนียบนายปรีดีฯ เดี๋ยวนี้ พยานก็ไปพบนายปรีดีฯ จากนั้นนายปรีดีฯ ถามว่า “เฉลียวฯ เข้าเฝ้าในหลวงครั้งสุดท้ายเมื่อไร” พยานก็บอกว่า “วันพระราชทานหีบบุหรี่”
แล้วนายปรีดีฯ ก็สั่งให้พยานเขียนบันทึกรายงานเรื่องพระราชทานหีบบุหรี่ให้นายเฉลียวฯ พยานเขียนเสร็จแล้วนายปรีดีฯ ก็เอาไปอ่าน แล้วนายปรีดีฯ ก็สั่งว่าให้เขียนรับรองรายงานนี้ว่า“เป็นคำให้การของพยาน (พระพิจิตรราชสาส์น) ต่อตำรวจ”
บันทึกนี้ คือเอกสารหมายเลข 140 ในคดีนี้ ในขณะนั้นพยานเห็นพระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจอยู่ที่ทำเนียบด้วย และนายเฉลียวฯ ก็อยู่ในห้องนั้นด้วย เมื่อพยานเซ็นชื่อแล้วก็ส่งให้นายปรีดีฯ แล้วนายปรีดีฯ ก็ส่งให้นายเฉลียวฯ
ความข้อนี้ โจทก์ขอประทานกราบเรียนว่า มีเอกสารดังกล่าวเป็นหลักความจริง และนายเฉลียวฯ ก็มิได้ให้การ หรือสืบพยานหักล้างความข้อนี้เป็นประการอื่น
ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่โจทก์ซักค้านนายเฉลียวฯ ซึ่งให้การเป็นพยานตนเอง โจทก์ได้ส่งบันทึกเรื่องพระราชทานหีบบุหรี่ ซึ่งนายเฉลียวฯ ได้เขียนขึ้นด้วยลายมือตนเองและขอมอบไว้แก่กรมตำรวจ ซึ่งนายเฉลียวฯ ก็ได้ให้การรับว่าเป็นบันทึกซึ่งนายเฉลียวฯ ได้เขียน
เพราะฉะนั้น ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นอันฟังเป็นยุติได้ว่า นายปรีดีฯ ได้จัดการทำบันทึกนี้ขึ้นเกี่ยวพันข้อเท็จจริง อันเป็นความจริงข้อหนึ่งในคดีมอบให้แก่ตำรวจ ซึ่งหลักฐานนี้แสดงว่านายเฉลียวฯ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของในหลวง อันเป็นข้อพิสูจน์หักล้างว่านายเฉลียวฯ มิได้มีสาเหตุกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งสวรรคต
ปัญหาจึงมีว่า เพราะเหตุใดนายปรีดีฯ จึงต้องทำหลักฐานเช่นนี้ ถ้านายเฉลียวฯ มิได้มีเหตุเกี่ยวข้องพัวพันกับกรณีสวรรคต เหตุใดจึงจะต้องสร้างพฤติการณ์ภายหลังเหตุไว้เช่นนี้ ในข้อนี้นายเฉลียวฯ ก็มิได้ให้การเป็นพยานตนเองอธิบายเหตุแต่ประการใด
โจทก์ขอประทานเรียนว่า พฤติการณ์ภายหลังเหตุข้อนี้ เป็นหลักฐานพยานอันสำคัญที่สนับสนุนทำให้เชื่อมั่นว่า นายเฉลียวฯ ได้ร่วมรู้ในการประทุษร้ายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
อีกอย่างหนึ่ง เรื่องพระราชทานหีบบุหรี่ ซึ่งได้มีการเรียกพระพิจิตรราชสาส์นมาให้ทำบันทึก ความข้อนี้ทนายจำเลยกล่าวว่าเป็นการที่นายกรัฐมนตรีเรียกพระพิจิตรราชสาส์นมาสอบสวน
ผม (อัยการโจทก์) ก็งงอีก เพราะไม่ทราบว่าตามกฎหมายไหน ที่นายกรัฐมนตรีทำการสอบสวนคดีได้ การสอบสวนก็ทำโดยพนักงานสอบสวน และเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อจะสอบสวนอะไรก็ควรส่งพนักงานสอบสวน
ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้มีตำแหน่งสูงสุดในการบริหารก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีจะมาสอบสวนได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การที่เรียกพระพิจิตรราชสาส์นมา อ้างว่าเป็นการสอบสวนอย่างทนายจำเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้
ส่วนอีกข้อหนึ่ง ที่ว่าต้องถูกปลดออกจากราชการ เพราะปฏิบัติตนไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยนั้น นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานแก้ว่า
เป็นเรื่องสมัครใจจะออกเอง เพราะมีอาการป่วยเกิดขึ้น ชั้นแรกก็จะกราบถวายบังคมลาออกเพราะป่วย คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้ปลดออกจากราชการ ฐานหย่อนความสามารถเพราะป่วย สรุปแล้ว ไม่ใช่การออกจากราชการเพราะไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังที่โจทก์นำสืบ
แล้วยังได้อ้างว่าเมื่อออกจากราชการแล้ว ได้รับพระราชทานหีบบุหรี่เงิน ซึ่งมีอักษรจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อ อ.ป.ร. และจารึกข้อความว่า
“พระราชทานนายเฉลียว ปทุมรส ที่ได้ปฏิบัติราชการในหน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์มาด้วยความเรียบร้อย พ.ศ.2489”
ศาลไตร่ตรองถึงความข้อนี้แล้ว เชื่อว่าการที่นายเฉลียวฯ จำเลยที่ 1 ครองตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์อยู่นั้น ถ้าไม่มีอะไรบีบบังคับก็คงไม่สมัครใจที่จะพ้นตำแหน่งออกมา เพราะนายเฉลียวฯ ก็รับรู้อยู่ว่า ราชเลขานุการในพระองค์เป็นตำแหน่งสูงและมีเกียรติมาก รู้สึกภาคภูมิใจอยู่เหมือนกัน
และนอกจากเงินเดือนประจำตำแหน่งแล้ว ยังมีรายได้จากการเป็นกรรมการในองค์การและบริษัทอื่นๆ อีกไม่น้อย อันเป็นที่เห็นอยู่ว่ามากทั้งเกียรติยศและรายได้ ไม่มีอะไรจะเดือดร้อนแล้ว
การที่นายเฉลียวฯ อ้างถึงความป่วยที่เป็นเบื้องต้น ก็ไม่ใช่ป่วยถึงแก่จะทำให้เสียงานเสียการ เห็นได้ชัดคือ พ้นจากตำแหน่งราชเลขานุการออกมาแล้ว ก็เข้าครองตำแหน่งสมาชิกพฤตสภาเกือบทันที กรรมการในองค์การหรือบริษัทใดที่เคยดำรงอยู่ก็คงดำรงต่อมาได้ ส่วนที่อ้างต่อไปว่าประสงค์จะเล่นการเมือง โดยติดจะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรนั้น เวลาที่มาถึงยังห่างไกลกันนัก ฟังไม่เห็นสมเช่นเดียวกัน
อะไรเล่าที่บีบบังคับให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่อันมาทั้งเกียรติและรายได้ออกมา ก็เห็นสมไปข้างว่า เพราะปฎิบัติตนไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย และไม่โปรดที่จะให้ครองตำแหน่งอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทสืบไป
อันการที่ได้รับพระราชทานหีบบุหรี่เงินดังกล่าวนั้น ความก็ปรากฎตามคำเบิกความของพระพิจิตรราชสาส์น ว่า นายเฉลียวฯ ใคร่จะได้รับพระราชทาน ได้ไปติดต่อกับพระพิจิตรราชสาส์น ขอให้จัดการให้ได้รับพระราชทานดังที่เคยปฏิบัติมาสำหรับราชเลขานุการในพระองค์คนก่อนๆ ที่ได้พ้นตำแหน่งไป
พระพิจิตรราชสาส์นจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ชั้นแรงทรงอึ้งอยู่ พระพิจิตรราชสาส์นจึงกราบบังคมทูลต่อไปว่า ไหนๆ เขาก็ออกไปแล้ว พระราชทานไปเสียดีกว่า เขาจะได้ไม่นินทาภายหลัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทาน
ดังนี้ ข้อความที่จารึกไว้ในหีบบุหรี่พระราชทาน จึงเท่ากับโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นโดยเสียมิได้ต่างหาก และถึงอย่างไร ก็เป็นเพียงพระมหากรุณาที่ทรงแสดงออกภายนอกส่วนน้อยหนึ่งเท่านั้น ไม่พอยึดถือมาเป็นข้อลบล้างเหตุผลอย่างอื่นที่ยังแสดงอยู่มากหลายว่า ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะให้ทรงครองตำแหน่งอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาท ดังจะเห็นได้จากคำพยานโจทก์ที่เบิกความเป็นทำนองนั้นมากมายหลายปาก
ประเด็นเรื่องหีบบุหรี่ ที่ในหลวงอานันท์ฯ พระราชทานแก่นายเฉลียวฯ นั้น ก็เนื่องมาจากนายเฉลียวฯ มีความประสงค์อยากได้เอง ในหลวงอานันท์ฯ ไม่ได้ทรงคิดจะพระราชทานตั้งแต่แรก แต่ด้วยเหตุผลในด้านธรรมเนียมของราชเลขานุการคนก่อนๆ ที่ได้รับสืบกันมา หากไม่พระราชทาน ก็จะดูเป็นการไม่เหมาะ ดังคำกราบบังคมทูลแนะนำของพระพิจิตรราชสาส์น
นายปรีดีฯ สร้างหลักฐานขึ้นมาหลังในหลวงอานันท์ฯ สวรรคต โดยให้พระพิจิตรราชสาส์นทำรายงานขึ้นมาและให้เจ้าตัวรับรองรายงานนั้น ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี
แต่ถึงอย่างไร “ในประเด็นนี้” ศาลอาญาก็ไม่ได้เชื่อว่า การที่นายเฉลียวฯ ได้รับพระราชทานหีบบุหรี่นั้น จะเป็นข้อบ่งชี้ว่านายเฉลียวฯ จงรักภักดีและไม่มีความขัดแย้งกับในหลวงอานันท์ฯ แต่ทั้งนี้ ในศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้วินิจฉัยว่าคดียังไม่มีหลักฐานให้พอฟังได้ว่านายเฉลียวฯ มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวพันกับกรณีสวรรคต
เรื่องหีบบุหรี่นี้ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยนำเสนอเพียงแค่ครึ่งเดียวว่า นายเฉลียวฯ จงรักภักดี จึงได้รับพระราชทานหีบบุหรี่ หลังพ้นจากตำแหน่ง แต่กลับไม่พูดให้ครบถ้วนว่า ได้รับพระราชทานเพราะเหตุใด
ที่มา :
[1] คำแถลงปิดคดีอัยการโจทก์ วันที่ 4 มิถุนายน 2494
[2] คำแถลงติงของพนักงานอัยการโจทก์ ในคดีลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ์ ณ ห้องพิจารณา 24 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2494
[3] คำพิพากษาศาลอาญา วันที่ 27 กันยายน 2494 เลขแดงที่ 1266/2494