เมื่อราชอาณาจักรพม่าล่มสลาย เพราะความเกรียงไกรเกินตัว และนโยบายการทูตที่ล้มเหลว
สงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1 ถือได้ว่า เป็นสงครามที่สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นการส่งสัญญาณถึงสงครามสมัยใหม่ที่ได้เริ่มมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งการใช้กลยุทธ์การปิดล้อมทางทะเลผ่านกองเรือรบที่มีพลังทำลายล้างสูง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทางการทหาร ได้ทำให้ราชอาณาจักรคองบอง (พม่า) ที่เคยเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ได้สูญเสียเกียรติภูมิครั้งใหญ่จากการพ่ายแพ้อังกฤษในสงครามครั้งนี้
เพราะสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1 มีเดิมพันอยู่ที่การแก่งแย่งเขตอิทธิพลในแถบทะเลเบงกอลและการประกาศศักดาความเป็นมหาอำนาจทางการทหารในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และราชอาณาจักรคองบองเองก็อยู่ในจังหวะที่กำลังแพร่ขยายอิทธิพลเขตแดนอย่างรวดเร็ว และเคยสามารถต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ของกองทัพราชวงศ์ชิงของจักรวรรดิจีนในช่วงก่อนหน้านี้ จึงยิ่งทำให้ราชอาณาจักรคองบองมีความพยายามที่จะแพร่ขยายอิทธิพลในแถบทะเลเบงกอลและพื้นที่อื่น ๆ รอบราชอาณาจักร
ซึ่งจุดเริ่มต้นของสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1 ได้เกิดจากที่ราชอาณาจักรคองบองได้เกิดข้อพิพาทชายแดนรุนแรงกับทางบริติชราช หรือบริติชอินเดีย ในแถบพื้นที่มณีปุระและอัสสัม รวมทั้งในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของบริติชอินเดียโดยตรง จากการรุกรานของราชอาณาจักรคองบองในพื้นที่ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่และได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสมดุลอำนาจของราชอาณาจักรคองบองเอง
โดยผลกระทบของอาณาจักรคองบอง คือ การเผชิญหน้ากับกองทัพบริษัทอินเดียตะวันออกภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอังกฤษที่เป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในขณะนั้น ในอีกทางหนึ่ง ผลกระทบของอังกฤษเองก็คือ การเผชิญหน้ากับกองทัพคองบองที่มีประสบการณ์การรบ มีการวางแผนการรบที่จะโจมตีบริติชอินเดีย และความคุ้นเคยในสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ผลพวงของสงครามครั้งนี้ยังทำให้ราชอาณาจักรคองบองที่ครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจทางการเมืองและการทหารได้ถดถอยลงอย่างรวดเร็วจนมีชะตากรรมที่สิ้นสลายด้วยน้ำมือของอังกฤษในห้วงเวลาต่อมา
ผลตรงนี้จึงทำให้สงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1 กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่สำหรับทั้งบริติชอินเดียและราชอาณาจักรคองบอง พร้อมกับเป็นสงครามที่สร้างสูญเสียให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นอันมากทั้งในช่วงระหว่างสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1 และช่วงเวลาหลังจากนั้น
เริ่มจากฝ่ายบริติชอินเดียภายใต้การสนับสนุนของจักรวรรดิอังกฤษซึ่งถูกฝ่ายราชอาณาจักรคองบองแผ่อิทธิพลในแถบชายแดนก่อนและได้ทำการตอบโต้ช่วงเริ่มแรกด้วยการประกาศให้พื้นที่พิพาทระหว่างพรมแดนบริติชอินเดียและราชอาณาจักรคองบองเป็นเขตในความคุ้มครองของอังกฤษ ซึ่งราชอาณาจักรคองบองได้ตอบสนองด้วยการรุกรานและขยายอิทธิพลในเขตพรมแดนจนเผชิญหน้ากับอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เมื่อราชอาณาจักรคองบองได้ทำการรุกรานเกาะกลางแม่น้ำในแถบพื้นที่จิตตระกองที่ถูกทวงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโดยอังกฤษเช่นกัน
ประกอบความตึงเครียดในแถบพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ ปะทุขึ้นหลายจุด จึงได้บานปลายเป็นสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1 โดยในช่วงแรกฝ่ายราชอาณาจักรคองบอง (พม่า) ได้เข้าไปรุกรานพื้นที่บริติชอินเดีย ด้วยความพยายามที่จะขยายเขตอิทธิพลในแถบทะเลเบงกอลตะวันออกรวมทั้งพื้นที่เขตปกครองของบริติชอินเดียฝั่งตะวันออก และที่จริงแล้วได้เอาชนะอังกฤษหลายครั้งเสียด้วยซ้ำในแถบพื้นที่คอกส์บาร์ซาร์ใกล้กับจิตตะกอง เมืองสำคัญของบริติชอินเดีย และโกลกาตา เมืองหลวงของบริติชเดิมในช่วงเวลานั้น ซึ่งได้สร้างความสะพรึงกลัวให้กับอังกฤษมากในช่วงแรกที่พ่ายแพ้ในรามู แถบพื้นที่คอกส์บาร์ซาร์
ยิ่งกว่านั้นอังกฤษยังต้องเผชิญกับการกบฎในหมู่ทหารอินเดียบางส่วนและความไม่คุ้นชินในสภาพแวดล้อมการรบที่มักเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นซึ่งทำให้ทหารอังกฤษและอินเดียเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคภัยไข้เจ็บในพื้นที่ป่า ซึ่งหากมองตรงนี้ก็จะพบว่า เป็นโอกาสสำคัญที่กองทัพคองบองจะเข้าไปพิชิตเมืองสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่แถบเบงกอลรวมทั้งเมืองหลวงของบริติชอินเดีย ตามที่อังกฤษได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าและได้เตรียมความพร้อมที่จะตั้งรับการบุกของคองบองไว้ในระดับหนึ่งแล้ว
แต่ในระหว่างการรบในพื้นที่เบงกอลตะวันออกที่อังกฤษได้เสียเปรียบเป็นอย่างมากนั้น อังกฤษได้ส่งกองเรือและทหารเป็นจำนวนมากในการบุกย่างกุ้ง ในฐานะเมืองท่าสำคัญ และเตรียมที่จะเข้ายึดเมืองหลวงของราชอาณาจักรคองบอง คือ อังวะ จึงได้ทำการเรียกกองทัพที่อยู่แถบเบงกอลตะวันออกให้กลับมาตั้งรับการรุกรานย่างกุ้งแทน ซึ่งสุดท้ายแล้วได้กลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของราชอาณาจักรคองบองด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่ามาก
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ราชอาณาจักรคองบองขอยุติสงบศึกกับอังกฤษจากความสูญเสียจำนวนชีวิตกำลังทหารที่มหาศาลและเกียรติภูมิของชาติที่ได้สูญสิ้นไปจากการเกิดขึ้นของสนธิสัญญายันดาโบ ซึ่งมี 11 ข้อ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่การยุติการอ้างสิทธิ์ในดินแดนพิพาท การชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล การสูญเสียดินแดนอาระกันและตะนาวศรีแก่อังกฤษ รวมทั้งการเคารพราชอาณาจักรสยามในฐานะ “พันธมิตร” ของจักรวรรดิอังกฤษ ในสนธิสัญญาดังกล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าราชอาณาจักรสยามจะได้รับประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ จากข้อตกลงที่พม่าจะเลิกบุกสยามอย่างถาวร แต่ก็ไม่ได้ไว้วางใจอังกฤษมากนักและเลือกที่จะไม่ตอบรับเงื่อนไขของอังกฤษที่จะรับมอบดินแดนแถบตะนาวศรีจากอังกฤษ เพราะไม่มีความประสงค์ที่จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของอังกฤษแต่อย่างใดและเพื่อหลีกเลี่ยงภาระผูกพันและความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากกรณีของอังกฤษที่เริ่มมีความสนใจในการเข้ามามีอิทธิพลในคาบสมุทรมลายูมากขึ้น
และราชอาณาจักรสยามก็เลือกที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยตนเอง ซึ่งต่อมาดินแดนตะนาวศรีในฐานะทางผ่านที่พม่ามักใช้เพื่อบุกรุกสยามในช่วงก่อนหน้านี้ได้ถูกดูแลโดยอังกฤษอย่างถาวร และเป็นการปิดฉากความเรืองอำนาจของราชอาณาจักรคองบองอย่างแท้จริง
สุดท้ายนี้แม้ว่าราชอาณาจักรคองบองจะเคยมีอิทธิพลและอำนาจทำลายล้างมาก ถึงขนาดเคยทำลายราชอาณาจักรอยุธยาอย่างย่อยยับ และเคยทำลายความเกรียงไกรของกองทัพราชวงศ์ชิงของจักรวรรดิจีนอย่างเด็ดขาดจนต้องยกทัพกลับจีนก็ตาม
ทว่าด้วยความอหังการและมั่นใจในความสามารถของตนเองจนเป็นผู้ประกาศสงครามกับจักรวรรดิอังกฤษในพื้นที่แถบทะเลเบงกอลตะวันออก รวมทั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้านการทูต ที่เน้นการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาค และการทหาร ที่วางแผนการรบผิดพลาดร้ายแรง เมื่อเกิดสงครามจริงหลายครั้ง ได้ส่งผลทำให้ราชอาณาจักรคองบองต้องชดใช้ด้วยราคาที่แพงลิ่วและกลายเป็นอาณานิคมอังกฤษในเวลาต่อมา
ในขณะที่อังกฤษเอง ที่แม้ว่าจะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้แต่ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายในการสงครามที่มหาศาลเช่นกันและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในบริติชอินเดียและบริษัทอินเดียตะวันออกในเวลาต่อมา เช่น การย้ายเมืองหลวงของบริติชอินเดียจากโกลกาตาเป็นนิวเดลี การยุติการมีตัวตนของบริษัทอินเดียตะวันออกและโอนย้ายการดูแลบริติชอินเดียที่บริษัทอินเดียตะวันออกได้เคยครอบครองอยู่มาที่รัฐบาลอังกฤษโดยตรง การจัดการปัญหาความไม่สงบในอาณานิคมที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ฯลฯ
ดังนั้น สงครามครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ควรรู้จังหวะ ผ่อนหนักผ่อนเบา และประนีประนอมในสถานการณ์ที่จำเป็น ซึ่งสุดท้ายแล้วราชอาณาจักรสยามได้พิสูจน์ถึงการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และยั่งยืน ซึ่งได้ทำให้ประเทศชาติยังคงเป็นชาติเอกราชมาจนถึงปัจจุบันและเป็นที่จดจำของเวทีโลกในเรื่องการทูตต่อไป
อ้างอิง :
[1] ไทยช่วยอังกฤษรบพม่า สัมพันธไมตรีนี้มีปัญหา! ยกเมืองพม่าที่ตีได้ให้มา ไทยจึงขอไม่รับ!!
[2] Myanmar History 101: How Britain defeated Burma
[3] การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สี่)
[4] First Burma War
[5] Anglo-Burmese Relations – UPSC
[6] Treaty of Yandaboo