![](https://www.luehistory.com/wp-content/uploads/2021/11/King-Rama-6_1300x680.jpg)
เมื่อชื่อของสยาม อยู่ระดับเดียวกันกับชาติยุโรป ด้วยพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 6
ในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่ประเทศสยามได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก ชื่อของสยามอยู่ในระดับเดียวกับประเทศในยุโรป ใครๆ ต่างให้เกียรติ โดยเฉพาะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวง ร.6 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศในอาเซียน ที่ชาติในยุโรปซึ่งมีสัมพันธไมตรีได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน ซึ่งในหลวง ร.6 ได้ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุส่วนพระองค์ว่า
“ที่มีงานเช่นนี้นับว่าอยู่ฃ้างจะหาญจัด เชื่อความสามารถของตนเองจัดอยู่ งานที่มีเจ้านายและทูตต่างประเทศมาช่วยพร้อมๆ กันเช่นนี้ ไม่ใช่แต่จะยังไม่เคยมีในกรุงสยาม ถึงในประเทศใดๆ ในภาคอาเซียนี้ก็ยังไม่เคยมี เมืองเราเป็นที่หนึ่ง”
นอกจากนี้ เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สยามได้รับการยอมรับในระดับเดียวกับชาติตะวันตก และสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.6 คือ การประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 – 2461)
โดยในช่วงต้นสงคราม ระหว่างที่สยามยังวางตัวเป็นกลาง ในปี พ.ศ. 2458 ในหลวง ร.6 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยภรรยาและบุตรของทหาร ในกรมทหารราบ เบา เดอรัม ประเทศอังกฤษ จากการที่พระองค์เคยทรงเข้ารับราชการในกรมทหารราบ เบา เดอรัม มาก่อน เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้ายอร์ชที่ 5 แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ มีโทรเลขอัญเชิญให้ในหลวง ร.6 รับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกบริเตน และให้ทรงเครื่องยศนายทหาร กรมทหารราบ เบา เดอรัม
นับว่าในหลวง ร.6 เป็นประมุขของชาติแรกในเอเชีย ที่ได้รับเกียรติจากประมุขของชาติตะวันตกในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีฐานะเท่าเทียมกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 สยามก็ได้ประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี พร้อมทั้งเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ โดยสยามได้ตัดสินใจเข้าร่วมรบกับฝรั่งเศสในสมรภูมิยุโรป เนื่องจากฝรั่งเศสเองมีความกระตือรือร้นกับการเข้าร่วมสงครามของสยาม และเสนอให้ทหารของสยามเข้าร่วมรบกับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในแนวหน้า
การตัดสินใจให้สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของในหลวง ร.6 ทำให้ประเทศเราได้รับประโยชน์มากมาย ทั้งในเรื่องทรัพย์สินที่ยึดได้จากสงคราม การพัฒนาด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ชาติตะวันตกได้ทำไว้กับสยาม
เมื่อสยามประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจกลางแล้ว รัฐบาลสยามได้ประกาศยึดทรัพย์ของชาติศัตรูที่เคยประจำการอยู่ในดินแดนสยาม ได้แก่ การยึดเรือสัญชาติเยอรมัน ได้ 25 ลำ ระวางขับน้ำรวม 26,882 ตัน และการยึดทรัพย์กิจการค้าสัญชาติเยอรมันในสยาม 21 บริษัท
สยามยึดเรือสินค้าเยอรมันในระหว่างสงคราม และให้อังกฤษเช่าเรือ 7 ลำ โดยให้ค่าเช่าตามระวาน้ำหนัก ตันละ 15 ชิลลิง (9 บาท 81 สตางค์) ต่อเดือน โดยมีระวางขับน้ำรวม 15,937 ตัน คิดเป็นเงิน 11,954 ปอนด์ 5 ชิลลิง หรือ 152,405.25 บาท แต่ตามราคาค่าเช่าเรือในระหว่างสงคราม มีราคาสูงถึง ตันละ 28 ดอลลาร์ (46.76 บาท) ซึ่งเมื่อเทียบแล้ว ทำให้สยามขาดรายได้ไปเดือนละ 591,281.41 บาท หรือปีละ 7,095,376.92 บาท แต่เงินในส่วนนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับสยาม ในหลวง ร.6 ยังทรงยกให้เป็นค่าช่วยเหลือการสงครามเสียด้วยซ้ำ ซึ่งพระองค์มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า
“เงินที่เราขาดไปปีละ 7 ล้านบาทเศษนี้ ครั้นจะว่ากล่าวเป็นการว่ากล่าวต่อรองดูก็จะไม่งดงาม และเราก็ยังไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย จึงควรยกค่าเช่าที่เราขาดไป รับให้เป็นส่วนช่วยเขาเสีย”
และจากการที่สยามมีฐานะเป็นชาติที่ชนะสงคราม ทำให้เยอรมันต้องชดใช้เงินค่าปฏิกรรมสงคราม จำนวน 2 ล้านบาท แก่สยาม โดยให้คิดจากทรัพย์สินและผลประโยชน์ของเยอรมันที่อยู่ในสยาม
ถ้าจะเปรียบเทียบค่าเงิน ก็ให้ลองเทียบด้วยราคาทองคำ 100 ปีที่แล้วราคาทองคำเฉลี่ยเปรียบเทียบคือ $20.67 หรือ 57.26 บาท (USD 1 : THB 2.77) วันนี้ราคาทองคำเฉลี่ยเปรียบเทียบคือ $860.86 หรือ 28,150.12 บาท (USD 1 : THB 32.7) รวมความแตกต่าง 491.62 เท่า
ดังนั้นตามสูตรนี้ 1,000 บาท ในสมัย 100 ปีก่อน ก็ตกอยู่ที่ 491,620 บาท ในปัจจุบัน
ในส่วนของกำลังพลที่ส่งเข้าไปร่วมรบในยุโรป กองทัพบกสยาม ได้จัดกำลังพล โดยส่งกองบินทหารบก 3 กองบินใหญ่ คือ กองขับไล่ กองลาดตระเวน และกองทิ้งระเบิด กำลังพลประมาณ 400 นาย และกองทหารบกรถยนต์ 8 กองย่อย กำลังพลประมาณ 850 นาย ไปช่วยฝรั่งเศสจนจบสงคราม ทำให้มีทหารไทยสำเร็จวิชาการบิน 95 คน สำเร็จช่างเครื่อง 225 คน และเรายังได้ซื้อเครื่องบินกว่า 20 ลำ พร้อมอะไหล่จำนวนหนึ่งกลับมาอีกด้วย
และต่อมากองบินทหารบกกลุ่มนี้ ก็ได้กลายเป็นแกนหลักในการก่อตั้งกองทัพอากาศไทยในเวลาต่อมา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กิจการบินของกองทัพไทยพัฒนารวดเร็วมาก จากการเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2456 ตามหลังฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งกิจการทหารอากาศเพียง 4 ปี และจากการร่วมรบกับฝรั่งเศส ทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพไทยมีนักบินในกองทัพ มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีช่างเครื่องยนต์มาก จนถึงขั้นเราสามารถต่อประกอบเครื่องบินรบในประเทศเองได้
ผลประโยชน์สำคัญที่สุด ที่สยามได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 คือการได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ ในฐานะสมาชิกก่อตั้ง และการแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ประเทศไทยในฐานะฝ่ายชนะสงคราม ได้แต่งตั้งและมอบหมายให้พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ และพระยาพิพัฒนโกษา เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลให้สยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ ในฐานะชาติร่วมก่อตั้ง
ทำให้บรรดาชาติต่างๆ ที่มีสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับสยาม ยอมรับและแก้ไขสนธิสัญญาทุกประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม นอร์เวย์ (ส่วนเยอรมันตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ทำให้สนธิสัญญาไม่เสมอภาคสิ้นสุดโดยปริยาย)
การดำเนินการแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีศุลกากร ได้สำเร็จลุล่วงในระหว่างปลายรัชกาลที่ 6 และต้นรัชกาลที่ 7 ทำให้ให้ประเทศไทยได้เอกราชสมบูรณ์ทั้งในทางศาลและทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากการนำความเป็นตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับความเป็นไทย จนทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว การนำพาประเทศผ่านวิกฤติสงครามโลกครั้งที่ 1 จนทำให้สยามได้รับผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.6 ในการยกระดับของสยามให้เท่าเทียมกับอารยประเทศในยุโรป
อ้างอิง :
[1] กจช. เอกสารรัชกาลที่ 6 แฟ้ม 223 หมายเลข 1/223 สยามประกาศสงครามและราโชบายคิดระบายชนชาติศัตรูออกจากราชการ(ปึก 2) “รายงานการประชุมคณะเสนาบดี วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2560 เรื่องสัมพันธมิตรขอเช่าเรือเชลย”
[2] เอกสารเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 แฟ้ม 117 หมายเลข 2/117 แบ่งเงินค่าทดแทนปฏิกัมภ์สองล้านบาท และสำนักงานไทยขอหักบำเหน็จ “ลายพระหัตถ์พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ ถึงหลวงพิรัชพิศดาร ผู้รักษาราชการสถานทูตไทยในฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2468
[3] กจช. เอกสารรัชกาลที่ 6 แฟ้ม 54 หมายเลข 16/54 เรื่องประชุมทำสัญญาสันติสมาคม สันติภาพ และเรื่องสันนิบาตชาติ(ปึก 1) “ลายพระหัตถ์กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถถึงพระยาบุรีนวราษฐ เรื่องให้พระองค์เจ้าจรูญเป็นผู้แทนรัฐบาลในการเจรจาสงบศึก ฉบับลงวันที่ 8/8/2461
[3] กองทัพอากาศ, หนังสือที่ระลึกกองทัพอากาศครบรอบ 60 ปี 27 มีนาคม 2518 (กรุงเทพ: โรงพิมพ์สารบรรณทหารอากาศ, 2508)
[4] ม.ล.มานิจ ชุมสาย, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1 (กรุงเทพ: โรงพิมพ์เจริฐกิจ, 2523)