‘มีโจรจีนต้องไม่มีโจรแขก’ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่เคยเห็นดีเห็นงามกับขบวนการ ‘แบ่งแยกดินแดนภาคใต้’

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. เป็นศัตรูคู่แค้นที่สำคัญของรัฐไทยมากที่สุดในยุคสงครามเย็น เรียกได้ว่าในช่วงสงครามเย็นที่กินระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษนั้น ประเทศไทยได้ทำสงครามต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในฐานะ ‘ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์’ ส่วน พคท. ก็เรียกสงครามในครั้งนี้ว่า ‘สงครามประชาชน’

อย่างไรก็ดี หากเข้าใจว่าสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีศัตรูเพียง 1 เดียวคือ พคท. ความเข้าใจเช่นนี้นับไม่ถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้วในช่วงที่รัฐไทย [1] กำลังทำสงครามกับ พคท. นั้น รัฐบาลยังคงต้องรบกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ซึ่งได้ถ่อยร่นการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่จังหวัดทางใต้ของไทย โดยเฉพาะจังหวัดยะลาและสงขลา และในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลยังต้องทำสงครามกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนรัฐปัตตานี โดยเฉพาะกับกลุ่ม PULO และ BRN ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งในเวลานั้นขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้เข้มแข็งที่สุดคือ PULO (แต่ปัจจุบันกลุ่มที่ออกมาก่อเหตุความรุนแรงหลักคือ BRN) จึงกล่าวได้ว่าเพียงแค่สนามรบในทางใต้อย่างเดียว รัฐบาลไทยก็มีข้าศึกถึง 3 ฝ่ายเข้าประชิดด้วยกันแล้ว

ทั้งนี้ นับว่าเป็นการโชคดีอยู่ที่ฝ่ายตรงข้ามทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นหาได้ร่วมมือกันต่อสู้กับรัฐไทยโดยตรง มีเพียงการร่วมมือกันในการต่อสู้กับรัฐไทยบางครั้งระหว่าง พคท. และ พคม. โดยเฉพาะในพื้นที่สงขลา (สะบ้าย้อย) และเบตงในจังหวัดยะลา แต่ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ทั้ง 2 ฝ่ายข้างต้นหาได้เคยร่วมมือหรือสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนรัฐปัตตานี กลับกันเราจะเห็นต่อจากนี้ว่าเป็นฝ่ายของ พคท. เสียเองที่ตัดสินใจประกาศใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อช่วงชิงและตอบโต้แนวคิดการแบ่งแยกดินแดนของพวกชาตินิยมมลายู และสำหรับ พคม. นั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพวกเขา ‘เกลียด’ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาก จนกระทั่งมีคำที่กล่าวกันในพื้นที่ในปัจจุบันว่า ‘ที่ไหนมีโจรจีน ที่นั่นไม่มีโจรแขก’

นโยบายการต่อต้านแนวทางการแบ่งแยกดินแดนของ พคท. ที่ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2523  แม้ช่วงแรกจะมีความกังวลใจของฝ่ายรัฐว่าอาจจะมีความร่วมมือกันระหว่าง พคท. พคม. และ ขจก. (ขบวนการแบ่งแยกดินแดน) ในพื้นที่เขตบันนังสตา จังหวัดยะลา ภายใต้การบงการของ พคจ. (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) [2]

อย่างไรดี ข้อสันนิฐานนี้ในภายหลังได้รับการเปิดเผยแล้วว่าไม่เป็นความจริง แม้ในระยะก่อนปี พ.ศ. 2520 จะมีการร่วมมือกันระหว่าง พคท. และขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ อยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มของเปาะสู วาแมดีซา (BRN) อย่างไรก็ดีปฏิสัมพันธ์ในช่วงนี้เป็นไปอย่างผิวเผินและไม่สามารถนับเป็นความร่วมมือทางการทหารได้ [3] สาเหตุสำคัญที่ทำให้ พคท. ไม่สามารถร่วมมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ ได้ นั่นก็คืออุดมการณ์ขั้นมูลฐานที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ขณะที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเน้นหลักเอกราชและแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์กลับมีนโยบายทำให้การปฏิวัติมีลักษณะประชาชาติ [4] ไม่เน้นหลักของชาติพันธุ์ใดเป็นใหญ่ ดังแถลงการณ์ของพรรคที่ว่า ‘…ชนชาติต่าง ๆ แห่งประเทศไทยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน สนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีสิทธิในการใช้ภาษา หนังสือ รักษาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม คัดค้านการกดขี่เหยียดหยามระหว่างชนชาติ ในเขตที่ดินรวมของชนชาติให้ดำเนินการปกครองตนเองได้ โดยให้อยู่ภายใต้ครอบครัวใหญ่ของประเทศไทย…’ [5]

คำกล่าวนี้ สรุปไว้ชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ประสงค์จะให้กลุ่มชาติพันธุ์นายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แบ่งแยกดินแดนให้เป็นอิสระจากรัฐไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขตปกครองพิเศษเป็นสิ่งที่ พคท. ยอมรับได้ แต่จะมีความเป็นอิสระขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

น่าสนใจว่านโยบายรูปธรรมของการต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนของ พคท. นั่นก็คือการชิงก่อตั้งขบวนการกองทัพมุสลิมขึ้นมาเสียเอง แล้วนำอุดมการณ์ของการปฏิวัติประชาชาติมาใช้แทนการปลุกระดมเรื่องชาติพันธุ์ที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตพื้นที่ภูบรรทัดคนหนึ่ง ได้สะท้อนแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนอย่างชัดเจนว่า ‘…เราก็รักชาติและไม่ต้องการให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่เราไม่อาจต่อสู้กันเองได้ เพราะทั้ง พคท. และขบวนการนอกกฎหมายเหล่านี้ในเวลานั้นต่างมีศัตรูตัวเดียวกันคือรัฐไทย ดังนั้น บทบาทและภาระหน้าที่สำคัญของ พคท. ที่ปัตตานีก็คือ จะต้องทำแนวร่วมกับบรรดากลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้…’ [6]

ความเห็นข้างต้นสอดคล้องกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เขตงานภาคกลางคนหนึ่งที่เห็นว่า ไม่ว่าจะเหนือสุดแผ่นดินไทยจรดปลายข้ามขวานที่นราธิวาส พื้นที่เหล่านี้คือประเทศไทยที่คนไทยทุกคนล้วนเป็นเจ้าของแผ่นดินในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน [7]

ด้วยเหตุนี้ภายในปี พ.ศ. 2523 พคท. จึงมีมติจัดตั้ง ‘กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย’ (Tanterapembebasan Rakyat Muslim Thai) ที่เขตงานสงขลา อำเภอสะบ้าย้อย โดยมีกำลังพลประมาณ 2 กองร้อย นอกจากโครงสร้างอื่น ๆ จะคล้ายกับหน่วย พคท. ทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งความแตกต่างสำคัญคือกองทัพปลดแอกมุสลิมไทยใช้ภาษามลายูสำเนียงปัตตานี (ภาษานายู) เป็นภาษาหลักด้วย [8]

เจริญพงศ์ พรหมศร ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า พคท. ไม่ยอมใช้ ‘มลายูมุสลิม’ แทน ‘ไทยมุสลิม’ เหมือนที่ทางรัฐบาลไทยนิยมใช้ ซึ่งเมื่อผู้เขียนตรวจสอบเอกสารราชการในเวลาดังกล่าว พบว่าข้อสังเกตของเจริญพงศ์เป็นความจริง เพราะ ‘ไทยมุสลิม’ ที่ พคท.เลือกใช้เป็นคำเดียวกับที่ทางราชการไทยใช้เป็นคำทางการตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2521 เป็นต้นมาดังตัวอย่างคู่มือที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศในเวลาดังกล่าว [9] แม้จะมีหลักฐานว่า พคท. สนับสนุนอัตลักษณ์ของมลายู แต่คำเรียกอย่างเป็นทางการที่พวกเขาอนุญาต ก็คือคำว่า ‘ไทยมุสลิม’ เช่นเดียวกับรัฐไทย

ควรกล่าวด้วยว่าภายหลังการก่อตั้งของ ‘กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย’ ในพื้นที่สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาแล้ว พคท. ได้ประกาศมิให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใด ๆ ขยายเขตงานเข้ามาในพื้นที่สะบ้าย้อย-นาทวีอย่างเด็ดขาด เพราะ พคท. ถือว่าพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา นั่นก็คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่พวกเขาได้เข้ามาขยายเขตงานครั้งแรกก่อนกลุ่มอื่นมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ต้านญี่ปุ่น) และหลังจากจัดตั้ง ‘กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย’ ขึ้น พคท. ก็ไม่ได้เป็นมิตรกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกแล้วดังมีรายงานว่า ‘กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย’ เคยปะทะกำลังกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นบางครั้งด้วย [10]

อย่างไรก็ดี ภายหลังการก่อตั้งได้ไม่นานนักกระแสการปฏิวัติทั่วโลกของฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็อ่อนตัวลง ทั้งจากเงื่อนไขภายนอก (จีน-สหรัฐ-โซเวียต) และภายใน (ความขัดแย้งระหว่างสมาชิก พคท.) ทำให้ท้ายที่สุด พคท. ได้อ่อนกำลังมาก ส่งผลให้ ‘กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย’ ที่ก่อตั้งขึ้นนั้น ‘ฝ่อ’ ลงไปด้วย และภายหลังที่ ‘กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย’ ได้หมดบทบาทลง พื้นที่ 4 อำเภอสงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) สภาวะสุญญากาศดำรงอยู่ไม่นาน มินานนักก็มีตัวแสดงหน้าใหม่เคลื่อนตัวเข้ามา ‘อ้างสิทธิ์’ การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนอีกครั้ง ตัวแสดงแหล่านั้นก็คือ BRN ในฐานะขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่กองกำลังอาวุธถูก ‘นำเข้า/อพยพ’ มาจาก 3 จังหวัด ซึ่งปัจจุบัน BRN ได้ก่อกรรมทำเข็ญและเข่นฆ่าชีวิตคนใน 4 อำเภอของสงขลาไปเป็นจำนวนมาก จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์ทุกวันนี้ร้ายแรงเสียยิ่งกว่ายุค พคท. ครองเมืองเสียอีก !

พูดเป็นเล่นไป เวลานี้ญาติผู้ใหญ่ผู้เขียนท่านหนึ่ง เปรย ๆ กับผู้เขียนในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาว่า “คิดถึง ‘โจรจีน/โจรคอมฯ’ ขึ้นมาจริง ๆ เพราะถ้ามี ‘โจรจีน/โจรคอมฯ’ รับรองได้ว่าพวกแบ่งแยกดินแดนเป็นอันราบคาบ เพราะมันสู้คอมมิวนิสต์ไม่ได้ !!”

อ้างอิง :

[1] ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า ‘รัฐไทย’ หรือ ‘Thai State’ โดยขับเน้นความเป็นทางการของรัฐในฐานะตัวแสดงตัวหนึ่ง ๆ และคำนี้ไม่ได้มีนัยเป็นแง่ลบดังที่หลายคนมักเข้าใจผิด ๆ
[2] ตะวันใหม่. ปีที่ 3 ฉบับที่ 124. หน้า 14-15.
[3] เจริญพงศ์ พรหมศร. กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2556. หน้า 79-80.
[4] เจริญพงศ์ พรหมศร. กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2556. หน้า 75.
[5] เจริญพงศ์ พรหมศร. กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2556. หน้า 78.
[6] เจริญพงศ์ พรหมศร. กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2556. หน้า 76.
[7] วันลา วันวิไล. ตะวันตกที่ตะนาวศรี. หน้า 94.
[8] เจริญพงศ์ พรหมศร. กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2556. หน้า 73.
[9] กระทรวงการต่างประเทศ. ชาวไทยมุสลิม. (กรุงเทพ : กระทรวงการต่างประเทศ). 2521.
[10] เจริญพงศ์ พรหมศร. กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2556. หน้า 91.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า