คลองขุด “ต้า-ยฺวิ่นเหอ” หรือ คลองใหญ่ (Grand Canal, 大运河) เป็นคลองขุดที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกของจีน มีความยาวทั้งสิ้น 1,776 กิโลเมตร เชื่อมโยงกรุงปักกิ่ง ผ่านเทียนจิน, เหอเป่ย, ชานตุง, เจียงซู, เจ้อเจียง จนจบที่หังโจว
โครงการขุดคลองสายนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิสุ่ยเวิ่นตี้ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์สุ่ย (หยางเจียน) และแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 609 ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิสุ่ยหยางตี้ (หยางกว่าง) และราชวงศ์ต่อ ๆ มามีการปรับปรุง บูรณะ ต่อขยาย จนกลายเป็นคลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความล้มเหลวในการบริหารราชการของสุ่ยหยางตี้ฮ่องเต้ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดเหตุการณ์ก่อกบฏภายในจักรวรรดิ ซึ่งคณะผู้ก่อการทั้งหลาย ล้วนแต่ปล่อยข่าวปลอมทำลายความน่าเชื่อถือของฮ่องเต้ จนกลายเป็นความเชื่อที่ฝังใจคนรุ่นหลังว่า “สุ่ยหยางตี้ หยางกว่าง สั่งให้ขุดคลองใหญ่ เพื่อการท่องเที่ยวส่วนพระองค์”
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ซีรีส์จีนฟอร์มยักษ์จาก ทีวีบี เรื่อง “ศึกลำน้ำเลือด” ที่ออกอากาศใน พ.ศ. 2530 มีนักแสดงนำมีชื่ออย่าง เหลียงเฉาเหว่ย, หลิวชิงหวิน และหวงเย่อหัว ซึ่งในเรื่อง มีการกล่าวพาดพิงโครงการคลองขุดนี้ว่า “สร้างมาเพื่อการท่องเที่ยวส่วนพระองค์ของสุ่ยหยางตี้” ด้วยเช่นกัน
นี่เป็นการบิดเบือนวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และคุณณูปการของโครงการคลองขุดสายนี้ ผ่านสงครามการข่าว (Media Warfare) จนเกิดการบิดเบือนการรับรู้ของสาธารณชนนับพันปีเลยทีเดียว
—
วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการขุดคลองมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนในยุคสมัยนั้น และความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีน
ในด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของราชวงศ์จิ้น ในการปกป้องอธิปไตยของชาติใน ค.ศ. 317 จนถูกชนเผ่าซ่งหนู เข้ายึดครองแผ่นดินจีนตอนเหนือ ซึ่งส่งผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือตอนเหนือที่ถูกชนเผ่าซ่งหนูยึดครอง และตอนใต้ที่ชนชาติฮั่นยึดครอง
ภายหลังจากที่แม่ทัพหยางกว่าง (ต่อมาคือฮ่องเต้สุ่ยหยางตี้) กรีธาทัพนำกำลังพลราชวงศ์สุ่ยเข้ากวาดพิชิตราชวงศ์ใต้ รวมจีนที่เคยแตกแยกมายาวนานกว่า 300 ปีได้สำเร็จ โครงการคลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอ คือโครงการเมกกะโปรเจคของราชวงศ์ เพื่อการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของจีนตอนเหนือและใต้ ที่เคยแยกกันให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ในปัจจุบัน คลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอยังคงทำหน้าที่เส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน จากกรุงปักกิ่งลงมาจนถึงหังโจว แตกสายซึมลึกเข้าไปจนถึงเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานอีกด้วย
ในส่วนของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีน นักการทหารจีนยุคโบราณ พบว่าพื้นที่คาบสมุทรเหลียวตง (ปัจจุบันคือมณฑลเหลียวหนิง) คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะเป็นภัยคุกคามต่อจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคต ซึ่งในเวลานั้นถูกปกครองโดยอาณาจักรโคกูรยอของเกาหลี
เส้นทางคลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอ ถูกวางแผนไว้ให้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงของกองทัพ เพื่อใช้ในการยึดครองคาบสมุทรเหลียวตง ซึ่งถึงแม้จะไม่สำเร็จในราชวงศ์สุ่ย แต่ในราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นราชวงศ์ถัดมา ก็ยังคงใช้เส้นทางคลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอในการลำเลียงยุทธปัจจัยทางทหารเพื่อการรุกรานโคกูรยอจนประสบผลสำเร็จในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง
สำหรับหลักฐานยืนยันข้อกังวลของนักยุทธศาสตร์ทางทหารของจีน คือชนเผ่าแมนจู ซึ่งเติบใหญ่จนสามารถเข้ายึดครองประเทศจีนจากชาวฮั่น ก่อตั้งราชวงศ์ชิงได้สำเร็จใน ค.ศ. 1644 หรืออีกพันปีถัดมา ก็มาจากพื้นที่คาบสมุทรเหลียวตง
นอกจากนี้ ความเข้าใจผิดอีกประการที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ราชวงศ์สุ่ยล้มละลายเพราะโครงการคลองขุดนั้น ใช้แรงงานคนจีนอย่างโหดร้ายทารุณจนประชาชนโกรธแค้น ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากหลังจากที่คลองขุดเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 609 สภาพเศรษฐกิจของจักรวรรดิต้าสุ่ยยังคงแข็งแรงดีอยู่ อีกทั้งยังมีกำลังมากเพียงพอที่จะเตรียมการในการเปิดสงครามรุกรานโคกูรยอในอีก 3 ปีให้หลัง
ความผิดพลาดที่แท้จริงของราชวงศ์สุ่ย เกิดจากความผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์ทางทหารของทัพสุ่ย ที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารสภาพภูมิประเทศของโคกูรยอ เพียงอาศัยว่ามีขนาดกองทัพที่ใหญ่กว่า ทำการรบด้วยความประมาท จนไพร่พลทหารต้องล้มตายในสงครามไปนับแสนนาย
ความล้มเหลวในการศึกครั้งนี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีความเชื่อมั่นในนโยบายการทหารของรัฐบาลต้าสุ่ย ไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะเข้าร่วมรบ บัณฑิตผู้หนึ่งนาม หวังป๋อ แต่งเพลง “ไม่ขอไปตายที่เหลียวตง” เพื่อปลุกใจให้ประชาชนหนีทัพ อีกทั้งขุนศึกหยางเสวียนกั่น ก่อกบฏตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงในระหว่างการรุกรานครั้งที่ 2 จนทำให้ทัพสุ่ยต้องถอนทัพกลับมาจากเหลียวตงเพื่อปราบกบฏ
ความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล และการพังทลายของโครงสร้างการปกครอง ทำให้ฮ่องเต้สุ่ยหยางตี้ อดีตวีรบุรุษผู้เคยปราบพิชิตราชวงศ์ใต้ รวบรวมแผ่นดินจีนจนเป็นปึกแผ่น พระทัยสลาย ไม่ออกว่าราชการ ไม่เผชิญหน้ากับปัญหา หลีกหนีความเป็นจริง จมอยู่กับความสุขหรรษาในวังหลวง จนสุดท้ายแผ่นดินที่เคยเป็นปึกแผ่น กลับแตกสลายลงอีกครั้ง และตัวพระองค์เองก็ถูกใส่ร้าย แม้หลังถูกปลงพระชนม์ไปแล้วนับพันปี
—
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปลายรัชกาลสุ่ยหยางตี้จะเลวร้ายเพียงใด ไม่ว่าพระองค์จะทรงถูกใส่ร้ายมากแค่ไหน แต่กาลเวลานับ 1,400 ปีกลับเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงความสำคัญของคลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอ ในฐานะเส้นเลือดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน สร้างความเจริญมั่งคั่งให้แก่จักรวรรดิมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของจีน
ในยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นเวลาปี 1 พันปีให้หลัง มีบันทึกว่าในแต่ละปี มีเรือสินค้าแล่นผ่านคลองขุดถึง 8,000 ลำต่อปี ขนส่งสินค้ามากถึงปีละ 240,000–360,000 ตัน
แม้ในปัจจุบัน ความสำคัญของคลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอในทางเศรษฐกิจของจีนจนลดน้อยลงไป จากการแทนที่ของระบบการขนส่งสมัยใหม่ไม่ว่าจะระบบทางพิเศษ, ระบบราง และรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่คลองขุดต้า-ยฺวิ่นเหอกลับมีบทบาทใหม่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจีนและของโลก ในฐานะคลองขุดที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวให้กับคนจีนในปัจจุบัน
ไม่ว่าจักรพรรดิสุ่ยหยางตี้ หยางกว่างในตอนท้ายจะทรงเหลวแหลกและล้มเหลวสักเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงที่ทรงเป็นวีรบุรุษผู้รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียวในรัชสมัยพระบิดาของพระองค์ อีกทั้งยังสานต่อโครงการคลองขุดของพระบิดา ยังผลประโยชน์ชั่วลูกหลานก็ยังคงเป็นข้อเท็จจริงที่ยังปรากฏจวบจนปัจจุบัน
หยางกว่าง มิได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด แต่สงครามข่าวสารและการบิดเบือดความจริง ทำให้พระองค์ดูเป็นคนโหดร้าย เลวทราม ต่ำช้าเกินกว่าข้อเท็จจริงในหน้าประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน
บทความโดย : กุญชร เชี่ยววารี