“เพื่อประโยชน์สุขที่สูงที่สุด แด่คนจำนวนมากที่สุด” เหตุผลเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ไทยจึงดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน

ย้อนกลับไปในยุคสงครามโลก วินส์ตัน เชอร์ชิล ได้กล่าวถึงสภาวะทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นว่าเกิดการ “ล้างบางพระมหากษัตริย์” อย่างที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในยุโรปจะเกิดกระแสการหมุนกลับสู่เกียรติยศแห่งพระมหากษัตริย์เพราะว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น จะอย่างไรก็ดีกว่าไม่มี” [1] นั่นก็เพราะว่าไม่มีสถาบันทางการเมืองใดๆ ที่ยังผลประโยชน์ได้ดีเท่าสถาบันพระมหากษัตริย์ [2] ผลประโยชน์ในที่นี้ก็คือ “ความคุ้มค่า” ของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ดีกว่าเพียงใดเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนไปในระบอบอื่นๆ หรือเปลี่ยนวิธีในการปกครอง

การดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์เราจึงอาจวิเคราะห์ผ่านเหตุผลเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ได้ และอาจจะเป็นคำตอบได้ด้วยว่า ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงดำรงอยู่อย่างยาวนาน และได้รับความเคารพอย่างสูงสุดโดยสังคม

การวิเคราะห์ถึงพระมหากษัตริย์โดยตั้งต้นด้วยเหตุผลเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์นั้น เป็นจุดที่ดีที่สุดที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ นั่นก็เพราะว่าในยุคปัจจุบันเรามักเห็นการกล่าวในทำนองว่า “เสียภาษีไปให้ใช้” (ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งหมด) หรือมองในเชิงว่า ไม่มีความจำเป็นอีกแล้วเพราะมีสถาบันการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่บริหารแทน การคิดเช่นนี้ก็ดูมีเหตุผลมาก เพราะอะไรที่ดูไม่จำเป็นก็ต้องเอาออกไป แต่ทั้งนี้การประเมินเช่นนั้นเป็นการประเมินส่วนบุคคลโดยที่ไม่ได้มองถึงภาพรวมของสังคม ความมีเหตุผลของปัจเจกจึงเป็นคนละประเด็นกับความมีเหตุผลของสังคม เพราะสังคมคือที่รวมของปัจเจกที่มีเหตุผลและตกลงร่วมกันว่าจะคงสิ่งใดไว้ ไม่ใช่ให้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตัดสิน

เราอาจมองพระมหากษัตริย์จากแนวคิดประโยชน์สุขนิยมที่มีหลักการอยู่ว่าการกระทำใดๆ ก็ตามในระดับสังคมจะต้องเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์สุขที่สูงที่สุด แด่คนจำนวนมากที่สุด” ซึ่งหลักการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำทางพระมหากษัตริย์ในยุคใหม่ ที่ความเข้มข้นทางการเมืองนั้นสูงยิ่ง และระบอบแบบสาธารณรัฐนั้นมักกลายเป็นตัวเลือกเมื่อประชาชนต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แนวคิดประโยชน์สุขนิยมนั้น ถูกคิดและต่อยอดโดยนักปรัชญาชาวอังกฤษที่ชื่อว่า Jeremy Bentham และ John Stuart Mill พวกเขาเสนอว่า การจะตัดสินว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่นั้น จะต้องชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ว่าสิ่งนั้นนำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ดังนั้นการกระทำใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายจะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า กฎหมายนั้นได้สร้างความสุขให้แก่คนจำนวนมากที่สุดได้หรือไม่ และความสุขนี้ไม่ใช่ความสุขแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นความสุขที่ส่งเสริมเกียรติของมนุษย์ ความสุขใดๆ ที่ส่งเสริมเกียรติของมนุษย์จึงเป็นความสุขที่ดีที่สุด [3]

ในอีกแง่หนึ่ง ประโยชน์สุขนิยมถือเป็นความพยายามทำให้สังคมได้ประโยชน์และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยให้มีความขัดแย้งระหว่างปัจเจกและสังคมให้น้อยที่สุด ผ่านหลักการที่สามารถบังคับใช้ได้จริง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแต่เรื่องวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นแล้วสถาบันใดๆ ก็ตามที่สามารถนำหลักการนี้ไปปฏิบัติได้ดี ย่อมแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่สถาบันนั้นก่อขึ้นต่อสังคม และยิ่งทำมากก็ยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์มาก ส่งผลให้สถาบันนั้นไม่คุ้มค่าที่จะทำลายหรือกำจัดออกไปตามหลักการเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าIncreasing returns

เมื่อพิจารณาว่าตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น หลักในการปกครองของพระมหากษัตริย์จะเข้าหลักการนี้เสมอ และสามารถทำได้อย่างสะดวกด้วย เนื่องจากว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจ

แต่ความน่าสนใจจริงๆ นั้นอยู่ที่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะว่าโครงสร้างในการบริหารประเทศนั้นเป็นคนละแบบแล้ว คำถามจึงมีอยู่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปรับตัวอย่างไรในวันที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม

หลักการเพื่อประโยชน์สุขที่สูงที่สุด แด่คนจำนวนมากที่สุดนั้นยังคงมีอยู่ โดยเราจะเห็นได้ชัดเจนจากพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แต่ทั้งนี้แม้จะมีหลักการ แต่การปฏิบัตินั้นคือสิ่งที่ท้าทาย เพราะในขณะนั้นประเทศไทยนอกจากเรื่องระบอบใหม่ที่ไม่ลงตัวแล้ว ยังมีความขัดแย้งของนักการเมืองและภัยระหว่างประเทศเข้ามาด้วย ดังนั้นหากมองในมุมนี้ รัฐสภาจึงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่จนทำให้ระบอบการปกครองใหม่นั้นไม่มีแม้กระทั่งดุลยภาพที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย (optimal equilibrium) และการรัฐประหารหลายครั้งย่อมเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด

มองในแง่นี้แล้ว ความสามารถใช้งานได้และความมีประโยชน์ (functionality) ของระบอบใหม่จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่ในขณะเดียวกันประชาชนยังต้องการสิ่งที่จะทำให้พวกเขามีความสุขและมีเกียรติด้วย เพราะปัญหาต่างๆ จากทางรัฐทั้งความขัดแย้ง และความขาดแคลนที่เกิดขึ้นนั้น คือการมองข้ามเกียรติของประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย

ในขณะนั้นที่การเมืองกำลังปะทุ ภารกิจเชิงสังคมที่ส่งเสริมเกียรติของประชาชนกลับเกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ นั่นก็คือเมื่อ พ.ศ. 2493 ที่วัณโรคระบาดอย่างหนักและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุขว่า “คุณหลวง วัณโรคสมัยนี้มียารักษากันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการฉันจะหาให้อีก ฉันอยากเห็นกิจการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ” [4] ภารกิจแรกของประโยชน์สุขที่สูงที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดจึงได้เริ่มขึ้น

หลังจากนั้นมาโครงการโดยรัชกาลที่ 9 ได้แตกออกอีกเป็นหลายโครงการ โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่ความจนของคนในประเทศกลายเป็นเชื้อไฟได้อย่างดีสำหรับการปลุกระดมเพื่อล้มล้างประเทศทั้งประเทศในขณะนั้น แต่ในขณะเดียวกันรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“เราไม่ได้ต่อสู้กับประชาชน เราต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย เราปรารถนาให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าประชาชนเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้น พวกฝ่ายที่ท่านเรียกว่าคอมมิวนิสต์ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ทุกๆ คนต่างก็จะมีความสุขทั้งหมด” [5]

พระราชดำรัสข้างต้นนั้นยิ่งตอกย้ำไปอีกว่า หลักการของประโยชน์สุขที่สูงที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดนั้น มิเคยเสื่อมคลายตลอดการครองราชย์ของพระองค์

นับจากนั้นมาโครงการของพระองค์จึงเกิดขึ้นนับร้อยนับพันโครงการ สาเหตุที่พระองค์ทรงกระทำสิ่งต่างๆ นี้ก็เพราะหลักการที่พระองค์ยึดถือมาตั้งแต่ทรงครองราชย์ช่วงแรกๆ และไม่เคยเปลี่ยน เนื่องจากว่าระบอบใหม่ในขณะนั้นแทบไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้เลย เมื่อพระองค์ทรงทำมากขึ้นและด้วยความจริงใจ พระองค์จึงได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สร้างผลตอบแทนแก่สังคมได้มากกว่ารัฐบาล ทำให้การมีพระมหากษัตริย์นั้นคุ้มค่ามากกว่าการเปลี่ยนเป็นระบอบอื่น เพราะเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า ระบอบอื่นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์จะสร้างความคุ้มค่าให้เกิดขึ้นแบบที่รัชกาลที่ 9 ทรงทำได้หรือไม่ และสังคมใหม่จะเกิดดุลยภาพที่ดีที่สุดได้หรือไม่

รัชกาลที่ 10 ทรงตระหนักดีว่าการเสริมเกียรติของประชาชนคือหลักการที่พระองค์ต้องสานต่อ ดังพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และหลักการประโยชน์สุขที่สูงที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดก็ได้ปฏิบัติออกมาผ่านการบริจาคอย่างกว้างไกลและเป็นจำนวนมาก เช่น การพระราชทานทรัพย์กว่า 2 พันล้านบาทแก่โรงพยาบาลและเรือนจำทั่วประเทศ [6] รวมถึงการพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ แก่สถานสงเคราะห์ต่างๆ อีกหลายแห่งมากกว่าสิบครั้ง

ความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ยังไม่ได้รวมถึงคุณค่าในเชิงนามธรรมอันเป็นรากแก้วสำหรับสังคมไทย ก็มากเกินผลประโยชน์ที่คาดหวังจากระบอบสาธารณรัฐหลายเท่าตัวแล้ว แม้จะมีความท้าทายเกิดขึ้นมาเป็นระยะ แต่ความท้าทายนั้นก็จะจบลงทุกครั้งไป เพราะหลักการประโยชน์สุขที่สูงที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดโดยสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ คือสิ่งที่ยากยิ่งที่จะมีสิ่งใดมาทดแทนได้

อ้างอิง :

[1] David Cannadine, In Churchill’s Shadow: Confronting the Past in Modern Britain (London: Oxford University Press, 2002), pp. 45-84 and The Collected Essays of Sir Winston Churchill, vol. 4 (London 1976), pp. 268–272.
[2] The Collected Essays of Sir Winston Churchill, vol. 4 (London 1976), pp. 372-373.
[3] John Stuart Mill, Utilitarianism (1863), chapter 2.
[4] วิทยา จารุพูนผล, “พระเจ้าอยู่หัวกับการแพทย์ไทย,” วารสารแพทย์เขต 7 ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2531): 71.
[5] พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบผู้สื่อข่าวต่างประเทศในสารคดี Soul of a Nation.
[6] ข่าว “ร.10 พระราชทาน 2.8 พันล้าน จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ ยอดบริจาคคล้ายปี 2560-2563” จากประชาไท.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า